กระทรวงดีอีจ่อคลอดสิงหาฯนี้ ‘อุตตม’รุกตั้งศูนย์ 1212 ดูแลเว็บผิดกฎหมาย/อี-คอมเมิร์ซ

15 มิ.ย. 2559 | 01:00 น.
ก.ไอซีที-เอ็ตด้า ผนึกกำลังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เปิดศูนย์ 1212 OCC แบบครบวงจรรับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ "อุตตม" แจงโรดแมปเปลี่ยนเป็นกระทรวงดิจิทัลฯ คาดสิ้นแล้วเสร็จ ส.ค. ล่าสุดเรียกอธิบดีอุตุ-เลขา สถิติฯ ถก สั่งปรับแผนให้สอดคล้องแผนดีอี

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า กระทรวงไอซีที และ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ได้ลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (พค.) กระทรวงพาณิชย์ และกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC’ ที่กระทรวง ได้มอบหมายให้ ETDA (เอ็ตด้า) เป็นผู้บริหารจัดการศูนย์ดังกล่าว เพื่อช่วยแก้ปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ปัญหาการซื้อขายบนออนไลน์อย่างเป็นรูปธรรม และครบวงจร พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล รวมถึงกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซ

"ในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม การขยายตัว และการเติบโตอย่างมั่นคงของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และการทำธุรกรรมต่างๆ บนออนไลน์มีความสำคัญต่อแผนการพัฒนาของประเทศ โดยจากผลสำรวจมูลค่าอี-คอมเมิร์ซไทยของเอ็ตด้า ธุรกิจออนไลน์มีมูลค่าสูงถึง 2.03 ล้านล้านบาท ในปี 2557 ซึ่งเป็นมูลค่าที่รวมทั้งมูลค่าขายจาก B2B B2C และ B2G ซึ่งรวมไปถึงมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างออนไลน์ของหน่วยงานภาครัฐด้วย และคาดการณ์ในปี 2558 มูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยยังมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2557 คิดเป็น 3.65%

"เชื่อว่าความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยให้การแก้ไขปัญหาออนไลน์รวดเร็วขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อ และผู้ขาย ทั้งในและต่างประเทศ ว่ามีวันสต็อปเซอร์วิส ที่รับเรื่องและดูแลปัญหา ทั้งในส่วนของเว็บไซต์ผิดกฎหมายหรือมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ปัญหาการซื้อขายออนไลน์ ปัญหาภัยคุกคามไซเบอร์ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดจนกระตุ้นการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซให้เพิ่มสูงขึ้น"

ดร.อุตตม กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับความคืบหน้าในการเปลี่ยนชื่อกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร หรือ ไอซีที เป็นกระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีนั้นกระบวนการเปลี่ยนผ่านทั้งหมดจะแล้ว รวมถึงโครงสร้างกระทรวงใหม่เสร็จ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ภายในระยะเวลา 3 เดือน โดยคาดว่าจะสามารถเปลี่ยนชื่อกระทรวงใหม่ได้ราวปลายเดือนสิงหาคม หรือ ต้นกันยายน 2559 ล่าสุดได้มีการประชุมร่วมกับอธิบดีกรมอุตุนิยม และ เลขาธิการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งได้มอบหมายให้ไปปรับโครงสร้างให้สอดรับกับแผนพัฒนาดิจิตอลอีโคโนมี

เช่นเดียวกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ ซิป้า สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ต้องปรับโครงสร้าง และแผนงานให้สอดรับกับดิจิตอลอีโคโนมี รวมไปถึงรัฐวิสาหกิจ ทั้งบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท. โทรคมนาคมจำกัด (มหาชน) ส่วนโครงสร้างเบื้องต้นหน่วยงานที่คิดว่าจะมีเพิ่มเติมขึ้นมา คือ สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ทำหน้าที่เป็นเลขาฯ ขับเคลื่อนนโยบายของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินอกจากนี้ยังมีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ ที่ทำหน้าที่ให้การส่งเสริมในแต่ละภาคอุตสาหกรรมและดูแลกองทุน ส่วนหน่วยงานที่โอนย้ายไป คือศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่จะไปอยู่กับกระทรวงมหาดไทย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,165 วันที่ 12 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559