จับตาท่าทีเฟดต่อมุมมองอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครึ่งปีหลัง

13 มิ.ย. 2559 | 07:46 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง “ประชุมเฟด 14-15 มิ.ย. 2559 ... จับตาท่าทีเฟดต่อมุมมองอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครึ่งปีหลัง”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.25-0.50% ตามเดิม ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) รอบที่สี่ของปี 2559 วันที่ 14-15 มิ.ย. 2559 เพื่อรอประเมินสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ อีกครั้ง (หลังจากที่ข้อมูลการจ้างงานเดือนพ.ค. ออกมาต่ำกว่าที่คาด) และเฟดน่าจะรอให้ผ่านพ้นช่วงเวลาการลงประชามติของอังกฤษเรื่องการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (BREXIT) ในวันที่ 23 มิ.ย. นี้ ไปก่อน

สำหรับผลต่อไทยนั้น มองว่า การชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในรอบนี้ คงช่วยลดทอนผลกระทบจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน และช่วยจำกัดกรอบการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย และเอื้อให้ต้นทุนการระดมทุนของภาคธุรกิจยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ

ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ เดือนพ.ค. 2559 ที่อ่อนแอ น่าจะส่งผลทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เพิ่มความระมัดระวังในการเลือกจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้น (แม้ว่าในช่วงก่อนหน้านี้ จะมีเจ้าหน้าที่เฟดหลายท่าน รวมถึงประธานเฟด ได้ออกมาสัญญาณถึงความพร้อมที่เฟดจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้าก็ตาม) ทั้งนี้ ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในเดือนพ.ค. 2559 ที่น่าผิดหวัง ได้ลดทอนโอกาสของการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบใกล้ๆ นี้ ลงไปค่อนข้างมาก โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 38,000 ตำแหน่ง (เป็นตัวเลขการจ้างงานรายเดือนที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีครึ่ง) ขณะที่ ข้อมูลการจ้างงานในเดือนมี.ค. และ เม.ย. ที่ถูกทบทวนลงเป็นจำนวนถึง 59,000 ตำแหน่ง ทำให้ค่าเฉลี่ยของตัวเลขการจ้างงานในรอบ 3 เดือนล่าสุด ลดลงมาอยู่ที่ 116,000 ตำแหน่งต่อเดือน ซึ่งเป็นโมเมนตัมการฟื้นตัวของตลาดแรงงานที่ชะลอลงจากที่เคยทำได้ประมาณ 200,000 ต่อเดือนในช่วงหลายเดือนก่อน นอกจากนี้ อัตราการว่างงานที่ลดลงแตะต่ำสุดในรอบ 8 ปีครึ่งที่ 4.7% ก็ไม่ได้สะท้อนว่ามีการจ้างงานเพิ่มขึ้น หากแต่เป็นเพราะประชาชนอเมริกันเลิกหางานทำ ซึ่งตามนิยามอัตราการว่างงานจะไม่นับรวมคนกลุ่มนี้เข้าไว้ในกำลังแรงงาน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ด้วยภาพตลาดแรงงานที่เริ่มชะลอลง อาจจะส่งผลให้เฟดเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25-0.50% ไว้ตามเดิม และรอติดตามสถานการณ์ตลาดแรงงานของสหรัฐฯ อีกระยะ เพื่อให้แน่ใจว่าการชะลอลงของโมเมนตัมการจ้างงานเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว ก่อนที่จะส่งสัญญาณถึงจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไป

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในการประชุมเฟดครั้งนี้ น่าจะอยู่ที่การเปิดเผยตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจ และมุมมองคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเจ้าหน้าที่เฟด โดยตลาดน่าจะมุ่งความสนใจไปที่แถลงการณ์หลังการประชุมของประธานเฟด ข้อมูลประมาณการเศรษฐกิจ  และแผนภาพ Dot plot ชุดใหม่ ซึ่งคาดว่า เฟดน่าจะมีการปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลง ท่ามกลางความเสี่ยงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สามารถทรงตัวเหนือระดับ 50 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลได้ อาจทำให้เฟดยังคงต้องติดตามแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อ (ที่แม้จะยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็มีโอกาสปรับสูงขึ้นในระยะข้างหน้า เข้าใกล้ระดับเป้าหมายของเฟดในกรอบเวลาที่อาจจะเร็วขึ้นกว่าที่เฟดเคยมองไว้ในการประเมินครั้งก่อน) และเฟดยังจำเป็นต้องส่งสัญญาณเตรียมขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป แม้ว่าจำนวนครั้งของการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้จะลดน้อยลงก็ตาม

สำหรับในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมีมุมมองว่า เฟดน่าจะสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อย่างน้อย  1 ครั้งในปีนี้ หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้เผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่มีนัยสำคัญ อาทิ การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร ซึ่งกำลังจะมีการลงประชามติในวันที่ 23 มิ.ย. นี้ และ/หรือการชะลอตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ดี การเลือกจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่ระมัดระวังมากขึ้น คงจะช่วยลดทอนผลกระทบจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน ซึ่งเป็นความเสี่ยงของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งไทย ลง นอกจากนี้ การที่เฟดเลื่อนระยะเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไป น่าจะช่วยให้สภาวะการเงินทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับที่ผ่อนคลาย ซึ่งจะช่วยให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย และต้นทุนการระดมทุนของภาคธุรกิจ ยังคงมีช่วงขาขึ้นที่ค่อนข้างจำกัดด้วยเช่นกัน