คลังแนะใช้หลักความสามารถในการชำระภาษีและหลักผลประโยชน์พิจารณาจัดเก็บภาษีที่ดิน

12 มิ.ย. 2559 | 14:14 น.
คลังสนับสนุนการเดินหน้าภาษีที่ดิน และ การจัดระเบียบการใช้ที่ดิน สปก พร้อมข้อเสนอแนะ เพื่ออุดช่องโหว่ ฝากจัดทะเบียนการเข้ามาถือครองที่ดินของต่างชาติในรูปนอมินีด้วย

ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเนื่องจากภาษีของไทยเน้นเก็บภาษีจากฐานรายได้ และฐานการบริโภค โดยมีการเก็บภาษีหรือเป็นรายรับของรัฐบาลจากฐานทรัพย์สินและฐานการถือครองทรัพย์สิน (Property Tax) ค่อนข้างน้อย ภาษีทรัพย์สินเดิมที่เก็บอยู่ ไม่ว่าจะเป็นภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฐานภาษีซ้ำซ้อนกับภาษีเงินได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจเจ้าหน้าที่ เป็นช่องทางของการทุจริตได้ อัตราภาษีสูงเกินไปร้อยละ 12 ของค่าเช่ารายปี มีการเลี่ยงภาษีได้ง่าย ภาษีบำรุงท้องก็มีช่องโหว่ในการเลี่ยงภาษีมาก ทำให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น เวลาพิจารณาหลักความเป็นธรรมทางภาษีต้องประกอบไปด้วย หลักความสามารถในการชำระภาษี (The Ability-to-Pay Principle) และ หลักผลประโยชน์ที่ได้ (The Benefit Principle)

ฉะนั้น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่นำมาใช้แทน ภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องถิ่น จะทำให้รายได้รัฐบาลเพิ่มขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ดีกว่า ท้องถิ่นมีรายได้ไปพัฒนาพื้นที่มากขึ้น ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ อปท กระตุ้นให้มีการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ และ ลดการเก็งกำไรที่ดินและบ้าน

นอกจากนี้ พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการลงทุนของภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ โดยอาศัยเงินภาษีของคนทั้งประเทศ แล้วทำให้มูลค่าที่ดินเพิ่มสูงขึ้นจำนวนมากๆ ก็จำเป็นต้องเสียภาษีเพิ่ม จากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของที่ดินเพื่อนำรายได้กลับมาพัฒนาประเทศต่อ ทำให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น และ รัฐก็จะมีงบประมาณเพียงพอในการพัฒนาประเทศ กลไกของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในลักษณะ ก็จะมีลักษณะเป็น Betterment Tax ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพและความเป็นธรรมของระบบเศรษฐกิจและการใช้ที่ดินดีขึ้นอย่างชัดเจนในระยะยาว

ผศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ข้อดีทั้งหลายที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่เนื่องจากร่างที่ผ่าน ครม กำหนดให้เก็บภาษีบ้านและที่ดินที่ใช้อยู่อาศัยโดยเพดานมูลค่าที่สูงเกินไป คือ สูงกว่า 50 ล้านบาทถึงจะเสียภาษี ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่มีทรัพย์สินน้อยกว่า มีรายได้น้อยกว่า อาจเสียภาษีมากกว่าคนที่มีฐานะดีกว่าก็ได้ เช่น คนหนึ่งมีบ้านหลังแรกอยู่อาศัยราคา 49 ล้านบาท ไม่เสียภาษี อีกคนหนึ่งมีบ้านหลังแรกอยู่อาศัยราคา 3 ล้านบาท มีบ้านหลังที่สองซึ่งอาจเป็นส่วนต่อขยายหรือหลังติดกันราคา 5 ล้านบาท ต้องเสียภาษีจากฐานทรัพย์สินจากฐาน 5 ล้านบาท

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องระวัง คือ การเก็บภาษีจากที่ดินทำเกษตรกรรม ต้องพัฒนาและกลไกที่ทำให้เกิดความเป็นธรรมทางด้านภาษีและประสิทธิภาพในการจัดเก็บ ภาพรวมเห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแต่ในรายละเอียดของตัวร่างจำเป็นต้องอุดช่องโหว่ และอย่าทำเพียงแค่เป็นสัญลักษณ์ว่า ได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน แต่ต้องเอาจริงเอาจังกับเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการถือครองทรัพย์สิน เพิ่มการกระจายความมั่งคั่ง ขณะเดียวกัน ตนขอสนับสนุนการจัดระเบียบการถือครองที่ดิน สปก ใหม่ เพื่อให้ไปตามวัตถุประสงค์การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม เนื่องจากขณะนี้มีที่ดิน สปก มีการถือครองผิดวัตถุประสงค์จำนวนมากกว่า สี่แสนไร่ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 25 จังหวัด การจัดระเบียบใหม่ภายใต้การดำเนินการตามหลักนิติรัฐ จะสามารถนำที่ดินมาแจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่ไร้ที่ทำกิน และ ควรนำมาจัดสรรผ่านชุมชนและให้สหกรณ์การเกษตรเข้ามามีส่วนในการดำเนินการ นอกจากนี้ตนยังขอฝากให้รัฐบาลไปจัดระเบียบการถือครองที่ดินของต่างชาติในรูปนอมินีด้วย