ผนึกรัฐ-เอกชนลงทุนหนุนเศรษฐกิจไทยยุคดอกเบี้ยต่ำ-ดีมานด์โลกหด

14 มิ.ย. 2559 | 07:00 น.
เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) ได้จัดสัมมนา EIC Conference 2016 ภายใต้หัวข้อ "จับตาการลงทุนภาครัฐ-เอกชน...แรงส่งเศรษฐกิจระลอกใหม่" โดยความหวังตกไปอยู่ที่การลงทุนของภาครัฐ และหลายโครงการลงทุนที่ภาคเอกชนจะเป็นกำลังหนุน ภายหลังจากภาครัฐได้พยายามผลักดันโครงการลงทุนต่างๆ เหล่านี้จะสะท้อนการผนึกพลังเพื่อประคองเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

"สมคิด" กระทุ้งไทยต้องตัวเอง

"ถ้าคนไทยช่วยกันร่วมมือกันผมเชื่อว่าไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร ไทยจะสามารถฟื้นกลับมาได้" รองนายกฯสมคิดกล่าวและว่า

"ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "อนาคตไทยกับทศวรรษใหม่แห่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน" ว่า มั่นใจและมีความหวังว่า เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาเริ่มมีข่าวดีมาทีละชิ้น คือบริษัทที่ปรึกษาดึงประเทศไทยกลับไปอยู่ในประเทศที่นักลงทุนมีความมั่นใจที่จะลงทุนในอันดับที่ 21 ตามมาด้วยข่าวอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี)ในไตรมาส1 ที่ขยายตัว 3.2% สะท้อนว่าค่อนข้างดี เพราะก่อนจะเข้ามาทำหน้าที่นั้น เศรษฐกิจไทยค่อนข้างแผ่ว ตอนนั้น จีดีพีอยู่ที่ 2.8-2.9% จึงพยายามทำให้เงินของรัฐออกไปสู่ฐานราก (ไม่ใช่แค่แจกเงินอย่างเดียว) โดยเร่งโครงการและใช้เม็ดเงินลงทุน เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งจะไม่มีคำว่าโลว์ซีซัน หรือไฮซีซัน ดังนั้น จะเห็นความพยายามในช่วง 4-5 เดือน ทำให้จีดีพีทยอยปรับตัวดีขึ้นซึ่งไตรมาสแรกมีเม็ดเงินออกมาจากภาครัฐเพิ่มขึ้นประมาณ 10%

สิ่งที่ภาครัฐพยายามทำเป็นเพียงยกที่ 1 แต่ยังต้องมียกที่ 2 ,3 และ 4 แต่ภายใต้เศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง ซึ่งย่อมกระทบต่อไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมค่อนข้างยาก ทั้งภาคส่งออกและราคาสินค้าเกษตรมีแค่ทรงกับทรุดตามความต้องการโลก ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวมีแต่ทรงกับทรุด ไทยจึงต้องพึ่งตัวเองก่อนต้องหัดโตจากภายใน เพราะหลังจากเศรษฐกิจมีสัญญาณเป็นบวก และรัฐพยายามขับเคลื่อนและดูแลทุกเซ็กเตอร์เพื่อประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุด
สิ่งสำคัญจะต้องมีการปฏิรูปอย่างจริงจัง คือ การลดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างความสามารถทางการแข่งขัน เพราะถ้าต้องการให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพจะต้องแก้ 2 ตัวนี้ ซึ่งตอนนี้เป็นโอกาสที่ไทยจะปฏิรูป (รีฟอร์ม) โดยสิ่งแรกที่ปฏิเสธไม่ได้คือการดูแลเรื่องเกษตรกร โดยเน้นพื้นที่เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ตัวบุคคลการส่งเสริมสินค้าชุมชน ท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งการปฏิรูปการเกษตรให้ไปข้างหน้า "ต้องอดทน" เพราะไม่ใช่การแจกเงิน ขณะเดียวกันในส่วนอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งได้ประกาศไปแล้วว่าต้องการอะไร หรือ เทคโนโลยี อาหารแห่งอนาคต หุ่นยนต์แห่งอนาคต การบิน เป็นต้น แต่นโยบายเหล่านี้ไม่ใช่แค่เชิญคนมาลงทุน แต่ต้องมีฐานเป็นคลัสเตอร์ โดยนำสถาบันวิจัยจากมหาวิทยาลัยให้เกิดการพัฒนาอย่างเชื่อมโยงและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ บริษัทใหม่ๆ ขึ้นมาเป็น 20-30 บริษัท ช่วยเกษตรให้พัฒนาทางด้านเทคโนโลยี เป็นต้น

