‘ททท.’ดันเปิด 42 รูตบินใหม่ หนุนเชื่อมเน็ตเวิร์กทั่วอาเซียน

11 มิ.ย. 2559 | 07:00 น.
“ททท.” ดัน 5 แอร์ไลน์ไทย เปิด 42 เส้นทางบินใหม่ แจ้งเกิด โครงการอาเซียน ลิงก์ หนุนไทยเป็นฮับบินอาเซียนและอินเดียรับกลยุทธ์ “อาเซียนคอนเน็กต์” ด้านบางกอกแอร์ นกแอร์ ไทยแอร์เอเชีย รับลูกประเดิมเปิด 6 รูตบินจากเชียงใหม่ ตราด กรุงเทพฯสู่ประเทศซีแอลเอ็มวี โดยใช้เวที “ทีทีเอ็มพลัส” สร้างการรับรู้ทั่วโลก ลั่นยังสนับสนุนโปรโมตตลาด 3 เดือนก่อนบิน หวังเพิ่มทัวริสต์ 10% ทั่วภูมิภาค

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าในขณะนี้ททท.ได้จัดทำร่างเส้นทางบินที่มีศักยภาพในโครงการอาเซียนลิงก์ เน้นผลักดันให้สายการบินต่าง ๆ ของไทยพิจารณาโอกาสในการเปิดเส้นทางบิน เพื่อขยายตลาดและส่งเสริมให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศอาเซียนภายใต้กลยุทธ อาเซียน คอนเน็ค ซึ่งจากการศึกษาพบว่ามี 42 เส้นทางบิน โดยเป็นเส้นทางบินเชื่อมระหว่างเมืองหลักและเมืองรองในกลุ่มอาเซียน รวมถึงเมืองต่าง ๆ ในประเทศอินเดีย และเส้นทางบินภายในประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้เพิ่มมากขึ้น

จากการหารือร่วมกับสายการบินหลักของไทย ได้แก่ นกแอร์ ,ไทยแอร์เอเชีย,การบินไทย,สายการบินไทยสมายล์ และบางกอกแอร์เวย์ส เพื่อแนะนำเส้นทางบินที่มีศักยภาพให้สายการบินต่าง ๆ พิจารณาความเหมาะสมในการทยอยพัฒนาเส้นทางบินใหม่ๆ จากการหารือพบว่ามีหลายเส้นทางที่สายการบินต่างๆเล็งเห็นโอกาสและเตรียมจะทยอยเปิดทำการบิน ซึ่งมีทั้งเส้นทางบินใหม่จากไทยเชื่อมโยงกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี) บางเส้นทางบินจากไทยสู่ประเทศอินเดีย อย่าง เมือง Lucknow , Chandigarh ,Jaipur รวมถึงบางเมืองในอาเซียน อาทิ เซบู ประเทศฟิลิปปินส์ เส้นทางลังกาวี ประเทศมาเลเซีย กรุงเทพฯ เป็นต้น

ทั้งนี้ททท.จะเปิดตัวเส้นทางในโครงการอาเซียนลิงก์ 6 เส้นทางบินเชื่อมโยงระหว่างไทยไปยังกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในงานในงาน Thailand Travel Mart Plus Amazing Gateway to the Greater Mekong Subregion หรือ TTM+ ที่ศูนย์การประชุมและการแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัด เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 8-10 มิถุนายนนี้ เนื่องจากการจัดงานทีทีเอ็มพลัส ในปีนี้ มีผู้ซื้อกว่า 459 รายจาก 59 ประเทศทั่วโลก และมีผู้ขาย จำนวน 345 ราย จากทุกภูมิภาคทั่วไทยและกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำ เพื่อโปรโมทเส้นทางบินใหม่ที่สายการบินต่างๆของไทยเตรียมจะเปิดให้บริการ

