ยางแลกรถไฟจีนส่อล่ม ‘ชิโนเคม’เบรก 2 แสนตัน/ซัดไทยผิดสัญญา

10 มิ.ย. 2559 | 01:00 น.
เปิดบันทึกลับชิโนเคมรัฐวิสาหกิจจีน แจ้งชะลอการส่งมอบยาง 2 แสนตัน โดยไม่มีกำหนด ส่อล้มดีลซื้อขายหลังไม่พอใจไทยผิดสัญญาความร่วมมือสร้างทางรถไฟไทย-จีน วงในกยท.เดือดชี้หากยึกยักไม่ชัดเจนในการรับมอบ พร้อมขายให้เจ้าอื่น ด้านสถาบันเกษตรกร/สหกรณ์ บุกทวงเงินค่ายาง กว่า 2 พันตัน "เชาว์" รองผู้ว่าการ กยท. รับงวด พ.ค.มีปัญหา ด้าน"อาคม"รมว.คมนาคมโบ้ย ก.เกษตรฯต้องแก้เอง

[caption id="attachment_60672" align="aligncenter" width="700"] โครงการโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมที่สามารถดำเนินการปี 2561 โครงการโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมที่สามารถดำเนินการปี 2561[/caption]

จากกรณีการซื้อขายผลิตภัณฑ์ยางระหว่างการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กับเครือชิโนเคม ตามบันทึกความเข้าใจ(MOU)ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนว่าด้วยความร่วมมือการค้าสินค้าเกษตรลงนามเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 วัตถุประสงค์เพื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 รัฐบาลและเป็นการเริ่มต้นโครงการความร่วมมือสร้างทางรถไฟ-จีน ในปี 2558 โดยจีนพร้อมที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ยางที่มีปริมาณรวม 2 แสนตันจากประเทศไทยนั้น

 จีนชะลอรับมอบไม่มีกำหนด

แหล่งข่าวจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ล่าสุดทางชิโนเคม ได้แจ้งขอชะลอการรับมอบยางสำหรับงวดเดือนพฤษภาคม 2559 ออกไปโดยไม่มีกำหนด (จากงวดแรก 1.66 หมื่นตันได้รับมอบไปแล้วเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา) ตามหลักฐานเอกสารของ กยท.เลขที่ 16/2559 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 โดยในเอกสารดังกล่าวระบุได้มีการหารือระหว่างนายพิเชฎฐ์ พร้อมมูล อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง ในฐานะผู้จัดการโครงการ กับ นายหลิว ( Lyu ) ผู้ประสานงานของชิโนเคมใน 3 ข้อการหารือ ได้แก่

1.แผนการส่งมอบยางเดือนพฤษภาคม 2559 ทาง นายหลิว เสนอว่า ยางที่ส่งมอบในเดือนดังกล่าวครึ่งหนึ่งจำนวน 8 พันตัน จะขอใช้ราคาเฉลี่ยเดือนมีนาคม 2559 ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจำนวน 8 พันตัน จะใช้ราคาเฉลี่ยเดือนมิถุนายน 2559 ซึ่งผู้จัดการโครงการฯ ได้ให้ความเห็นว่าขัดกับสัญญาที่ตกลงกันไว้ว่ายางทั้งหมดให้ใช้ราคาเฉลี่ย 2 เดือนย้อนหลัง โดยการส่งมอบยางของเดือนพฤษภาคม ให้ใช้ราคาเฉลี่ยของเดือนมีนาคมและเมษายน 2559 หากชิโนเคมจะขอเปลี่ยนแปลงให้ทำหนังสือถึง กยท.

2.กำหนดเวลาการรับมอบยาง ทางนายพิเชฎฐ์ เสนอว่า เพื่อ กยท.จะได้บริหารจัดการสต๊อกยางได้เหมาะสม ทางชิโนเคม ควรกำหนดเวลาการรับมอบที่ชัดเจน ซึ่งหากชิโนเคมยังไม่มีความชัดเจนในการรับมอบยาง กยท.อาจจะต้องพิจารณาการขายยางให้กับผู้ซื้อรายอื่น เพื่อไม่ให้เป็นภาระในการเก็บรักษาและป้องกันความเสี่ยงด้านราคา ซึ่งนายหลิว ไม่สามารถตอบได้เนื่องจากกำหนดรับมอบรัฐบาลจีนเป็นผู้สั่งการ

