ทางเลือกยุคดอกเบี้ยฝากติดดิน นักวิชาการส่งสัญญาณโครงสร้างแบงก์ไม่เหมือนเดิม

13 มิ.ย. 2559 | 03:00 น.
นักวิชาการยํ้าเตือนคนไทยเรียนรู้ทางเลือกใหม่เงินออม หลังแบงก์ปรับโครงสร้างต้นทุนขยายฐานรายได้จากค่าธรรมเนียมแทน เหตุปล่อยกู้ฝืด ชี้ “NIM”กำไร/ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดช่วงที่เหลือตลาดแข่งขันเจาะเซ็กเมนต์/ตามจังหวะดึงสภาพคล่อง

ภายหลังธนาคารพาณิชย์ หลายแห่งทยอยประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมตั้งแต่ต้นเดือน เมษายน 2559 เป็นต้นมา ณ วันที่ 6 มิถุนายน อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมแก่ลูกหนี้รายใหญ่ชั้นดี (MLR) และอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมแก่ลูกค้ารายย่อยชั้นดี(MRR) เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศอยู่ที่ 6.96% และ 8.26% ตามลำดับโดยที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำสุด-สูงสุดของธนาคารพาณิชย์ออมทรัพย์ 0.05-2.50 เงินฝาก 3เดือน 0.25-1.75 เงินฝาก 6เดือน 0.25-1.75 เงินฝาก 12เดือนอัตรา 0.25-1.875 เงินฝาก 24เดือนอัตรา 1.00-1.875% แต่การปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์บางธนาคารที่ระดับ 0.00%ยังกลายเป็นประเด็นคาใจทิศทางดอกเบี้ยในอนาคตโดยเฉพาะความต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบ
ต่อประเด็นดังกล่าวนางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ธปท.จะปล่อยให้ธนาคารบริหารจัดการธุรกิจบนความเป็นธรรม แต่หากถามว่าเป็นธรรมหรือไม่นั้นต้องไปดูส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิกับความเสี่ยงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)มากขึ้นเพียงไร หรือการคิดค่าความเสี่ยง(Risk Premium)มากเกินไปหรือไม่ ซึ่งในทางปฏิบัติธปท.จะมีทีมงานติดตามดูอยู่แล้วตลอดเวลา

[caption id="attachment_61233" align="aligncenter" width="700"] ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ เทียบไตรมาส 1 ปี 2559 และ 2558 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ เทียบไตรมาส 1 ปี 2559 และ 2558[/caption]

ต่อข้อถามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเป็นศูนย์นั้น กรณีดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานหรือการลดลงไปกว่านี้ไม่ได้ทำให้คนอยากใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะเมืองไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้นผู้สูงอายุจะอยู่ได้ด้วย กองทุนบำเหน็จบำนาญ และอัตราดอกเบี้ยที่เขาเลือกลงทุน เนื่องจากเงินก้อนดังกล่าวต้องปลอดภัยพอสมควรซึ่งที่ผ่านมาเริ่มเห็นคนถอนเงินฝากไปลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน( Infrastructure fund) มากขึ้น หรือบริษัทจัดการกองทุน(บลจ.) หรือหลายธนาคารขยับจากเงินฝากไปสู่การบริหารความมั่งครั่งให้ลูกค้า( Wealth Management) หรือการที่ธนาคารจะออกโปรดักต์นั้น ทางธปท.จะออกประกาศที่เข้มขึ้นในการควบคุม ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าการเสนอขายโปรดักต์ที่มีความเสี่ยงมากต้องมีผลตอบแทนมาก (ไฮรีส-ไฮรีเทิร์น) และต้องมีข้อมูลเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ลงทุนอย่างครบถ้วน

ดร. สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หลังจากธนาคารบางแห่งส่งสัญญาณปรับโครงสร้างต้นทุนโดยปรับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เป็นศูนย์นั้น สะท้อนความไม่เหมือนเดิมในการให้บริการของภาคธนาคารในประเทศ ประเด็นใหญ่ที่สำคัญ สำหรับ คนฝากเงินต้องเรียนรู้ ศึกษาทางเลือกใหม่การออมในอนาคต โดยเฉพาะความถ่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากที่สะท้อนการกำหนดผู้เล่นโดยไม่เปิดกว้างในการแข่งขัน กอปรกับความพยายามหารายได้ที่เปลี่ยนเป็นค่าธรรมเนียมเนื่องจากไม่สามารถนำสภาพคล่องปล่อยกู้ ส่วนหนึ่งเริ่มมีความท้าทายเข้ามาให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคารทำให้ไม่มีประสิทธิภาพในการทำหน้าที่

