พลังประชารัฐ ร่วมปั้นอาชีวศึกษาติดดาว

07 มิ.ย. 2559 | 04:52 น.
ทีมประชาสัมพันธ์คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ (E-2) ออกบทรายงานเรื่อง“พลังประชารัฐ ร่วมปั้นอาชีวศึกษาติดดาว”

“ประเทศชาติกำลังต้องการคนสายอาชีวะ รัฐบาลต้องการให้อาชีวะเร่งผลิตกำลังคน”

เป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยกำลังพลที่มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ตามแนวทางที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ได้ประกาศไว้

บุคคลากรสายอาชีวศึกษาจึงเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ทุกภาคส่วนกำลังให้ความสำคัญและใส่ใจดูแล เนื่องจากเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและมีความ “พร้อม” มากที่สุดในการก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน เพราะระบบอาชีวศึกษา สามารถสอนให้นักเรียน นักศึกษามีองค์ความรู้ที่จะนำไปประกอบอาชีพได้ทันทีตั้งแต่อายุเพียง 17-18 ปี ขณะที่การเรียนการสอนในสายสามัญนั้น นักเรียน นักศึกษา ยังจะต้องใช้เวลาในการเตรียมความพร้อมมากกว่านักเรียนสายอาชีวะอีกประมาณ 4-5 ปี เป็นอย่างน้อย

“เมื่อเรามองดูจะเห็นว่าการวางแผนการศึกษาในประเทศไทย อาจไม่สอดรับกับทิศทางการพัฒนาของประเทศ” ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา และอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในเวทีเสวนา “Thai- Austrian Conference on TVET” ซึ่งจัดขึ้น โดย คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ ซึ่งในเวทีดังกล่าวได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นจากนักวิชาการ ผู้บริหารจากประเทศไทยที่กำกับดูแลงานอาชีวศึกษา ร่วมกับตัวแทนจากกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานด้านการพัฒนาศักยภาพและกำลังคนของออสเตรีย ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีมาตรฐานด้านการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งการวางหลักสูตรการศึกษาสายอาชีพได้ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

“เป็นเรื่องดีที่วันนี้ทุกคนเข้าใจว่า อาชีวะเป็นระบบการศึกษาที่สำคัญสำหรับตลาดการจ้างงานในประเทศไทย เรากลับมาเขย่าระบบการศึกษาในบ้านเราอีกครั้ง ว่าการศึกษาเป็นเรื่องของอาชีพและชีวิต เราจะเห็นว่าคนไทยโบราณออกแบบการศึกษามาเพื่อชีวิตและอาชีพอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อคุณวุฒิเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเป้าหมายคือทำอย่างไรจึงจะผลิตบุคคลากรที่พร้อมทำงานในสายอาชีพได้ อย่างช่างเทคนิคหรือวิศวกร ผมมองว่าระบบการศึกษาไทย เราลงทุนกับการศึกษาหลักสูตรพื้นฐานเยอะ ถ้าเราเทียบสัดส่วนเด็กที่เดินเข้าโรงเรียนประถม 10 คน จะมี 1 คนที่ลาออกโดยไม่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน อีก 5 คนจะจบมัธยมต้น ซึ่งก็ไปทำอาชีพที่ไม่ได้ใช้ทักษะอะไรมาก เพราะไม่ได้ถูกฝึกอาชีพมาจากสายสามัญ ส่วนอีก 4 คนที่เหลือ กับ 8 สาระการเรียนรู้ มันไม่ได้ช่วยอะไรกับการประกอบอาชีพเลย ส่วนหนึ่งก็จะจบแค่มัธยมปลายแล้วก็ออกมาทำงานเหมือนคนที่จบแค่มัธยมต้น และสุดท้ายเราจะเหลือเด็กออกมาจริงๆ แค่ 1-2 คน ที่จะเข้าสู่ระบบอุดมศึกษา ถูกต้องที่บอกว่าการศึกษาคือการลงทุน แต่เราจะทำอย่างไรกับการทุ่มเงินลงไปแล้วไม่มีมูลค่าเพิ่มมากเท่าที่เราทุ่มเทเลย” ดร.กฤษณพงศ์ เปิดประเด็นชวนคิด และกล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของหลักสูตรอุดมศึกษา เด็กไทยส่วนใหญ่ก็จะมุ่งเน้นทางเลือกในสายสังคมศาสตร์ มากกว่าสายวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม นั่นจึงยิ่งซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ในกระบวนการทำงานที่ต้องใช้ทักษะทั้งการผลิต และการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ

