ซีพีเอฟเปิด“ศูนย์การเรียนรู้ ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน”

08 มิ.ย. 2559 | 06:55 น.
น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจสัตว์น้ำบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ  เปิดเผยว่า ซีพีเอฟร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ(องค์การมหาชน) และภาคประชาสังคม ได้วางยุทธศาสตร์อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน ภายใต้ “โครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2557-2561 นำร่องในพื้นที่ยุทธศาสตร์ 5 แห่งในจังหวัดชุมพร ระยอง สมุทรสาคร สงขลา และพังงา ล่าสุดในปีนี้ได้พัฒนาต่อยอดโครงการไปสู่การสร้าง “ศูนย์การเรียนรู้ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ปากน้ำประแส” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับป่าชายเลนที่ถูกต้องให้กับเยาวชน และผู้ที่สนใจทั่วไป เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้นับเป็นต้นแบบของการทำงานอย่างมีส่วนร่วมในลักษณะ 3 ประสานของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมอย่างเป็นรูปธรรม

IMG_4967 “สำหรับรูปแบบการดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้ฯ ขับเคลื่อนโดยใช้ศักยภาพของแต่ละฝ่ายเพื่อให้เกิดพลังอย่างแท้จริง ตั้งแต่การวางแผนและการดำเนินงานร่วมกับคณะกรรมการชุมชนในพื้นที่ ประกอบด้วย สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 1 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เทศบาลตำบลปากน้ำประแส ชุมชน และโรงเรียน เพื่อจัดทำแผนผังพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ และสถานีเรียนรู้พืชและสัตว์แบ่งออกเป็น 9 สถานี นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้มียุวมัคคุเทศน์คอยหมุนเวียนกันให้คำแนะนำ และถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับป่าชายเลนแก่ผู้มาเยือน เพื่อสร้างให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านป่าชายเลนที่มีชีวิต พร้อมวางเป้าหมายจำนวนผู้เยี่ยมชมกว่า 1,000 คน ในปีนี้ และคาดว่าในอนาคตจะมีการจัดตั้งกองทุนให้ชุมชน เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนในการดูแลและพัฒนาศูนย์เรียนรู้ให้สามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน” น.สพ.สุจินต์ กล่าว

ด้าน นายธีรัตม์ ธีระวุฒิพันธ์ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายฝั่งและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า จังหวัดระยอง มีปัญหาการกัดเซาะที่ค่อนข้างรุนแรงประมาณ 30 % ทั้งนี้ หากขาดความร่วมมือในการอนุรักษ์และฟื้นฟูอย่างจริงจัง อาจทำให้พื้นที่ถูกกัดเซาะมากขึ้น ผืนดินจะสูญหาย และระบบนิเวศชายฝั่งถูกทำลาย ทำให้เกิดผลกระทบต่อปริมาณสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งลดลง และบางชนิดอาจจะสูญหายเนื่องจากขาดแหล่งสารอาหาร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพวกเราทุกคนในที่สุด ไม่ว่าจะแหล่งทำกินจากการประมงของคนชุมชน หรือแหล่งอาหารที่หล่อเลี้ยงคนในสังคม

“จากปัญหาพื้นที่ถูกกัดเซาะทำให้ทุกฝ่ายต้องหันมาร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานความตระหนักรู้ในคุณค่า การใช้ประโยชน์อย่างรับผิดชอบ และการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม ซึ่งแนวคิดนี้ได้นำมาใช้เป็นกรอบการดำเนินโครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่ดีของโครงการความร่วมมือในเชิงบูรณาการ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรป่าชายเลนของประเทศ เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟูป่าชายเลน รวมถึงส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าชายเลนและความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งนอกเหนือจากการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนแล้ว การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ก็เป็นแนวทางที่ดีในการให้ความรู้ที่ถูกต้องและสร้างจิตสำนึกในการร่วมกันอนุรักษ์ป่าชายเลน” นายธีรัตม์ กล่าวเสริม

นายไชยรัตน์ เอื้อตระกูล นายกเทศมนตรีตำบลปากน้ำประแส กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ภาคประชาสังคมได้ร่วมกันดำเนินโครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ในพื้นที่ตำบลปากน้ำประแส  จังหวัดระยอง ด้วยการจัดทำศูนย์การเรียนรู้ป่าชายเลน จัดทำป้ายแผนที่ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว การปลูกป่าชายเลน การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ทำให้ปัจจุบันปากน้ำประแสมีศูนย์เรียนรู้ด้านป่าชายเลนเกิดขึ้น ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดระยอง เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในพื้นที่ปากน้ำประแส ซีพีเอฟจึงถือเป็นบริษัทที่แบบอย่างที่ดีในการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม  เพื่อฟื้นฟูวิถีชุมชนของคนปากน้ำประแส ให้มีความอยู่ดี มีสุข อย่างยั่งยืน

“ศูนย์การเรียนรู้ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ปากน้ำประแส” ณ ตำบลปากน้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เป็นแหล่งเรียนรู้ป่าชายเลนที่ออกแบบสถานที่ให้เหมาะสมกับการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และการศึกษาวิจัย  ด้วยกระบวนการเก็บข้อมูล เรียบเรียง และจัดการถ่ายทอดองค์ความรู้ของสิ่งแวดล้อม พืช สัตว์ ในท้องถิ่น นำเสนอผ่านศาลาข้อมูลภาพรวมความสำคัญของป่าชายเลนและการดำเนินโครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน และสถานีพืชและสัตว์ 9 แห่ง ประกอบด้วย สถานีต้นแสม 100 ปี, สถานีทักทายพี่ลำพูทะเล, สถานี หอยหัวใจแห่งห่วงโซ่อาหาร, สถานีกุ้งดีดขันนักดนตรีจากธรรมชาติ, สถานียลโกงกางสร้างสายใยรัก, สถานีวังมัจฉาเริงร่าวารี, สถานีปูเเสมจอมยุ่ง, สถานีสไลเดอร์ปลาตีน และสถานีแลบ้านปูก้ามดาบ ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ฯ ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.00 – 18.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย