จี้อาหารไทยสู่มาตรฐานโลก ป้อง 1.1 ล้านล้านถูกกีดกัน

12 มิ.ย. 2559 | 05:00 น.
ทีดีอาร์ไอ ชี้สภาพการค้าโลกอยู่ในช่วงถดถอย ห่วงมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษีระบาด ชี้สินค้าอาหารโดนมากสุด แนะผู้ประกอบการไทยเร่งปรับตัวสร้างมาตรฐานสินค้าสู่ระดับสากลสร้างภูมิคุ้มกัน ด้านเอกชนมองถึงเวลาที่ภาครัฐต้องกำหนดนโยบายดูแลอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบเพื่อให้โลกได้รู้ว่าไทยจริงจังกับการสร้างมาตรฐาน จี้ผู้ประกอบการเพิ่มเติมนวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงาน "การบรรยายในเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนากลุ่มภาคีธุรกิจอาหาร" ว่า การค้าโลกในปัจจุบันอยู่ในภาวะถดถอยแม้ว่าตลาดจีน อาเซียนและอินเดียจะฟื้นตัวแต่ก็ยังไม่ดีพอและสิ่งที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบันคือ มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTM) ที่จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารที่จะเจอความท้าทายมากขึ้น แม้ว่าจะมีการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) แล้วก็ตาม แต่ก็เป็นมาตรฐานที่แยกกันไม่ออกว่า เป็นการมาตรการที่ออกมาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคหรือการกีดกันการค้า ในขณะเดียวกัน แนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ก็จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการค้าโลกด้วย เพราะจะทำให้เกิดอุปสงค์ต่อภาคบริการสูงขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจด้านบริการสุขภาพ (เฮลธ์แคร์) และการศึกษา

สำหรับการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ของกลุ่มภาคีอุตสาหกรรมอาหารของไทยนั้น ยอมรับว่า ที่ผ่านมาไทยถือว่ามีความได้เปรียบในเรื่องของการผลิตสินค้าอาหารที่ส่งออกไปประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แต่จากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปของคนทั่วโลกที่หันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่หลายประเทศจะต้องมีมาตรการดูแลด้วยการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีเข้ามากีดกันทางการค้าอย่างมาก ซึ่งธุรกิจที่จะถูกใช้มาตรการนี้มากสุด คือ ธุรกิจภาคอาหาร

" เอกชนไทยจะต้องเร่งปรับตัวหลังจากประเทศคู่ค้าจะใช้มาตรการเข้มงวดขึ้นทั้ง สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) และอีกหลายประเทศ จากเดิมไทยจะใช้วิธีการกระจายแหล่งการผลิตสินค้าอาหารเพื่อลดต้นทุน แต่หลังจากนี้ไปทั้งสหรัฐและอียูจะเน้นสั่งซื้อสินค้าอาหารจากประเทศใด ประเทศผู้ส่งออกจะต้องแจ้งแหล่งที่ไปที่มาของสินค้า ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายที่เอกชนไทยจะต้องเร่งปรับตัว เพราะหากภาคเอกชนไทยยังไม่เร่งปรับตัว ไทยอาจจะสูญเสียการตลาดไปได้"

ด้านนายไพบูลย์ พลสุวรรณา ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวว่า แม้เอกชนไทยจะปรับตัวอย่างต่อเนื่องแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือนโยบายของภาครัฐที่จะเป็นตัวกำหนดการดูแลภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบจะต้องออกมาอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง เพื่อให้ทั่วโลกได้รู้ว่าไทยมีมาตรการดูแลอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับอุตสาหกรรมอาหารของไทย แต่สิ่งที่ไทยยังขาด คือ นวัตกรรมใหม่ ๆซึ่งหากผู้ประกอบการมีนวัตกรรมใหม่ๆ เชื่อว่าจะสามารถแข่งขันกับทั่วโลกได้เพราะหากดูตัวเลขการส่งออกสินค้าอาหารไทยในช่วงปีที่ผ่านมามียอดรวมมากกว่า 1.1 ล้านล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่สูง แม้จะเติบโตไม่มากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากหลายประเทศคู่ค้าสำคัญทั้งสหรัฐฯและอียูใช้มาตรการเข้มงวดในเรื่องการผลิตสินค้าแต่ละชนิดว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เช่น ใช้แรงงานถูกกฎหมายเป็นไปตามหลักสากลหรือไม่ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไทยจะต้องปรับตัว

"หากมองถึงความต้องการสินค้าอาหารไทยในตลาดโลกสินค้าไทยเป็นที่รู้จัก และได้รับการยอมรับ แต่เมื่อพฤติกรรมของคนทั่วโลกเปลี่ยนเอกชนจะต้องปรับขั้นตอนการผลิตอาหารให้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นสูงสุดด้วย"

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,164 วันที่ 9 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2559