จี้รัฐ4 ทางต้องรีบดำเนินการ ช่วยอุตฯเหล็กเร่งด่วน

11 มิ.ย. 2559 | 11:00 น.
ปัจจุบันสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กยังอยู่ในภาวะที่ต้องจับตาดูทั้งในแง่ความต้องการใช้และปริมาณผลิตจริงในตลาดโลก เนื่องจากเหล็กเป็นสินค้าที่อิงกับราคาในตลาดโลก อีกทั้งยังมีการแข่งขันที่รุนแรงกว่าในอดีตหลายเท่าตัว ทำให้ผู้ผลิตเหล็กชนิดต่างๆจากหลายประเทศต้องออกแรงรับมือในการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อให้อุตสาหกรรมของตัวเองอยู่รอด! "ฐานเศรษฐกิจ"สัมภาษณ์พิเศษ ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการบริหาร สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย(ISIT) หนึ่งในผู้ช่ำชองวงการเหล็ก สะท้อนมุมมองการเคลื่อนไหว การแข่งขัน และการรับมือในอุตสาหกรรมดังกล่าวอย่างน่าสนใจ

2 สาเหตุราคาเหล็กพลิกบวก

ดร.สมศักดิ์ มองสถานการณ์ของอุตสาหกรรมเหล็กในขณะนี้ว่า ราคายังไม่นิ่งมีขึ้น-ลงได้ตลอด โดยจีนเป็นผู้กำหนดราคาเหล็กเพราะเป็นทั้งผู้ผลิตรายใหญ่ในลำดับต้นๆ ของโลก และเป็นผู้บริโภครายใหญ่ของโลกอีกรายหนึ่งด้วย จะเห็นว่าต้นปี2559 ราคาเหล็กเริ่มพลิกเป็นบวก และเป็นช่วงที่เหล็กเส้นขาดแคลน กดให้ราคาเหล็กขยับจากช่วงไตรมาส3และไตรมาส4 ปี2558 อยู่ที่15-16 บาทต่อกิโลกรัมหรือ 1.50-1.60 หมื่นบาทต่อตัน จนทำให้ผู้ประกอบการเหล็กขาดทุนไปทั่วโลก ก็ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 18-19 บาทต่อกิโลกรัม หรือ1.80-1.90 หมื่นบาทต่อตันเมื่อต้นปีนี้ โดยมีสาเหตุมาจาก 1.คู่ค้าเหล็กในจีนซื้อเก็งกำไร เพราะเชื่อว่าราคาเหล็กน่าจะขยับขึ้นได้อีก 2.ผู้ค้าที่นำเข้าบิลเล็ต(วัตถุดิบในการผลิตเหล็กเส้น)มาจากจีนถูกยกเลิกคำสั่งซื้อ โดยจีนต้องการตั้งราคาบิลเล็ตใหม่ตามราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามการที่จีนออกมาทุ่มตลาดจำนวนมาก หลังจากที่เศรษฐกิจภายในประเทศจีนชะลอตัวในปี2558 จึงต้องระบายเหล็กส่งออกไปทั่วโลกในราคาถูก ซึ่งในขณะนั้นผู้ผลิตไทยก็ส่งออกยากขึ้นเพราะส่งออกไปประเทศที่สาม แข่งขันกับจีนไม่ได้ ดูจากตัวเลขการส่งออกเมื่อปี2550 ไทยเคยส่งออกรวมราว 2ล้านตันต่อปี ปัจจุบันการส่งออกเกือบเป็นศูนย์ อีกทั้งต้องต่อสู้กับการแข่งขันในประเทศที่มีเหล็กนำเข้ามาตีตลาดต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ต้านกระแสเหล็กจากจีนที่ราคาถูกกว่าไม่ได้จนเผชิญภาวะขาดทุนไปในที่สุด