อันประกอบไปด้วย 1.เส้นทางบินเชียงใหม่-หลวงพระบาง ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส จำนวน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่มทำการบินวันที่ 1 ตุลาคมนี้ 2.เส้นทางบินเชียงใหม่-เวียงจันทน์ ของบางกอกแอร์เวย์ส จำนวน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่มบินวันที่ 1 ตุลาคมนี้ 3.เส้นทางเชียงใหม่-พุกาม(บากัน) ของบางกอกแอร์เวย์ส 4.เส้นทางตราด-พนมเปญ ของบางกอกแอร์เวย์สเช่นกัน ซึ่งทั้ง 2 เส้นทางกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเปิดบินเมื่อไร 5.เส้นทางสนามบินดอนเมือง-มัณฑเลย์ โดยสายการบินนกแอร์ เปิดบินช่วงเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายนนี้ 6.เส้นทางสนามบินดอนเมือง-เวียงจันทน์ ของสายการบินไทยแอร์เอเชีย เริ่มทำการบินวันที่ 1 กรกฏาคมนี้

" การส่งเสริมให้เกิดการเดินทางทางอากาศได้สะดวก ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายคนรวมถึงการท่องเที่ยว ที่ช่วยบรรลุความตั้งใจในการรวมกลุ่มกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี การเดินทางเข้า-ออกประเทศได้ง่าย เอื้อประโยชน์ต่อการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะเมืองต่างๆที่อยู่ตามตะเข็บชายแดน และกลุ่มประเทศ ซีแอลเอ็มวี หากมีเที่ยวบินระหว่างกัน ก็ยิ่งทำให้เดินทางสะดวก ททท.ก็สามารถโปรโมทดึงนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อในประเทศเหล่านี้ เข้ามาเที่ยววันหยุดในไทย เดินทางมารักษาสุขภาพในไทย เป็นต้น"นายยุทธศักดิ์ กล่าว

ด้านนางศรีสุดา วนภิญโญศักดิ์ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเซียและแปซิฟิคใต้ ททท. กล่าวเสริมว่าเส้นทางบินในโครงการอาเซียนลิงก์ ที่เน้นทั้งการเชื่อมโยงจุดบินจากไทยสู่อาเซียนและจุดบินจากไทยเชื่อมสู่อินเดีย ททท.ได้ทำการศึกษาและเล็งเห็นว่าเป็นเส้นทางบินที่มีโอกาสในการขยายตลาดด้านการท่องเที่ยวได้หากมีการเปิดเที่ยวบินเชื่อมโยงกัน และได้มีการหารือร่วมกับสายการบินหลักของไทย และบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงความเป็นไปได้ในการเปิดทำการบินในเส้นทางเหล่านี้

" จากการหารือร่วมกับสายการบินมีความเป็นไปได้ในหลายเส้นทางที่เตรียมจะเปิดทำการบินได้ ซึ่งททท.มีข้อเสนอว่าหากสายการบินใดทำการบินในเส้นทางต่าง ๆ ที่แนะนำไว้ได้ จะให้การสนับสนุนในการทำโปรโมตให้ 3 เดือนล่วงหน้าก่อนสายการบินเปิดทำการบิน เพื่อกระตุ้นและสร้างการรับรู้ในตลาดด้วย"

ส่วนการแนะนำเส้นทางบินเชื่อมโยงสู่อินเดีย เข้ามารวมอยู่ในโครงการอาเซียน ลิงก์ เพราะเล็งเห็นว่าตลาดอินเดีย มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีมาก จีดีพี ขยายตัว 9-10% เป็นตลาดนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มการขยายตัวที่ดีในการเดินทางมาเที่ยวไทย ในขณะที่โครงการอาเซียน ลิงก์จะส่งผลดีต่อการขยายตลาดการท่องเที่ยวใน 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มนักท่องเที่ยวจากนอกอาเซียน ที่เดินทางมาเที่ยวไทยหรืออาเซียน สามารถเชื่อมโยงการเดินทางท่องเที่ยวในกลุ่มอาเซียนและไทยได้สะดวกขึ้น 2.กลุ่มนักท่องเที่ยวอาเซียนเดินทางเที่ยวกันเองในภูมิภาคนี้ จากสถิตพบว่าประชากรของอาเซียนกว่า 600 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเที่ยวกันเองในภูมิภาคอยู่ราว 50 ล้านคน ในจำนวนนี้มาเที่ยวไทย 8 ล้านคน จึงมองว่าการผลักดันโครงการอาเซียน ลิงก์ จะทำให้มีนักท่องเที่ยวจากอาเซียนเดินทางมาเที่ยวผ่านเส้นทางบินใหม่ ๆ เหล่านี้เพิ่มอีก 10%

