มา Startup กันที่นี่เลย l โอฬาร สุขเกษม

14 มิ.ย. 2559 | 04:20 น.
ผมเคยพูดเรื่องธุรกิจ Startup ผ่านคอลัมน์ ดับเบิ้ลสแตนดาร์ทใน หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจไปแล้ว โดยบอกว่า ธุรกิจนี้เกิดมาในไทยเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว และขณะนี้รัฐบาลก็ทุ่มเทความพยายามที่จะให้ประชาชนโดยทั่วไปเข้าถึง โดยเฉพาะกลุ่มที่ดำเนินธุรกิจอยู่หรือต้องการธุรกิจใหม่ ซึ่งงานนี้ดำเนินการไปพร้อมๆ กับโครงการ “Thailand 4.0”  คือ การพลิกวงการเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ยุคใหม่ ยุคที่ใช้เทคโนโลยีในการร่วมปฏิวัติอุตสาหกรรมการผลิต พลิกแวดวงการเงินการธนาคาร พลิกทุกเรื่องราวโดยมีเทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อน

ทุกวันนี้โลกกำลังพัฒนาไปไกลมาก โดยมีพื้นฐานจากการพัฒนาคอมพิวเตอร์ พัฒนาการสื่อสารโทรคมนาคม โดยทำให้การสื่อสารเป็นไปอย่างง่ายและรวดเร็ว มั่นใจ เชื่อถือได้ ต่อไปการซื้อขายไม่ต้องใช้เงินสดหรือใช้เงินสดน้อยลง อาศัยสมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือสำคัญ ใช้โทรศัพท์สั่งซื้อสินค้าได้ หรือชำระค่าสินค้าได้ ดังที่เราเห็นเรื่องราวนี้พัฒนามานับสิบปีแล้วที่ประเทศญี่ปุ่น และกำลังแพร่ขยายวงกว้างในประเทศจีน ส่วนไทยก็กำลังอยู่ในช่วงเริ่มขึ้น เริ่มจ่ายบิลค่าน้ำค่าไฟได้ จ่ายค่าเบี้ยประกัน  ต่อไปจะสามารถทำได้ทุกอย่าง ตั้งแต่กู้ยืมเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงการใช้หนี้จ่ายผ่านโทรศัพท์มือถือ

ปัจจุบันเราได้เห็นธนาคารพาณิชย์ในไทยพูดถึงการใช้ Fintech หรือ Financial Technology หรือ บางคนก็เรียกว่า Mobile Banking ในการให้บริการแก่ลูกค้า ซึ่งหมายความว่าต่อไปความจำเป็นในการตั้งสำนักงานสาขาต่างๆ จะน้อยลง การจ้างคนก็จะลดลงไปด้วย

เรื่องราวเหล่านี้ก่อตัวในไทยมานานพอสมควรแล้ว แต่น้อยคนจะเคยใช้หรือจะเข้าในการเปลี่ยนแปลง เพราะส่วนใหญ่ยังคงจมปลักอยู่กับ “โลกเก่า-วิธีแบบเก่าๆ” ในขณะที่วัยรุ่นทั่วไปรู้จักกับสิ่งใหม่ดี เพราะคนรุ่นใหม่มีความใกล้ชิดกับเทคโนโลยีใหม่ๆ มากกว่า

การที่ระบบสื่อสารโทรคมนาคมมีความ “เสถียร” การเชื่อมโยงถึงกัน “ไว้ใจได้” ทำให้นักประดิษฐ์หลังแป้นคีย์บอร์ด ผลิตผลงานออกมามาย เรียกว่า “แอพพลิเคชั่น” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “แอพ” พร้อมกับทั้งระบบที่เกี่ยวข้องเสถียรมากขึ้น ทำให้โลกเปลี่ยนไปได้ดั่งใจ ทุกวันนี้เราจะเห็น “แอพ” มากมายและมีหลายจุดมุ่งหมาย ทุกธุรกิจที่ต้องการก้าวให้ทันก็จ้างโปรแกรมเมอร์ผลิตแอพให้ หรือไม่ก็มีคนทำแอพกลางขึ้นมาแล้วให้คนอื่นร่วมใช้ อย่าง “ฐานเศรษฐกิจ” ก็มีแอพเช่นกัน ใช้ผ่านแอพ “อุ๊คบี” หรือ “อี-บุ๊คส์”  นั่นเอง ปัจจุบันมีทั้งแอพดูหนัง แอพฟังเพลง สารพัด แต่เชื่อไหม ทุกวันนี้ยังมีอีกหลายแอพที่ยังไม่มีใครทำ ใครที่คิดทำแอพที่ยังไม่มีอยู่ในไทยได้ คนนั้นก็มีโอกาส “Startup” หรือทำ “ธุรกิจเทคโนโลยีช่วงตั้งต้น” ได้