โดยเฉพาะเหล็กแผ่นรีดร้อนเมื่อปี2558 จะเห็นว่าเจอวิกฤตเหล็กจากจีนล้นตลาด ต้องระบายออกสู่ตลาดโลก จนรัฐบาลจีนต้องออกมาประกาศว่า อีก5 ปี(2558-2562) จีนจะลดกำลังผลิตเหล็กส่วนเกินทุกชนิดลงจำนวน150 ล้านตันจากที่จีนผลิตได้จริงราว 800.52 ล้านตันต่อปี(ผลิตได้เต็มเพดานเครื่องจักรอยู่ที่ 1,100ล้านตันต่อปี) ซึ่งมีกำลังผลิตส่วนเกินล้นตลาดอยู่ราว300 ล้านตัน

การระบายเหล็กชนิดต่างๆออกสู่ตลาดโลกของจีนกระทบมาถึงผู้ผลิตเหล็กไทย 4 รายใหญ่ตั้งแต่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ , บริษัท จี สตีล จำกัด (มหาชน, บริษัท จี เจ สตีล จำกัด (มหาชน) (GJS), และกลุ่มแอลพีเอ็น เพลทมิล ที่จนถึงขณะนี้ยังเดินการผลิตได้เพียง30-40% เท่านั้น จากที่ความสามารถของเครื่องจักรมีกำลังผลิตรวมทั้งสิ้นราว 8 ล้านตันต่อปี

"การที่จีนมีกำลังผลิตเหล็กส่วนเกินออกมาตีตลาดโลก ทำให้ผู้ผลิตทั่วโลกต่างออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลตัวเองรับมือโดยการตั้งกำแพงภาษีคุ้มครองผู้ผลิตในประเทศตัวเอง เช่น อเมริกา กำหนดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping)หรือเอดี ด้วยภาษีเอดีเหล็กแผ่นรีดร้อนสูงถึง 255% เหล็กแผ่นรีดเย็น 522% เช่นเดียวกับยุโรป อินโดนีเซีย อินเดีย มาเลเซีย ต่างตั้งกำแพงภาษีเอดีในอัตราที่สูงกว่าไทย เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าว

สำหรับประเทศไทยนอกจากเดินมาตรการรับมือที่ล่าช้า ใช้เวลาพิจารณานานแล้ว กำแพงภาษีเอดีที่คุ้มครองเหล็กบางชนิดที่ออกมาก่อนหน้านี้ก็อยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง ยกตัวอย่างเช่นภาษีเอดีเหล็กแผ่นรีดร้อนที่ดำเนินมาตรการกับ 16 ประเทศ เก็บภาษีเอดีอยู่ระหว่าง0-70 % มากน้อยขึ้นอยู่ที่อัตราส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดของแต่ละโรงงาน

จับตา 4 ประเทศใหม่ตีตลาดไทยมากขึ้น

ดร.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่น่าเป็นห่วงในเวลานี้คือมี 4 ประเทศที่ไม่เคยส่งออกเหล็กมายังไทย ล่าสุดก็หันมาส่งออกเหล็กแผ่นรีดร้อนเข้ามาไทยมากขึ้น ไล่ตั้งแต่อิหร่าน บราซิล ตุรกี และอียิปต์ ล่าสุดมีตัวเลขส่งออกมาไทยเมื่อปีที่แล้วจำนวนมากกว่า 2.3 แสนตัน คาดว่าปี 2559 จะเพิ่มเป็น 5-6 แสนตันต่อปี ซึ่งประเทศเหล่านี้ที่ผ่านมาส่งออกมาขายในไทยน้อยมาก หรือแทบจะไม่มี แต่ขณะนี้เริ่มมีมากขึ้นแล้ว

"จากปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนสร้างผลกระทบต่อเนื่องถึงผู้ประกอบการไทย ทำให้การผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนและท่อเหล็กนิ่งมาก ขายไม่ออก และล่าสุดหลังจากที่มีข่าวว่า 4 ประเทศผู้นำเข้ารายใหม่จะส่งเหล็กเข้ามาตีตลาดไทยมากขึ้น ก็จะเป็นตัวแปรที่ทำให้ราคาอาจจะถูกลงกว่าเดิมอีก เพราะเกิดการชะลอการสั่งซื้อในช่วงนี้ ขณะนี้มีเหล็กแผ่นรีดร้อนกองอยู่ในโกดังสะต๊อกสินค้าจำนวนมาก เฉพาะผู้ผลิต3-4รายใหญ่มีสะต๊อกเหล็กแผ่นรีดร้อนกองอยู่เป็นแสนตันเพราะขายไม่ออก"

จากปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมเหล็ก ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยโดย 7 สมาคม ประกอบด้วย สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย ,สมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย ,สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น ,สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า ,สมาคมการค้าเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ,สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน และสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าเหล็กด้อยมาตรฐานเข้ามายังประเทศไทยก่อนหน้านี้ จนล่าสุดได้รับการตอบรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วโดยเฉพาะสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) แต่เป็นเพียงการแก้ปัญหาบางส่วนเท่านั้น

รัฐต้องช่วยเหลือเร่งด่วน

ดร.สมศักดิ์กล่าวว่า สุดท้ายแล้ว สิ่งที่รัฐบาลจะต้องรีบดำเดินการแบบเร่งด่วนที่สุดในอุตสาหกรรมเหล็กมี 4 ทางคือ 1. ออกมาตรการฉุกเฉินมาช่วย ผู้ประกอบการไทย โดยเก็บภาษีเอดีชั่วคราว ตามอัตราส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดเบื้องต้นประมาณ 25-30% กับ 3 ประเทศดังกล่าวในอัตราที่ไม่เท่ากันขึ้นอยู่ที่ส่วนเหลื่อมของการทุ่มตลาดของแต่ละประเทศ จากที่ก่อนหน้านี้มีการยื่นฟ้องให้ดำเนินมาตรการเอดีเหล็กแผ่นรีดร้อนเพิ่มกับ 3 ประเทศคืออิหร่าน ตุรกี บราซิล กรณีนำเข้ามาแบบทุ่มตลาด และเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมาก็เปิดการไต่สวนไปแล้ว ซึ่งการพิจารณาต้องใช้เวลานาน กลุ่มเหล็กจึงเรียกร้องให้ภาครัฐออกมาตรการฉุกเฉินก่อนที่จะมีมาตรการขั้นที่สุดออกมา

2.ส่งเสริมใช้เหล็กภายในประเทศให้มากขึ้นโดยตั้งกำแพงภาษีอากรขาเข้าจาก 5% เพิ่มเป็น15% 3.ตั้งราคานำเข้าตามราคาจริงจากการคำนวณต้นทุนไม่ใช่ราคาที่มีการอุดหนุนมาจากประเทศต่างๆ เนื่องจากบางประเทศกำหนดราคาขั้นต่ำสำหรับสินค้าเหล็กนำเข้าเพื่อเป็นฐานในการเก็บภาษีนำเข้าหรือภาษีเอดี หรือภาษีจากมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น(เซฟการ์ด) ถ้าประเทศนั้นๆถูกดำเนินการ เนื่องจากนำเข้าสำแดงราคาเหล็กต่ำกว่าต้นทุนจริง 4. ขอให้กระทรวงพาณิชย์ออกกฎหมาย Anti- Circumventionเป็นกฎหมายตอบโต้ในทุกกรณี เช่น การเปลี่ยนแปลงแหล่งกำเนิดสินค้า หรือการนำสินค้านั้นไปแปรรูปหรือนำเข้ามาอีกที หรือการเจือสารต่างๆเพื่อเปลี่ยนพิกัด ซึ่งกรณีนี้กลุ่มเหล็กได้ยื่นหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ไปนานแล้วแต่ยังไม่คืบหน้า

ทั้ง 4 มาตรการเร่งด่วนนี้อยากวิงวอนให้ภาครัฐพิจารณาอย่างครบถ้วนก่อนที่จะสายไป เพราะเวลานี้เหลือผู้ผลิตเหล็กในประเทศเพียงไม่กี่ราย และที่ดำเนินการอยู่ก็เผชิญปัญหารอบด้าน ดร.สมศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,164 วันที่ 9 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2559