ผนึกเอกชนยกระดับคุณภาพวิชาชีพ คำตอบประชารัฐ

พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เน้นย้ำความจำเป็นของการพัฒนาและ “สร้าง” บุคคลากรสายอาชีวศึกษา และความจำเป็นที่จะต้องยกระดับมาตรฐานการเรียนการสอน การออกแบบหลักสูตรสายอาชีพ รวมทั้งการเปิดโอกาสให้นักเรียนในสาขาวิชาอาชีวศึกษาได้พัฒนาฝีมือในการทำงานเพื่อให้พวกเขามีความพร้อมก่อนเดินหน้าสู่โลกแห่งมืออาชีพ

“การสร้างความร่วมมือในระดับประเทศรวมถึงระดับนานาชาติเป็นแนวทางในการทำงานข้อหนึ่งของเรา ซึ่งหนึ่งในประเทศที่มีความร่วมมือด้านการศึกษามาอย่างยาวนานในระดับอุดมศึกษาและระดับอาชีวศึกษากับไทย คือ ออสเตรีย ซึ่งเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดระบบการศึกษาอาชีวศึกษาแบบทวิภาคี หรือ Dual Education ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีในห้องเรียนและเรียนภาคปฏิบัติในสถานประกอบการ โดยได้รับค่าตอบแทนด้วย จึงทำให้นักศึกษาของออสเตรียเลือกเรียนสายอาชีพกว่าร้อยละ 80 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก”

ด้าน นายเอนโน่ โดรเฟนิก เอกอัคราชทูตออสเตรียประจำประเทศไทย ได้กล่าวถึงจุดเด่นของออสเตรีย ว่าเป็นประเทศที่มีการพัฒนาแรงงานฝีมือในสายอาชีวศึกษาทั้งด้านวิศวกรรมและทักษะแรงงาน การฝึกอาชีพในภาควิชาอาชีวศึกษาโดยความร่วมมือกับภาคเอกชนแบบทวิภาคี คือมีธุรกิจที่เปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาเข้าไปฝึกงานจริง ได้รับค่าตอบแทน และมีอัตราจ้างงานรองรับ เป็นเครื่องดึงดูดให้เด็กๆ ตัดสินใจมาเรียนสายอาชีพกันเป็นจำนวนมาก

“แนวทางนี้จึงถือเป็นรากฐานที่จำเป็นในการสร้างคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ และเป็นเป้าหมายสำคัญของชาติ”

2 แนวทางสู่การสร้าง “จุดแข็ง” อาชีวศึกษา

สำหรับออสเตรียนั้น เป็นประเทศที่ใช้ระบบการศึกษาสายอาชีพ 2 แนวทาง ได้แก่ การศึกษาควบคู่ไปกับการฝึกอาชีพ ซึ่งจะเป็นการเรียนในโรงเรียน และฝึกงานในองค์กรเอกชนที่อาสาเข้ามาเป็นโรงเรียนแห่งที่สองให้กับเด็กๆ และโรงเรียนอาชีวศึกษาขั้นสูงในแบบออสเตรีย โดยระบบนี้ มี Thai-Austrian Technical College หรือวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ซึ่งเป็นความร่วมมือภาคการศึกษาอาชีวะระหว่างประเทศไทยกับรัฐบาลออสเตรีย ด้วยการนำหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอนมาใช้ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้สายเทคนิคระหว่างกันเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว

ดร.คริสตอฟ มัทซ์เนทเทอร์ รองประธานหอการค้าออสเตรีย กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “ในวันที่ทั่วโลกกำลังก้าวสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 การพัฒนาคนเป็นเป้าหมายสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่มีการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจอย่างไม่หยุดนิ่งอย่างประเทศไทย วันนี้ภาคเอกชนเองต้องการคนขับเคลื่อนที่มีความรู้  คือ บรรดาพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานด้านการผลิตที่ต้องมีฝีมือแรงงานและมีทักษะเชิงเทคนิคขั้นสูง อย่างงานวิศวกรรมต่างๆ เพราะงานของพวกเขาไม่ใช่แค่การผลิต แต่ต้องผลิตอย่างสร้างสรรค์ เรียนรู้การแก้ปัญหาและเดินหน้าสู่อนาคตด้วย เราถึงจะแข่งขันได้”

ด้าน นายโทมัส เมเอ่อร์ ผู้อำนวยการสถาบันการวิจัยคุณภาพและการฝึกอบรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ประเทศออสเตรีย ได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนเปิดประตูต้อนรับนักเรียนอาชีวศึกษาเข้าทำงาน โดยย้ำว่าบุคคลากรกลุ่มนี้คือกำลังสำคัญในการพัฒนากระบวนการผลิตให้เดินไปข้างหน้าอย่างสร้างสรรค์

