อัพเป้าหุ้นไทย 1,530 จุด เชื่อเศรษฐกิจฟื้นครึ่งปีหลัง

13 มิ.ย. 2559 | 07:00 น.
สภาธุรกิจตลาดทุน เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง 9.01% นักลงทุนกังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ย ส่วนหุ้นไทย ได้นโยบายรัฐหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจช่วยสร้างความเชื่อมั่น นักวิเคราะห์บางค่ายเริ่มขยับเป้าดัชนีสิ้นปีเป็น 1,500- 1,530 จุด นายกสมาคมบล.ให้เป้ากำไรบจ.โต 30 % ได้แรงหนุนจากกลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันฟื้น

[caption id="attachment_61238" align="aligncenter" width="700"] ความเคลื่อนไหว การปรับเป้าดัชนีหุ้นไทย ความเคลื่อนไหว การปรับเป้าดัชนีหุ้นไทย[/caption]

นายเผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการเงินทุนส่วนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์(บล.) กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บริษัทฯได้ปรับเพิ่มเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยสิ้นปี 2559 จากเดิม 1,450 จุด เป็น 1,530 จุด และปรับประมาณการกำไรต่อหุ้น (EPS) เพิ่มขึ้นจากเดิม 89.2 บาทต่อหุ้น เป็น 92.7 บาทต่อหุ้น เนื่องจากสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยมีทิศทางเชิงบวกตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว ทั้งภาคการบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นและแนวโน้มการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเชื่อว่าในระยะต่อไปทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมีโอกาสปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีไทยปีนี้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบัน บล.กสิกรไทยประเมินจีดีพีไว้ที่ 3% (ดูตารางประกอบ ความเคลื่อนไหวการปรับเป้าดัชนีหุ้นไทย)

นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย คาดว่าปี 2559 กำไรบริษัทจดทะเบียนไทย(บจ.)เติบโตประมาณ 30 % ได้แรงหนุนสำคัญจากกลุ่มพลังงานเนื่องจากราคาน้ำมันกลับมาฟื้นตัว แต่หากไม่รวมกลุ่มพลังงาน กำไรบจ.จะขยายตัวเพียง 3 %

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Ivestor Confidence Index) ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวลดลง 9.01% หรือมาอยู่ในระดับ 93.48 จากดัชนีเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาที่อยู่ที่ 102.74

ทั้งนี้ดัชนียังอยู่ในกรอบทรงตัว ซึ่งมีปัจจัยลบ คือ นโนบายทางการเงินธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ขณะที่ปัจจัยบวก คือ นโยบายภาครัฐ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ที่ช่วยหนุนความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หมวดอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจมากที่สุด คือ บริการรับเหมาก่อสร้าง และหมวดธนาคาร เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด

นางวรวรรณ กล่าวว่า นักลงทุนยังคงมีความกังวลต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังคงฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากผลกระทบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกที่ยังคงไม่สามารถคาดการณ์ได้ โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทย เช่น สหรัฐฯ และจีน ทำให้เศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพามาตรการจากภาครัฐเป็นสำคัญ ทั้งมาตรการการสนับสนุนการลงทุน เช่น มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร มาตรการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และมาตรการส่งเสิรมการลงทุน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการประคับประคองการฟื้นตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนภายในประเทศได้

อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ยังต้องติดตาม คือ การลงมติของชาวอังกฤษว่าจะออกจากกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรปหรือไม่ ในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ ที่อาจจะเป็นเหตุให้เฟดยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 14-15 มิถุนายน 2559 โดยความไม่แน่นอนดังกล่าว อาจจะทำให้เกิดความผันผวนต่อค่าเงินปอนด์ และยูโร และน่าจะส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยผันผวนในระยะสั้น จากความผันผวนของค่าเงินบาท ขณะที่ในระยะยาวเมื่อความกังวลหมดไป ตลาดหุ้นไทยก็จะกลับมาสะท้อนต่อปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการเติบโตของบริษัทจดทะเบียน

ด้านนายสมประวิณ มันประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่จะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยมองการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ราว 3.2% จากแรงขับเคลื่อนของภาคบริการ และภาครัฐเป็นหลัก

ส่วนภาคการเกษตรมีสัญญาณที่ดีขึ้น จากภัยแล้งที่บรรเทาลง จากปัจจัยบวกที่มีมากขึ้น มองว่าน่าจะเริ่มเห็นสัญญาณของการปรับเพิ่มขึ้นของจีดีพี หลังตัวเลขไตรมาส 1/2559 ออกมาค่อนข้างดี และการฟื้นตัวอย่างช้าๆของเศรษฐกิจไทย จะเห็นได้จากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับขึ้น รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อน โดยยังมีวงเงินเหลืออยู่ราว 3 แสนล้านบาท ที่สามรถเบิกใช้ได้ในปีงบประมาณนี้ ซึ่งรัฐบาลก็มีกระสุนเหลืออยู่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น นอกเหนือจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว ผ่านโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,164 วันที่ 9 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2559