โดยทั่วไปแล้วโปรแกรมเมอร์ในไทยเท่าที่ผมเคยรู้จัก มักจะเป็นคนที่ชอบสันโดษ เป็นนักคิดและนักฝัน วันๆ ก็เขียนโปรแกรม เข้าร่วมพัฒนาในโลกไซเบอร์เมื่อเขาเปิดโอกาสให้ร่วมพัฒนา ช่วยเข้าคิด ช่วยเขาแก้ไขในส่วนที่บกพร่องทั้งๆ ที่อยู่กันคนละซีกโลก แต่ก็เห็นไม่กี่คนที่จะมั่นคงและทำธุรกิจด้วยตนเองได้

ผมก็เคยแม้กระทั่งพาโปรแกรมเมอร์ไปพบกับ Venture Capital นำผลงานไปเสนอเพื่อขอทุน แต่ก็ไม่ได้ทุนเพราะผู้ประกอบการแม้จะประกาศว่ามีนโยบายที่จะให้ทุนแบบ Venture Capital แต่ก็ขาดวิสัยทัศน์ เพราะนักลงทุนในไทยเป็นนักลงทุนแบบ “คนหัวเก่า” คือ ไม่กล้าเสี่ยงกับสิ่งที่เห็น

เรื่องแบบนี้เราพบเห็นได้ทั่วไปและนานมาแล้วด้วย ตั้งแต่สหภาพโซเวียตยังเป็นประเทศใหญ่และผู้นำได้ประกาศนโยบายเปเรสตรอยก้าออกมา เวียดนามก็ประกาศนโยบายโด๋ยเหม่ยออกมา จีนก็ประกาศเปิดประเทศ เรามองเห็นลู่ทางการค้าการลงทุนชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอินโดจีน คือ เวียดนาม ลาวและกัมพูชา เราลงพื้นที่เหล่านี้บ่อยครั้งในสมัยนั้น เพื่อเปิดเผยแง่มุมต่างๆ ทางด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจ แต่จนแล้วจนรอด ผ่านไป 10 ปี นักลงทุนไทยมีเพียงแค่หยิบมือเดียวที่ไปลงทุนทำจริงๆ  แต่ประเทศสิงคโปร์ครองความเป็นเจ้าด้านการค้าการลงทุนในประเทศเหล่านั้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ “นักลงทุนไทยมีความขลาดกลัว” มากกว่า

ทั้งนี้อาจเป็นเพราะบนพื้นฐานของนักการเงินการธนาคาร พ่อค้านักธุรกิจไทย เป็นพวกร่ำรวยมาจาก “เสื่อผืนหมอนใบ” ที่สร้างตัวเองจนร่ำรวย แต่ขาดความรู้ ขาดวิสัยทัศน์ ขาดความมั่นใจที่จะทำธุรกิจในต่างประเทศ แต่สิงคโปร์แม้พื้นฐานเขาจะมากจาก “เสื่อผืนหมอนใบ” เช่นกัน แต่เขามีประสบการณ์กับต่างประเทศมากกว่า เพราะเกาะสิงคโปร์เป็นเขตท่าเรือเสรีไม่มีการเรียกเก็บภาษี ทำให้ธุรกิจของคนสิงคโปร์เติบโตมากับต่างชาติมาก่อน และมีประสบการณ์มากกว่านักลงทุนในไทยนั่นเอง

ผมเคยเขียนบอกไปแล้วในคอลัมน์ดับเบิ้ลสแตนดาร์ทใน หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ว่า คุณสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจใหม่ด้วยวิธีการ“จับเสือมือเปล่า” ได้แล้ว ถ้าคุณเป็นนักผลิตแอพมีฝีมือ ทำแอพขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นแอพที่มีอยู่แล้วแต่เขายังไม่ดีพอ หรือจะทำเป็นแอพใหม่ก็ได้ แต่คุณต้องมีนักวิเคราะห์โปรแกรมของคุณด้วย ซึ่งปรกติแล้วคนเป็นโปรแกรมเมอร์มักจะคิดเองและทำเอง มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก มักไม่ฟังใคร เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะประสบความสำเร็จจึงยากอยู่ และหากคุณไม่มีคู่หูหรือทีมงานที่พร้อมจะทุ่มเทร่วมทำกับคุณคุณก็จะไปไม่รอด

คุณอาจจะทำธุรกิจ Startupได้ แต่คุณจะเป็น Startup ที่ประสบความสำเร็จไม่ได้ หากสิ่งทีคุณทำไม่สามารถระดมเงินทุนได้ เพราะธุรกิจ Startup หมายถึง ธุรกิจเทคโนโลยีช่วงตั้งต้นและประสบความสำเร็จในการระดมทุนได้อย่างรวดเร็ว เพราะจะต้องเติบโตแบบก้าวกระโดด ถ้าไม่เติบโตแบบนี้เขาไม่ถือว่าเป็น Startup ของแท้

การมองหาทุนทำธุรกิจนี้ทั้งรัฐบาลและเอกชนบอกว่าพร้อมจะให้การสนับสนุนแล้ว แต่จะให้ทุนหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่คุณทำออกมาแล้วเขาเชื่อว่ามันจะทำเงินให้หรือไม่ ส่วนการหาทุนจาก Angel Capital นั้นสำหรับประเทศไทยแล้วผมบอกว่ายากครับ ที่ใครสักคนหนึ่งต่อให้ร่ำรวยแค่ไหนก็ตาม ยากที่จะจะควักทุนให้คนที่ไม่รู้จักเอาไป “ละเลง” เพราะคนเหล่านี้ผมเชื่อว่ายังจมปลักอยู่กับโลกเก่าไม่เปลี่ยนแปลง