3.ปริมาณยางส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2559 กยท.เตรียมไว้ส่งมอบไว้จำนวน 1.2 หมื่นตัน ซึ่ง กยท.ได้ตกลงซื้อจากผู้ส่งออกและสถาบันเกษตรกรเพื่อส่งมอบชิโนเคม ควรดำเนินการรับมอบ ส่วนปริมาณที่เหลือประมาณ 4 พันตันอาจทำความตกลงในแผนการส่งมอบต่อไป (ในข้อตกลงจีนจะสั่งซื้อและรับมอบยาง 12 ครั้ง เฉลี่ยครั้งละ 1.66 หมื่นตัน) ซึ่งทางนายหลิว ไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าจะรับมอบยางได้เมื่อใด

ล่าสุดทาง กยท. ได้ทำหนังสือทวงถามกำหนดการรับมอบยางของชิโนเคมอย่างเป็นทางการ และสำหรับยางที่ กยท.ได้ตกลงซื้อจากผู้ส่งออกและสถาบันเกษตรกรไว้แล้ว จำนวน 9 พันตัน ควรตั้งคณะกรรมการพิจารณาการดำเนินการขายยางในกรณีที่ชิโนเคมยังไม่ตอบยืนยันการรับมอบยางที่ กยท.ได้จัดซื้อไว้แล้ว

 ชี้เหตุไม่พอใจไทยผิดสัญญา

แหล่งข่าวจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวถึงกรณีนี้ได้มีการตั้งข้อสันนิษฐานรวมทั้ง กยท.ได้แจ้งไปยังเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญาสาเหตุที่จีนสั่งชะลอการรับมอบยางออกไปโดยไม่มีกำหนด คาดว่าเบื้องต้นจะมาจากการที่รัฐบาลจีนไม่พอใจรัฐบาลไทยจากเดิมที่จะกู้เงินจากรัฐบาลจีนทั้งหมดกว่า 5 แสนล้านบาทมาลงทุนโครงการความร่วมมือสร้างทางรถไฟไทย-จีน พร้อมกันนี้จีนขอสิทธิการใช้ประโยชน์พื้นที่ตลอดแนวสองข้างทางรถไฟ แต่ภายหลังรัฐบาลไทยประกาศจะลงทุนเองทั้งหมด แต่ยังเปิดช่องในการใช้เงินกู้จากจีน(หากเงื่อนไขจีนดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งเงินอื่น) ส่วนการเดินรถนั้นไทยจะตั้งบริษัทเอง ขณะที่เทคโนโลยีต่างๆ ยังเป็นของจีนตามข้อตกลง จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงส่งผลมาถึงการซื้อขายยางได้หยุดชะงัก ดังข้อความตอนหนึ่งของการเจรจาระหว่างนายพิเชฎฐ์ และนายหลิวระบุว่า "การกำหนดรับมอบรัฐบาลจีนเป็นผู้สั่งการ"

 กยท.รับงวด พ.ค.มีปัญหา

ด้านนายเชาว์ ทรงอาวุธ รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) รักษาการในตำแหน่งรองผู้ว่าการด้านอุตสาหกรรมยางและผลิตยาง กล่าวสั้นๆ ว่า การส่งมอบยางงวดแรกให้กับชิโนเคมได้ส่งเรียบร้อยแล้ว จำนวน 1.66 หมื่นตัน ตามสัญญาเดือนเมษายน ส่วนงวดเดือนพฤษภาคมยังอยู่ระหว่างการเจรจา มองเป็นเรื่องธรรมดาที่การซื้อขายกันย่อมจะต้องมีการต่อรองเป็นรอบๆ ไป ส่วนเรื่องความเดือดร้อนจากสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการการซื้อขายยาง จำนวน 2 แสนตัน ให้กับชิโนเคมนั้น ได้รับทราบปัญหาแล้วจะรีบเร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขให้เร็วที่สุด

 เร่งผู้ว่าการชงบอร์ดช่วยเกษตรกร

ขณะที่นายสาย อิ่นคำ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ฝ่ายผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง (บอร์ดยาง) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมาได้มีกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางหลายกลุ่มได้แก่ กลุ่มเกษตรทำสวนธารน้ำทิพย์ จ.ยะลา สหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง จ.ชลบุรี สหกรณ์การเกษตรยางพาราพิษณุโลก และชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง จำกัด ได้นำตัวแทนกว่า 20 คนมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธาน กยท.และดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท. ว่า ได้รับผลกระทบจากการที่เครือชิโนเคม คู่ค้า ของ กยท.ได้เลื่อนการซื้อและรับมอบยางออกไปโดยไม่มีกำหนด ทำให้ยางแท่งและยางแผ่นรมควันชั้น 3 (ที่จ้างเอกชนแปรรูป)ค้างอยู่ที่โกดังของบริษัทยางไทยปักษ์ใต้(เต็กบีห้าง)กว่า 2 พันตัน ซึ่งทางบริษัทกำลังจะดำเนินการเก็บค่าเช่าโกดัง ซึ่งทางสหกรณ์ต้องการความชัดเจนและหากมีการชะลอส่งมอบไปทาง กยท.จะต้องจ่ายค่ายางจำนวนนี้ให้กับกลุ่มเกษตรกร เพราะไม่ใช่ความผิดของเกษตรกรที่จะต้องมารับผิดชอบ