"การส่งสัญญาณปรับโครงสร้างต้นทุนของแบงก์ที่ไม่เหมือนเดิม แม้จะไม่เห็นดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เป็นศูนย์ทั้งหมดแต่สะท้อนสภาพคล่องส่วนเกินและเป็นประเด็นที่คนไทยต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกับทางเลือกใหม่ในการออมอนาคต"

ด้านนางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมอัตราดอกเบี้ยในระบบและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย(อาร์/พี)ปัจจุบันเป็นช่วงดอกเบี้ยต่ำ โดยอาร์/พีจะยังคงต่ำต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินที่ปรับลดลงเกิดจากการแข่งขันที่ไม่มากและสภาพคล่องในระบบยังมีจำนวนมาก เพราะแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อยังแบบค่อยเป็นค่อยไป และหากดูตัวเลขตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันการปล่อยสินเชื่อยังมีอัตราการหดตัวประมาณ 0.8% หรือประมาณ 9.46 หมื่นล้านบาท หากเทียบเงินฝากที่เติบโตเพิ่มขึ้น 3% หรือ 1.8 แสนล้านบาท ดังนั้น การปรับขึ้นหรือลงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารจะขึ้นอยู่กับการระบายสภาพคล่อง ซึ่งปีนี้ศูนย์วิจัยฯ คาดว่าเงินฝากจะขยายตัวอยู่ที่กรอบ 3-5% คิดเป็นเม็ดเงิน 4.5 แสนล้านบาท และสินเชื่อขยายตัวที่ 4-5% คิดเป็นเม็ดเงิน 4.4-5.5 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี หากต้องการดูส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้หรือเงินฝากที่ชัดเจนต้องพิจารณาจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ( Net Interest Margin: NIM) เพราะดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้มีหลายประเภท จึงเทียบกันไม่ได้ แต่ NIM จะเป็นตัวสะท้อนที่ดีที่สุด หาก NIM ถ่างมากสะท้อนถึงสินเชื่อที่ขยายตัวดีขึ้น ซึ่งตัวเลข NIM ของธปท. ช่วงสิ้นปีก่อนและไตรมาสแรกทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2.6% สะท้อนว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ยมากนัก ส่วนช่วงที่เหลือของปีภาพรวมการแข่งขันเงินฝากจะไม่เห็นการปรับอัตราดอกเบี้ยทั้งกระดานแต่จะเลือกปรับเป็นเซ็กเมนต์หรือแข่งขันตามจังหวะการดึงสภาพคล่องของธนาคาร

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย (TBA) กล่าวว่า โดยปกติอัตราดอกเบี้ยจะเป็นตัวควบคุมสภาพคล่อง และสถาบันการเงินจะต้องควบคุมอัตราให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ซึ่งแต่ละธนาคารจะมีการบริหารจัดการแตกต่างกัน เพราะถ้าเก็บเงินฝากไว้มากจะเป็นภาระต้นทุน หรือถ้าไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ฝากเงินก็มีความเสี่ยง แต่ยังไม่ถึงขั้นจะเห็นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของไทยติดลบเหมือนประเทศญี่ปุ่นแน่นอน อย่างไรก็ดี ประเภทของเงินฝากของไทยแตกต่างกัน หากเป็นเงินฝากออมทรัพย์สามารถถอนเมื่อไรก็ได้ จึงทำให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินฝากประจำที่มีเงื่อนไขการเบิกถอน เพราะรู้เวลาที่แน่นอน

"เรื่องการปรับดอกเบี้ยจะไม่ได้มีการพูดกันในสมาคมธนาคารไทย เพราะการปรับขึ้นหรือลงขึ้นอยู่กับสภาพคล่องและต้นทุนของแต่ละแบงก์ ซึ่งแตกต่างกันไม่สามารถมาทำเป็นข้อสรุปได้ แต่ช่องว่างตอนนี้จะเห็นว่าแคบกว่าเดิมมาก เพราะแบงก์มีต้นทุนและสินเชื่อก็ยังไม่มาเต็มที่"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,164 วันที่ 9 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2559