สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจมั่นใจเอสเอ็มอีปีนี้ปิดลดลง ดึง 7.4 พันรายปรับโครงสร้างหนี้

12 มิ.ย. 2559 | 11:00 น.
สสว.มั่นใจ ปีนี้ เอสเอ็มอีปิดกิจการและไม่ส่งงบการเงินลดน้อยลง จากปีก่อนรวมกันกว่า 3.6 หมื่นราย ชี้ปัจจัยมาตรการเทิร์นอะราวด์ได้ผล แห่สมัครให้ช่วยเหลือต้นทุนการผลิตตามเป้าที่ 1 หมื่นรายแล้วพร้อมกับมี พ.ร.บ.ฟื้นฟูกิจการให้กับเอสเอ็มอีเข้ามาเสริม ดึงผู้ประกอบการ 7.4 พันราย ปรับโครงสร้างหนี้เดินกิจการต่อได้

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีว่า จากสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่องในปี 2558 พบว่า กลุ่มเอสเอ็มอีทั้งภาคการค้า การบริการและการผลิต มีการปิดกิจการในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.2733 หมื่นราย เพิ่มขึ้นจากปี 2557 อยู่ที่ 1.8102 หมื่นราย ขณะที่เอสเอ็มอีที่สิ้นสภาพอื่นๆ เช่น ไม่ส่งงบการเงินต่อเนื่อง 3 ปี มีจำนวน 1.4014 หมื่นราย ปรับตัวลดลงจากปี 2557 อยู่ที่ 1.8268 หมื่นราย

ในขณะเดียวกัน พบว่าในปี 2558 ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการ มีเอสเอ็มอีจดทะเบียนเพิ่มขึ้นมีจำนวน 2.7659 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 2.9242 หมื่นราย หรือเพิ่มขึ้น 1.07 % โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของนิติบุคคล 2.313 หมื่นราย หรือเพิ่มขึ้น 3.94 % แบ่งเป็นภาคบริการ 1.2576 หมื่นราย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจก่อสร้างอาคาร ภาคการค้าเพิ่มขึ้น 7.498 พันราย และในภาคการผลิต เพิ่มขึ้น 3.056 พันราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ และธุรกิจอาหาร และวิสาหกิจชุมชนเพิ่มขึ้น 6.112 พันราย หรือเพิ่มขึ้น 8.67 % จากปี 2557

ในขณะที่ปี 2559 คาดว่า จะมีผู้ประกอบการเข้ามายื่นขอจดทะเบียนเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นอีกในระดับที่มากขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากด้วยภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับทางรัฐบาลมีมาตรการต่างๆ ในการกระตุ้นส่งเสริมเอสเอ็มอี ขณะที่การเลิกกิจการและการไม่ส่งงบทางบัญชีน่าจะปรับตัวลดลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากเริ่มเห็นความชัดเจนที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ความสนใจโครงการปรับปรุงแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถเอสเอ็มอี(เทิร์นอะราวด์) เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีปัญหาทางธุรกิจแล้ว

นางสาลินี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จากการที่พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2559 ด้านการฟื้นฟูกิจการในส่วนของลูกหนี้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา เพื่อเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอี ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องไม่สามารถชำระหนี้ได้ แต่ยังมีช่องทางในการดำเนินธุรกิจ สามารถยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการได้นั้น จะช่วยให้เอสเอมอีที่เป็นบุคคลธรรมดามีภาระหนี้ตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป และเป็นนิติบุคคล มีภาระหนี้ตั้งแต่ 3 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท จะได้รับสิทธิประโยชน์ สามารถยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการได้ เช่นเดียวกับบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งจะช่วยให้เอสเอ็มอีมีโอกาสปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ทั้งหลายและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ คาดว่ามีผู้ประกอบการเข้าข่ายการฟื้นฟูกิจการมีจำนวน 7.4 พันราย คิดเป็นมูลหนี้4.3 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น จากมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ออกมา จึงเชื่อว่าเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาและต้องปิดกิจการในปีนี้น่าจะปรับตัวลดลงเป็นอย่างมาก

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,164 วันที่ 9 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2559