"สำหรับราคายางแท่ง STR 20 จำนวนกว่า 600 ตัน กยท.รับซื้อราคา 47.90 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนยางแผ่นรมควันชั้น 3 จำนวน 1.42 พันตัน กยท.รับซื้อ ราคา 51.40 บาทต่อกิโลกรัม ล่าสุดทางผู้ประกอบการได้เร่งให้นำยางออกจากโกดัง มิฉะนั้นจะเก็บค่าเช่า เรื่องนี้ทางกลุ่มเกษตรกรเดือดร้อนมาก จึงได้ติดต่อมาทางผมเพื่อให้ทางผู้ว่าฯ กยท. เร่งรัดเสนอเข้าบอร์ดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มนี้เป็นการด่วน"

ด้านนายประสิทธิ์ หมีดเส็น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ดการยาง กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่อง ซึ่งหากเป็นจริง ก็ควรที่จะอนุมัติช่วยเหลือหากเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากการเลื่อนขายยางให้กับชิโนเคม โดยทางบอร์ดจะมีประชุมในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ เชื่อว่าจะมีทางออกอย่างแน่นอน

 โวย กยท.เก็บเซสส์-จี้จ่ายค่ายาง

นายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ จังหวัดยะลา กล่าวว่า ทางกลุ่มสหกรณ์ ได้มีหนังสือชี้แจงและเดินทางมาทวงถาม 2 ข้อด้วยกัน ได้แก่ 1. ทางกลุ่มได้มีการรวบรวมยางพารา เพื่อขายให้กับเครือชิโนเคม จากจีน งวดแรกส่งให้ 3 พันกว่าตันทั้งยางแผ่นรมควัน และยางแท่ง STR 20 ซึ่งทาง กยท.แจ้งว่าจะไม่มีการหักค่าธรรมเนียมการเก็บเงินสงเคราะห์ยางจากการส่งออก (เงินเซสส์) 1.40 บาทต่อกิโลกรัมจากเกษตรกร แต่พอถึงเวลาโอนเงินมาให้กลับมีใบเสร็จหักค่าเงินเซสส์ด้วย 2. กยท.จะต้องจ่ายค่ายางกว่า 2 พันตันที่อยู่ในโกดังเอกชนที่รับจ้างผลิตยาง เพราะชิโนเคมเลื่อนสัญญาส่งมอบจะนำมากล่าวอ้างเบี้ยวไม่จ่ายค่ายางไม่ได้

อาคมโบ้ย ก.เกษตรฯต้องแก้เอง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีฝ่ายจีนจะนำเอาประเด็นการยกเลิกซื้อสินค้าเกษตรของไทยนั้นว่าเป็นเรื่องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องไปดำเนินการแก้ไขปัญหา เพราะไทยยืนยันพร้อมที่จะลงทุนโครงการรถไฟเอง และยืนยันว่ายังปฏิบัติตามกรอบความร่วมมือต่อกัน ขณะนี้โครงการรถไฟไทย-จีนยังดำเนินการไปตามแผน โดยจะดำเนินการในส่วนที่มีความพร้อมไปก่อนเมื่อดีมานด์เกิดขึ้นจึงจะดำเนินการในส่วนอื่นต่อเนื่องกันไป

"ยังเป็นไปตามกรอบความร่วมมือต่อกันเพียงแต่ไทยจะลงทุนเองซึ่งประเด็นการกู้เงินนั้นไม่ได้ระบุเอาไว้ว่าไทยจำเป็นจะต้องกู้จากจีน หากไทยพร้อมก็สามารถใช้เงินในประเทศลงทุนเองได้ ทั้งนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่จะต้องขอความร่วมมือจากฝ่ายจีนตามที่ระบุเอาไว้ในกรอบความร่วมมือ อาทิ ด้านเทคโนโลยี หรือเรื่องการฝึกอบรมบุคลากรที่ยังปฏิบัติต่อเนื่องกันมา"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,164 วันที่ 9 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2559