ในประเทศยุโรปตอนนี้มีแอพที่กำลังเป็นที่นิยมพอสมควร คือ แอพสำหรับคนเดินทาง และแอพสำหรับคนต้องการหาที่พัก คุณจะเดินทางขับรถส่วนตัวไปเชียงใหม่แต่คุณจะไปแค่ 2 คน มีที่นั่งเหลือ 2-4 ที่นั่ง คุณแจ้งการเดินทางไปที่แอพ บอกวันเวลาเส้นทางเดินทางผ่านและบอกจุดเริ่มต้นและจุดหมายไป ต้องการผู้ร่วมทางที่ยอมจ่ายค่าร่วมเดินทางด้วยเงินเล็กน้อย จากนั้นคุณก็อาจได้รับการติดต่อจากคนอื่นที่ดูแอพเดียวกัน นัดเวลาแวะรับ พร้อมจ่ายเงินค่าเดินทางผ่านระบบมือถือ เท่านี้ก็ได้เงินช่วยค่าน้ำมันรถแล้ว หรือคุณมีคอนโดมิเนียมอยู่ติดรถไฟฟ้าหรือใกล้สถานีรถไฟฟ้า ต้องการรับคนเดินทางร่วมพักอาศัย หรือให้เช่าพักอาศัย 3-4 วัน อย่างนี้ก็ขึ้นแอพเพื่อหาคนร่วมพักได้ ความจริงแบบนี้ทั้งยุโรปและอเมริกามีมานานแล้ว แต่เพิ่งจะมีโทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการไม่กี่ปีมานี้ แอพของคุณก็ได้ผลตอบแทนจากค่าบริการหรือเป็นแอพฟรีแต่มีคนลงโฆษณาครับ

เรื่องแบบนี้เรา “เรียนแบบ” หรือจะเรียกให้เพราะว่า “แรงบันดาล”ใจก็ได้ จัดทำขึ้นมา และจัดทำเป็นภาษาต่างประเทศหากคุณต้องการผู้ติดต่อเป็นชาวต่างชาติ ผมว่าโอกาสแบบนี้ก็เป็น”Startup” ในไทยได้ครับ

คุณอาจจะทำแอพดูนกก็ได้ เปิดแอพกลางมา เปิดทางตามหาวงการธุรกิจดูนกให้เจอ ตามหาไกด์ให้เจอ รวบรวมไว้ในแอพเดียวกัน ทำแอพให้ผู้ใช้บริการสามารถติดต่อประสานงานและใช้งานได้จริง มีระบบป้องกันที่มั่นคง แค่นี้ก็ทำเงินได้แล้วเช่นกัน

โลกปัจจุบันเชื่อมถึงกันได้หมด อยากไปที่ไหนในโลก ค้นหาที่พัก ค้นหาตั๋วเครื่องบิน ติดต่อประสานงานกับแหล่งจุดหมายปลายทางได้โดยตรง โอนเงินก็ผ่านอินเตอร์เน็ท เดี๋ยวนี้โรงแรมในญี่ปุ่นถึงได้ร้องโวยวายไงว่าสูญเสียลูกค้าไปเยอะมาก ขอให้รัฐบาลออกกฎมากำกับดูแล จำกัดจำนวนวันลูกค้าแอพเข้าพัก เมืองไทยก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะเดี๋ยวนี้ลูกทัวร์จีนก็ใช้มือถือจ่ายสินค้าได้ในหลายที่ในแหล่งท่องเที่ยวในไทย แม้ระบบธนาคารยังไม่เชื่อมโยง เขาก็เอาเงินสดมากองที่ร้านค้าที่ลูกค้าทัวร์จีนเข้าซื้อสินค้าเป็นประจำ คนไทยขายของได้เงินแน่ๆ แม้เขาจะมีเพียงโทรศัพท์มือถือเท่านั้น ตอนนี้มีแอพมอเตอร์ไซด์ของไทยแล้วแต่ยังไม่ได้เริ่มปฏิบัติการส่วนค่ายต่างประเทศเปิดแอพแท็กซี่แล้ว และกำลังจะขยายถึงมอเตอร์ไซด์ด้วย แต่ต้องถูกเบรก ต้องเจรจากับทางการไทยก่อน เพราะหากปล่อยให้ทำง่ายๆ ไม่มีหลักเกณฑ์เกรงว่าจะป่วนไปหมด แต่ผมว่า คุณอาจคิดจะฝืนได้ แต่คุณก็ฝืนไปไม่ได้ตลอด เพราะว่า โลกเปลี่ยนไปแล้ว เปลี่ยนไปแล้วจริงๆ นะ แล้วคุณหล่ะ ตามโลกทันหรือเปล่า ?

Photo : Pixabay