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เผยว่า เส้นทางบินในโครงการอาเซียน ลิงก์ ใน 42 เส้นทาง ซึ่งเป็นเส้นทางระหว่างประเทศ 35 เส้นทางทางและเส้นทางบินในประเทศ 7 เส้นทาง ตามที่ททท.แนะนำการเชื่อมโยงเส้นทางบินเข้าสู่อินเดีย อาทิ จากกรุงเทพฯ ไปยังเมือง Guwahati,Ahmedabad, Kochi,Visak จาก สนามบินอู่ตะเภา เชื่อมเมืองมุมไบ,นิวเดลี,บังกะลอร์,เชนไน,กัลกัตตา เส้นทางบินเชื่อมโยงสู่อินโดนีเซีย อาทิ กรุงเทพสู่เมือง Lombok,Surakarta "Solo"

เส้นทางสู่ฟิลิปปินส์ อาทิ กรุงเทพฯ-เซบู เส้นทางสู่เวียดนาม อาทิ กรุงเทพฯสู่เมืองดานัง ,Can Tho เชียงใหม่สู่โฮจิมินห์, เส้นทางอู่ตะเภา-โฮจิมินห์เส้นทางภูเก็ต-โฮจิมินห์ เส้นทางสู่กัมพูชา อาทิ เส้นทางจากชียงใหม่ภูเก็ต ตราด สมุย กระบี่ หาดใหญ่เข้าเสียมเรียบ เส้นทางเชื่อมโยงสู่เมียนมาร์ อาทิ เส้นทางกรุงเทพฯหรือภูเก็ตสู่เมืองHeho(เกตเวย์สู่ทะเลสาบอินเล) เส้นทางภูเก็ต-ย่างกุ้ง เส้นทางภูเก็ต-มัณฑเลย์เส้นทางเชื่อมโยงสู่มาเลเซีย อาทิ เส้นทางจากกรุงเทพฯสู่เมืองโกตาคินนาบารู, Malaka เส้นทางลังกาวี-สมุย ฯลฯ

นายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมายล์ จำกัด กล่าวว่า มีแผนเปิดจุดบินเข้าอินเดีย ใน 3 เมือง ได้แก่ เมืองLucknow , Chandigarh ,Jaipur ช่วงเดือนตุลาคมนี้ เพราะเป็นเมืองที่มีจุดขายด้านการท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ อย่างJaipur เป็นเมืองค้าขาย มีจุดเด่นว่าเป็นเมืองเพชรสีชมพู หรือเมือง Lucknow ก็ไปพุทธคยาและพาราณสีได้ ซึ่งกลุ่มลูกค้ามองว่ามีทั้งคนอินเดียมาเที่ยวไทย และผู้โดยสารที่ต้องการต่อเครื่องบินที่กรุงเทพฯ รวมถึงผู้โดยสารจากอินเดีย ที่มาใช้บริการต่อเที่ยวบินของการบินไทย ไปยังทวีปอื่นอย่าง ออสเตรเลีย เป็นต้น

ส่วน นายสันติสุข คล่องใช้ยา ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า เตรียมจะเปิดเส้นทางบินใหม่ กรุงเทพฯ– เวียงจันทน์จำนวน 1 เที่ยวบินต่อวัน ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้หลังจากเปิดบินเข้าหลวงพระบางแล้ว และยังเป็นสายการบินราคาประหยัดที่บินในอาเซียนมากที่สุด โดยบินเชื่อมไทยกับอาเซียนใน 7 ประเทศ 15 จุดปลายทาง

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,164 วันที่ 9 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2559