กรมควบคุมโรคหารือผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศฯขับเคลื่อน พ.ร.บ.โรคจากการประกอบอาชีพฯ

07 มิ.ย. 2559 | 06:59 น.
วันนี้ (7 มิถุนายน 2559) ที่โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ  นายแพทย์อำนวย  กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “กฎหมายระหว่างประเทศ ด้านการป้องกันควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม” (International Legislation Consultation Seminar on Prevention and Control of Occupational and Environmental Diseases) ว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการรับฟังสถานการณ์การพัฒนากฎหมายโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศและผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ เพื่อนำข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ มาเป็นแนวทางในการจัดทำ (ร่าง)พระราชบัญญัติโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม

นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยมีประชากรที่มีงานทำ 38.3 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบ 21.4 ล้านคน หรือร้อยละ 55.9 และที่เหลือเป็นแรงงานในระบบ 16.9 ล้านคน หรือร้อยละ 44.1 ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด (ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2557)  ซึ่งโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม เช่น การทำเหมืองแร่ เป็นต้น และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีใหม่ เช่น ปิโตรเคมี นาโนเทคโนโลยี ซึ่งทำให้มีผลต่อสุขภาพต่อแรงงานและชุมชนสิ่งแวดล้อม  อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการเพื่อป้องกันและควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม โดยมียุทธศาสตร์และแผนงาน/โครงการต่างๆ แต่ยังคงมีปัญในการเข้าไปดำเนินการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่มีกฎหมายและอำนาจในการเข้าไปดำเนินการดังกล่าว ที่สำคัญยังไม่มีการกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ดำเนินการพัฒนากฎหมายโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม โดยมีการทบทวนข้อมูลทางวิชาการ และพิจารณาการมีส่วนร่วมทั้งนายจ้างและลูกจ้าง และข้อมูลอื่นๆ อย่างรอบด้าน  เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพของประชาชนทั้งในสถานประกอบการ และในชุมชน  ซึ่งกรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการจัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำร่าง พ.ร.บ.โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นปี 2559 ที่ผ่านมา จากนั้น ได้ประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2559  ส่วนในครั้งนี้ เป็นการประชุมผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ เพื่อรับฟังสถานการณ์ การพัฒนากฎหมายโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศ  นอกจากนี้ ยังมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ และหลังจากการยกร่างจะมีการจัดทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นในเดือนกรกฎาคม 2559 นี้  จะมีการปรับปรุงร่างให้ครอบคลุมก่อนที่จะนำเสนอผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และนำเสนอต่อรัฐสภา/สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีพิจารณา ต่อไป

นายแพทย์อำนวย กล่าวอีกว่า สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศและผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ เพื่อรับฟังข้อมูลสถานการณ์ การพัฒนากฎหมายและกลไกการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม การอภิปรายร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ การหารือกรณีศึกษามาตรการความปลอดภัยและกลไกทางกฎหมาย ด้านผลกระทบต่อสุขภาพจากการประกอบอาชีพ และด้านผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดทำแผนที่การพัฒนามาตรการและกลไกทางกฎหมาย ด้านการป้องกันควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการถอดบทเรียน เพื่อนำข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ มาเป็นแนวทางในการจัดทำ(ร่าง)พระราชบัญญัติโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ต่อไป โดยผู้เข้าร่วมประชุมเป็นผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การอนามัยโลกประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(WHO SEARO) องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย(WHO Thailand) องค์การแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย(ILO Thailand) องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมสหประชาชาติประจำประเทศไทย(UNEP Thailand) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ที่สำคัญ พ.ร.บ.โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์ในการดูแลสุขภาพของประชาชนทั้งในสถานประกอบการ ชุมชน และสถานประกอบการเอง ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย และพยาบาลอาชีวอนามัย เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล ควบคุม ป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น กรณีการเกิดโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ทันที หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422