ขณะที่ภาครัฐพยายามผลักดันโครงการลงทุนในโปรเจ็กต์ต่างๆ ออกมา เช่น โครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีความหมายสูงมากหลังจากที่ไม่ได้ลงทุนมานานมาก เช่น ถนน รถไฟ สนามบิน รถไฟฟ้า พลังงาน โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานมีงบลงทุนเกือบ 2.5 ล้านล้านบาทใกล้เคียงกับคมนาคม ซึ่งยังไม่รวมงบประมาณด้านดิจิตอล 5 ปี ที่มีงบประมาณรวมกว่า 5 แสนล้านบาท แต่ในปีนี้จะมีการลงทุนก้อนแรกก่อนจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาทรวมถึงโครงการหลายอย่างจะมาจากการขับเคลื่อนเอกชนเตรียมไว้ รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม การศึกษา มิวเซียม โรงพยาบาล ศาสนา และโครงสร้างครอบครัว สิ่งเหล่านี้สมควรลงทุนทั้งสิ้น

"ต่างประเทศคิดไปถึงอนาคตเพราะมองการณ์ไกล 10-20ปี แต่การลงทุนของไทยไม่เข้มข้น เศรษฐกิจเดินไม่เร็วพอ เพราะแรงเอกชนแผ่วจากความไม่ไม่มั่นใจและยังกลัว โดยสัดส่วนการลงทุนภาคเอกชนเหลือเพียง 19% จากอดีตมีสัดส่วนสูง 35% แต่ช่วงนี้เป็นจังหวะที่เหมาะสม ไทยอยู่ในช่วงดอกเบี้ยต่ำถ้าไม่ลงทุนตอนนี้จะไปลงทุนตอนไหน"

 แนะไทยเร่งลงทุนภาคบริการ/เกาะเออีซี

"ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์" รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวบรรยาย หัวข้อ "เดินเกมการลงทุน ทางรอดเศรษฐกิจไทย" ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยทรงและทรุดมา 8 ปีแล้ว ซึ่งใน 40-50 ปีที่ผ่านมาทุกๆ ช่วงศตวรรษจะมีพี่ใหญ่เข้ามาพยุงเศรษฐกิจโลก โดยโครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง 4 ด้านที่ทำให้ดีมานด์หายไปของโลก คือ 1.สังคมผู้สูงวัย 2.ทุกภาคส่วนสะสมหนี้สูงมาก 3.เทคโนโลยีปัจจุบันเข้ามาแทนแรงงานมนุษย์ 4.เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้การลงทุนใหม่ๆ เปลี่ยนแปลงไปเป็น KIK Economy เช่น อูเบอร์ที่ทำให้ความต้องการซื้อรถน้อยลง เป็นต้น ประกอบกับที่ผ่านมาการเพิ่มดีมานด์จะใช้วิธีการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นลงทุนและใช้จ่าย จะเห็นว่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาเรื่อยๆ และการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย ซึ่งบางแห่งเหลือ 0 และบางแห่งติดลบ แต่ไม่ได้ผล จึงต้องมองหาเครื่องมือแปลกๆ เช่น มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (คิวอี) หรือ การแทรกแซงค่าเงิน เดิมเคยทำและได้ผล แต่วันนี้คนกังวลมากกว่าถ้าแทรกค่าเงินมากๆ จะเกิดสงครามค่าเงิน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 90 ปีมาแล้ว และพอทำไม่ได้ก็เริ่มตั้งกำแพงภาษี กีดกันการค้า และสหรัฐฯมีเรื่องการออกวอตช์ลิสต์ Watch list เป็นต้น

ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องเข้ามาช่วยเป็นหัวเชื้อให้เอกชนมั่นใจมากขึ้น แต่ประเทศพี่ใหญ่ สหรัฐฯ ยูโร ญี่ปุ่นที่มีหนี้สาธารณะสูงแตะ 248% ไม่มีพื้นที่ในการจะทำนโยบาย แต่ในภูมิภาคเอเชียยังมีช่องว่างอยู่ แม้จะเป็นสัดส่วนไม่เยอะแต่ควรลงตรงไหนทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ถ้าเทียบเพื่อนบ้านในอดีตเรื่องการลงทุนไทยสูงมาก แต่ปัจจุบันสวนทางกลับเพื่อนบ้านพุ่งไปสูงมาก เห็นได้จากภาคบริการของยังน้อยเมื่อเทียบกับต่างประเทศที่มีการลงทุนภาคบริการสูงกว่าภาคการผลิต อย่างไรก็ดี การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ทั้งนี้ ด้วยจุดแข็งของไทยที่มีอยู่ จึงควรลงทุนใน 3 ด้าน คือ 1.การลงทุนด้านการท่องเที่ยว เป็นธุรกิจ ที่ขยายตัวค่อนข้างดี เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจไทย โดยเน้นลงทุนเพื่อรองรับธุรกิจที่ขยายตัว เช่น ลงทุนในสาธารณูปโภค หรือระบบขนส่งที่เชื่อมต่อการเดินทาง เพื่อสร้างความปลอดภัยและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว 2.ธุรกิจไอซีที ซึ่งมีความจำเป็นมากขึ้น ปัจจุบันไทยยังคงล้าหลังกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่ก้าวล้ำไปให้บริการ 4G มานานแล้ว แต่ไทยเพิ่งจะเริ่มมี ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสค่อยข้างมาก เพราะธุรกิจไอซีทีจะมีผลต่อจีดีพีประมาณ 2% แต่ประเทศ มาเลเซียมีสัดส่วนถึง 8%

อย่างไรก็ดี จะเห็นว่าสิ่งที่ภาครัฐทำอยู่เรื่อง ดิจิตอล อี-เพย์เมนต์ เป็นเรื่องที่ดี คือ ช่วยลดค่าใช้จ่ายโอนเงินและช่วยลดการใช้เงินสด ซึ่งจะส่งผลตามมาคือ การจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ(Tax Collection) และ 3.การพัฒนาธุรกิจรองรับกลุ่ม CLMV ซึ่งไทยเป็นเกตเวย์อยู่ใจกลาง ของประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงถึง 6-8% แทบจะสูงที่สุดในโลก จึงเป็นโอกาสในการขยายตัวเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน

"เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่าง โดยพี่ใหญ่ก็มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินการคลัง แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ จึงจะเห็นว่าในยุคนี้ไม่มีพี่ใหญ่ที่จะมาช่วยพยุงเศรษฐกิจ ดังนั้น ไทยจึงต้องมีการพัฒนาและลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งระบบรถ รางเครื่องบิน ซึ่งรัฐวางแผนแล้ว แต่สิ่งที่ต้องทำต่อเนื่องคือการลงทุนเพิ่มในภาคบริการที่ยังมีน้อยเมื่อเทียบกับโอกาสการขยายตัว"

 ย้ำรัฐและเอกชนลงทุนหนุนศก.ไทย

"ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย" ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ตอนนี้เศรษฐกิจโลกทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นต่างเผชิญภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ปกติ แต่ละประเทศต่างสรรหานโยบายที่จะก้าวผ่าน ไม่ว่านโยบายดอกเบี้ยติดลบ หรือทุ่มเม็ดเงินเข้าไปในระบบคิวอีจนกลายเป็นเรื่องปกติ แต่นโยบายเหล่านี้รู้สึกจะไม่เกิดประสิทธิภาพอย่างที่ต้องการและกลับสร้างปัญหาบานปลาย ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบทั้งภายในและภายนอก สิ่งที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถเดินต่อไปได้ คือ ต้องอาศัยการลงทุนรัฐและเอกชน ซึ่งมองเห็นว่านโยบายภาครัฐที่ออกมาตรการกระตุ้นต่างๆ ไม่ว่ากระตุ้นด้านอสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยว เป็นการกระตุ้นระยะสั้น แต่เพื่อสร้างศักยภาพในระยะยาวของประเทศ จะต้องจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะเห็นว่ามีด้านคมนาคม 20 กว่าโครงการมูลค่าลงทุนกว่า 1.8 ล้านล้านบาท และโครงการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนหรือพีพีพี ไม่ใช่แค่การฟื้นเศรษฐกิจในระยะนี้แต่จะต่อไปอีกหลายปี จากเดิมที่อาศัยการส่งออกอย่างเดียวมาเป็นการใช้จ่ายในประเทศ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,165 วันที่ 12 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559