“ในส่วนของโรงเรียนก็ต้องให้ความสำคัญกับการอบรมครู ครูต้องมีประสบการณ์ ต้องเข้าใจอุตสาหกรรม ครูหลายคนเองก็มาจากภาคอุตสาหกรรม แต่ไม่ง่ายที่จะหาครูที่มีคุณภาพมาได้ จึงต้องกระตุ้น และพัฒนาศักยภาพของครูตลอดเวลา ขณะเดียวกัน บริษัทเอกชนที่เข้ามาทำหลักสูตรทวิภาคี ก็ถือเป็นครูของเด็กๆ เหมือนกัน แต่ภาคเอกชนสามารถจะกำหนดว่าต้องการเด็กแบบไหนและเข้ามาช่วยฝึกทักษะให้เด็กตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน นักศึกษา พอจบแล้วก็สามารถรับเข้าทำงานได้ทันที ซึ่งในออสเตรีย หอการค้าจะเป็นผู้ที่เข้ามาดูแลเรื่องภาพรวมการจัดหลักสูตรการฝึกงานอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการประสานงานหาสถาบัน การจัดการสอบเพื่อรับรองคุณวุฒิให้เด็กๆ มีความพร้อมที่สุดก่อนออกสู่โลกของการทำงาน”

เรียนไปด้วยกัน “Dual-together”

นายถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แนะแนวทางสำหรับภาคเอกชนในการทำงานร่วมกับการศึกษาภาคอาชีวศึกษา โดยระบุว่า ทั้งสองฝ่ายจะต้องออกแบบหลักสูตร รวมทั้งเกณฑ์ในการประเมินและคุณวุฒิที่เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการทั่วประเทศ โดยประเด็นที่ต้องทำงานร่วมกัน ได้แก่ ระบบผลตอบแทน หรือ compensation ที่จะต้องจัดจ่ายอย่างเป็นธรรมมีมาตรฐานกลาง เป็นการจ่ายผลตอบแทนตามระดับของงานเป็นหลัก และไม่มองข้ามความพิเศษของระบบการศึกษาอาชีวะ และระบบการต่อยอดและเติบโต หรือ career path

“จบสายอาชีพมาก็โตได้ เป็นซีอีโอได้ เป็นผู้จัดการ เป็นผู้บริหารได้ เพียงแต่เราต้องฝึกให้พนักงานมีความตื่นตัวที่จะเรียนรู้เสมอ แล้วเขาจะพัฒนาตัวเองไปพร้อมๆ กับองค์กร”

ประการสุดท้ายคือ การสร้างวัฒนธรรมการทำงาน หรือ culture ให้กระบวนการทำงานเป็นไปอย่างเท่าเทียมในองค์กร

นอกจากนั้น ในสถาบันการศึกษาอาจสามารถนำระบบการทำงานของต่างประเทศมาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นระบบของญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรีย หรือเยอรมัน

“ทุกระบบมีข้อดี แต่เราต้องนำมาผูกรวมกันแล้วเลือกใช้ให้เหมาะสมกับบริบทขององค์กรไทยและคนไทย แล้วการทำงาน การเรียนไปด้วยกัน ทั้งระบบการศึกษากับองค์กรเอกชนที่เข้ามาก็จะไปได้อย่างราบรื่น วันนี้ผมคิดว่าเราต้องช่วยกัน อาชีวศึกษาเชิญองค์กรเอกชนเข้ามา สิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมคือรัฐบาลท้องถิ่นเองก็จะต้องเข้ามามีบทบาท ในต่างประเทศรัฐบาลท้องถิ่นจะตั้งวิทยาลัยอาชีวศึกษา แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเปิดทุกสาขา ถ้าจะทำคือเปิดในสาขาที่ท้องถิ่นต้องการ ต้องช่วยกันดูแล อะไรที่สนับสนุนได้ ผลักดันได้ระบบทั้งหมดก็จะเดินไปด้วยกัน” นายถาวรกล่าว

ส่วน นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะกรรมการสานพลังประชารัฐด้านการยกระดับคุณภาพชีวิต เป็นอีกคนหนึ่งที่ตระหนักถึงการขับเคลื่อนและพัฒนาบุคคลากรด้านอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพ เขากล่าวสรุปว่า ความรู้ที่ได้จากการจัดงานเสวนาในครั้งนี้ จะเป็นการเปิดประตูบานใหม่เพื่อต่อยอดการเชื่อมโยงการศึกษาและพัฒนาคุณภาพอาชีวศึกษาร่วมกันกับทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อเร่งผลิตกำลังพลอาชีวะให้ได้ตามเป้าหมายของภาครัฐในเร็ววัน