บุกขายข้าว2ตลาดแอฟริกา มั่นใจออร์เดอร์หลักแสนตัน

10 มิ.ย. 2559 | 06:00 น.
โมซัมบิกสนข้าวไทยขอซื้อเงื่อนไขพิเศษ หลังเจอพิษเศรษฐกิจโลกรุม คาดเป็นการขอสินเชื่อ ด้านผู้บริหารกระทรวงเตรียมเดินทางเจรจาขายข้าวโมซัมบิก-แอฟริกาใต้มิถุนายนนี้ มั่นใจได้ออร์เดอร์ข้าวกลับมาอีกหลายแสนตัน พร้อมโชว์แผนขยายการค้า-ลงทุนภูมิภาคแอฟริกา ระบุทัพธุรกิจไทยทั้ง ปตท.สผ. อิตัลไทยพ่อค้าอัญมณีแห่ปักฐานคึกคัก

[caption id="attachment_60961" align="aligncenter" width="700"] สถิติการส่งออกข้าวของไทยไปประเทศโมซัมบิก สถิติการส่งออกข้าวของไทยไปประเทศโมซัมบิก[/caption]

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงพาณิชย์ (พณ.)เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หลังจากที่รัฐบาลโมซัมบิกได้แสดงความสนใจที่จะขอซื้อข้าวจากไทย ในเดือนมิถุนายนนี้ผู้บริหารของกระทรวงพาณิชย์จะเดินทางไปประเทศโมซัมบิก รวมถึงแอฟริกาใต้เพื่อเจรจาขายข้าว ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาโมซัมบิกเคยนำเข้าข้าวจากไทยเป็นอันดับ 1 ปีละกว่า 6 แสนตัน แต่ช่วงหลังได้นำเข้าลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อ การไปครั้งนี้คาดหวังโมซัมบิกจะมีคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) ข้าวจากไทยหลายแสนตันเช่นเดิม ขณะที่ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) ไทยส่งออกข้าวไปโมซัมบิกแล้ว 7.11 หมื่นตัน มูลค่า 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (848 ล้านบาท) ขยายตัวลดลง 41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก

ที่ผ่านมาสินค้าหลักของไทยที่ส่งออกไปยังโมซัมบิก 10 อันดับแรก ประกอบด้วย ข้าว เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผ้าผืน อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ยาง หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ โดยในปี 2558 การค้าระหว่างไทยกับโมซัมบิก(ส่งออก+นำเข้า) มีมูลค่า 190 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2559 (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่าร่วม 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ดีกระทรวงพาณิชย์มียุทธศาสตร์ส่งเสริมการส่งออกไปยังตลาดแอฟริกา เช่น นำคณะผู้บริหารและผู้แทนการค้าเดินทางเยือนภูมิภาคแอฟริกาใต้และโมซัมบิก นำคณะผู้แทนการค้าสินค้าเครื่องจักรกลการเกษตรและบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากแอฟริกามาเจรจาการค้าในไทยด้วย รวมไปถึงโครงการขับเคลื่อนผ่านโมเดิร์นเทรด โครงการหุ้นส่วนตลาดการค้าการลงทุนเพื่อการพัฒนาตลาดในภูมิภาคแอฟริกา และการขยายลู่ทางการค้าและแสวงหาแหล่งวัตถุดิบสินค้าแฟชั่น เป็นต้น

"เนื่องจากโมซัมบิกยังมีการผลิตไม่มาก เมื่อเทียบกับความต้องการของประชากรในประเทศ ซึ่งมีรายได้สูงขึ้นและความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเขาเองต้องอาศัยการนำเข้าจากไทย ซึ่งสินค้าไทยที่ส่งออกไป เช่นข้าว ชิ้นส่วนยานยนต์และเครื่องนุ่งห่ม ก็คาดว่าการค้าระหว่างเรากับโมซัมบิกจะมีโอกาสขยายตัวมากขึ้นในอนาคต และล่าสุดมีการประชุมกรณีที่รัฐบาลโมซัมบิกขอซื้อข้าวไทยในเงื่อนไขพิเศษ คาดว่าจะเป็นการขอสินเชื่อในการซื้อข้าว " แหล่งข่าว กล่าวและว่า

เพื่อเป็นการดึงดูดนักลงทุน รัฐบาลโมซัมบิกได้มีมาตรการด้านภาษีเพื่อจูงใจนักลงทุนต่างชาติ โดยการให้สิทธิพิเศษจะต่างกันไปตามเขตที่นักลงทุนไปลงทุนและประเภทของการลงทุน แต่โดยเฉลี่ยแล้วนักลงทุนจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าประมาณ 50-80% โดยเฉพาะภาษีเครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตร และการก่อสร้าง

นอกจากนี้โมซัมบิกยังได้กำหนด Rapid Development Zone ในจังหวัดต่างๆ ซึ่งนักลงทุนจะได้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีอื่นๆ ด้วย เช่น ภาษีการโอนที่ดิน เป็นต้น โดยบริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนในโมซัมบิกแล้ว อาทิ กลุ่มปตท.สผ. ที่ลงทุนในธุรกิจขุดเจาะก๊าชธรรมชาติ บริษัท อิตัลไทยฯ ประมูลโครงการก่อสร้างท่าเรือมาปูซี ซึ่งเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ กลุ่มธุรกิจอัญมณีประมาณ 300 ราย ที่เข้าไปบุกเบิกการค้าพลอย และธุรกิจร้านอาหารไทย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,164 วันที่ 9 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2559