ความเชื่อมั่นครัวเรือนในเดือนพ.ค.59 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

08 มิ.ย. 2559 | 08:15 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ เรื่อง “ความเชื่อมั่นครัวเรือนในเดือนพ.ค.2559 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ยังกังวลค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามราคาพลังงาน”

•ราคาพลังงานในประเทศที่ปรับขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกส่งผลต่อความกังวลด้านภาวะค่าครองชีพของครัวเรือนในเดือนพ.ค. 2559 ซึ่งนอกจากภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจะสูงขึ้นแล้ว อาจส่งผลต่อเนื่องให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย

•อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนกลับมีมุมมองต่อภาวะการมีงานทำทั้งในปัจจุบันและอีก 3 เดือนข้างหน้าที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 1 ที่ออกมาดีกว่าคาด และการคาดการณ์ถึงการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีที่คาดว่าจะเติบโตดีกว่าในครึ่งแรก รวมถึงในเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงที่กำลังแรงงานใหม่สำเร็จการศึกษาและเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน

•ในภาพรวม ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ยังคงทรงตัวที่ระดับ 42.7 ในเดือนพ.ค. 2559 แม้ว่าความกังวลในเรื่องภาวะภัยแล้งที่ส่งผลต่อรายได้และราคาอาหารจะลดลง รวมถึงมุมมองต่อการจ้างงานและรายได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา แต่ความกังวลเรื่องราคาพลังงานที่สูงขึ้นและจะส่งผลต่อภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามไปด้วยยังเป็นแรงกดดันต่อความเชื่อมั่นของครัวเรือนให้อยู่ที่ต่ำกว่าระดับ 50 ในเดือนพ.ค. 2559 นี้ ในขณะที่ ดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ยังคงลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 44.1 เนื่องจากครัวเรือนให้น้ำหนักค่อนข้างมากต่อความกังวลต่อภาระค่าครองชีพที่คาดว่าจะสูงขึ้นตามราคาพลังงานรวมถึงค่าใช้จ่ายโดยรวมของครัวเรือนในระยะข้างหน้า

ความเชื่อมั่นครัวเรือนต่อภาวะการครองชีพในเดือนพ.ค. 2559 นี้ ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าหลังจากลดลงเป็นเวลา 4 เดือนติดต่อกัน ซึ่งในเดือนพ.ค. 2559 นี้ ครัวเรือนมีความกังวลต่อระดับราคาพลังงาน สาธารณูปโภค และบริการพื้นฐานในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซ ไฟฟ้า ค่าโดยสาร เพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งในปัจจุบันและในระยะ 3 เดือนข้างหน้า แต่ก็นังถูกชดเชยด้วยปัจจัยบวกจากความเชื่อมั่นของครัวเรือนต่อการจ้างงานและรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความกังวลในเรื่องภาวะภัยแล้งที่ลดลงส่วนหนึ่งช่วยบรรเทาความกังวลในเรื่องรายได้และราคาสินค้าที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า

•ครัวเรือนมีความกังวลต่อภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เร่งตัวขึ้นในนับตั้งแต่ในเดือนมี.ค. 2559 ที่ผ่านมา เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันในราคาพลังงานในประเทศ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวเร่งขึ้นตาม สะท้อนจากเงินเฟ้อกลับมาเป็นบวกในเดือนเม.ย. และ พ.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 คาดว่าจะทยอยปรับขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ 44 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สูงกว่าในช่วงครึ่งแรกที่ราว 37 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ครัวเรือนมีความกังวลต่อระดับราคาพลังงานที่จะส่งผลกระทบผ่านต้นทุนราคาสินค้าอื่นๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางให้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

•ในขณะที่ ดัชนีมุมมองต่อภาวะการมีงานทำของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น จากการสำรวจมุมมองของครัวเรือนต่อภาวะการมีงานทำในช่วงเดือนพ.ค. 2559 พบว่า สัดส่วนครัวเรือนที่มองว่าภาวะการมีงานทำ “แย่ลงเล็กน้อย” เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ลดลง สอดคล้องไปกับสัดส่วนครัวเรือนที่มีมุมมองต่อภาวะการมีงานทำ “ดีขึ้นเล็กน้อย” เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะมาจากตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ออกมาสูงกว่าที่คาด รวมถึงทิศทางการขยายตัวในช่วงครึ่งหลังของปีที่หลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนมีมุมมองที่สอดคล้องกันว่าจะเติบโตดีกว่าในช่วงครึ่งแรกของปีจากอานิสงส์จากการใช้จ่ายในโครงการลงทุนของภาครัฐเป็นสำคัญ ได้สร้างความเชื่อมั่นให้ครัวเรือนถึงภาวะการมีงานทำ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนให้มุมมองต่อการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนมีทิศทางดีขึ้นทั้งในเดือนพ.ค. และในช่วงระยะ 3 เดือนข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นมุมมองของครัวเรือนส่วนใหญ่ (กว่าร้อยละ 60) ที่ลดความกังวลเกี่ยวกับภาวะภัยแล้งที่จะส่งผลต่อรายได้และราคาอาหารลง ตลอดจนปัจจัยทางด้านฤดูกาลจากการเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ในช่วงเดือนพ.ค.นี้

•ในภาพรวมความเชื่อมั่นครัวเรือนในเดือนพ.ค. 2559 ทรงตัว หลังจากลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 4 เดือนติดต่อกัน ซึ่งก็ได้ปัจจัยหนุนจากมุมมองต่อความเชื่อมั่นต่อภาวะการมีงานทำที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงความกังวลต่อผลกระทบจากภาวะภัยแล้งที่ลดลง แต่ความกังวลของครัวเรื่องทางฝั่งรายจ่ายมีก็เพิ่มขึ้นจากภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามราคาพลังงานที่ปรับตัวเร่งขึ้นไปแล้ว และยังมีแนวโน้มที่จะทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า ในขณะที่ภาระหนี้สินที่ยังทรงตัว ระดับการออมที่ลดลง ส่งผลต่อภาวะการครองชีพที่ไม่ปรับตัวจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้ายังคงลดลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 44.1 สะท้อนถึงความกังวลต่อภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานมีมากขึ้น ทำให้มีข้อจำกัดด้านการใช้จ่ายมีมากขึ้น แม้ว่ามุมมองต่อทิศทางการจ้างงานและรายได้จะดีขึ้นก็ตาม

โดยสรุป  ดัชนี KR-ECI ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 42.7 ในเดือนพฤษภาคม 2559 สะท้อนมุมมองของครัวเรือนต่อภาวะการครองชีพที่ไม่แย่ลงกว่าเดือนก่อนหน้า แม้ว่าภาระค่าครองชีพจะสูงขึ้นจากราคาพลังงานที่ปรับตัวเร่งขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา แต่ในฝั่งของรายได้ยังมีมุมมองต่อการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้นรวมถึงความกังวลต่อผลกระทบของภัยแล้งที่มีต่อรายได้เกษตรกรที่ลดลง รวมถึงการเพิ่มความเชื่อมั่นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ทิศทางของความเชื่อมั่นของครัวเรือนยังคงขึ้นอยู่กับทิศทางการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปที่จะส่งผลให้รายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงยังคงมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตามไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งออก ประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมถึงการเบิกจ่ายเม็ดเงินโครงการลงทุนที่ล้วนมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี