วิจัยตลาดกับการพัฒนาเมือง

12 มิ.ย. 2559 | 00:00 น.
ปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำการตลาดมีความสำคัญต่อการพัฒนาในทุกประเภทธุรกิจ โดยเครื่องมือทางการตลาดที่นิยมนำมาใช้ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการพัฒนาก็คือ "การวิจัยตลาด" ดังที่ซุนวูเคยกล่าวไว้ รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง การพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็เช่นกัน การวิจัยตลาดเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพมากทีเดียว ที่จะช่วยให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เข้าถึงความคิดและพฤติกรรมของกลุ่มผู้บริโภค จนสามารถนำมาพัฒนาได้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มที่เราศึกษานั่นเอง (ถ้าเรารู้ว่าเขาต้องการอะไร เราก็ทำได้ถูกใจจริงมั้ยคะ?)

ฉบับนี้ผู้เขียนอยากจะขอพูดคุยถึงประเด็นการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่กำลังเป็นกระแส จะเป็นที่ไหนไปไม่ได้เลยถ้าไม่ใช่ "โครงการสถานีขนส่งสายเหนือและสายอีสานแห่งใหม่" (หมอชิต 3) ถ้าอยากรู้ว่าประชาชนตาดำๆ จะมีส่วนได้ส่วนเสียยังไง มาฟังกันโดยปกติแล้วก่อนจะทำการพัฒนาโครงการขึ้นมาย่อมต้องมีการศึกษาข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้มุมมองที่หลากหลาย โครงการนี้ก็เช่นกัน มุมมองหนึ่งที่ขาดไม่ได้นั่นก็คือ "นักพัฒนาเมือง" ซึ่งมักจะมองว่าเป็นเรื่องดีที่จะกระจายศูนย์รวมของการเดินทางสาธารณะออกไปยังชานเมือง เพราะนอกจากจะช่วยพัฒนาพื้นที่นอกเมืองแล้ว ยังช่วยบรรเทาปัญหารถติดในเขตเมืองอีกด้วย

สำหรับฐานะนักการตลาดอยากให้ภาครัฐหันมาให้ความสนใจในการวิจัยตลาดมากขึ้น เพื่อให้เข้าใจถึงพฤติกรรมผู้บริโภค ว่าจริงๆ แล้วประชาชนผู้ใช้บริการคาดหวังอะไรกับ "หมอชิต 3" ถ้าได้มีโอกาสอ่านคอมเมนต์ผ่านสังคมออนไลน์ ซึ่งถือเป็นแหล่งข่าวของเสียงประชาชนในยุคนี้เลยก็ว่าได้ จะพบว่า ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ภาครัฐควรคำนึงถึงในอันดับต้นๆ ก็คือ ค่าเดินทางที่ (อาจจะ) สูงขึ้น ในส่วนนี้ภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการรองรับ เช่น การสร้าง “Bus Feeder Terminal” ขึ้นที่ “บางซื่อ Grand Station” นอกจากจะเป็นจุดเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างใจกลางกรุงเทพฯ กับหมอชิต 3 รวมถึงสายใต้ และเอกมัยด้วย

โดยให้ Bus Feeder Terminal นี้ เป็นศูนย์กลางการกระจายผู้โดยสารไปยังสถานีขนส่งต่างๆ ใครบ้านอยู่บางนา ต้องไปหมอชิต 3 ก็นั่งรถไฟฟ้ามาลงที่นี่ ประหยัดทั้งเวลาทั้งเงิน ถ้ามองลึกลงไปถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวคงไม่ทราบหรอกค่ะ ว่าจะไปจังหวัดไหน ต้องไปขึ้นรถทัวร์ที่สถานีใด อย่างน้อยนักท่องเที่ยวเหล่านี้ก็ยังได้มารวมกันที่นี่ เพื่อเลือกวางแผนการเดินทางอย่างถูกต้อง ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวเลยเห็นไหมคะ ประชาชนก็พอใจ นักท่องเที่ยวก็มีความสุขกับการเดินทาง

ข้อดีของ Bus Feeder Terminal นี้ นอกจากจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายแล้ว ยังช่วยลดปัญหารถติดได้มาก ในทางกลับกันถ้าไม่มีการเตรียมการล่วงหน้า ผู้โดยสารส่วนใหญ่ก็จะต้องใช้บริการรถแท็กซี่หรือรถยนต์ส่วนตัว อาจทำให้เลวร้ายกว่าเดิม จะกลายเป็น รถติด - ไกล - แพงมาก ประชาชนก็จะเกิดคำถามว่า "เราจะแก้ปัญหาหรือเพิ่มปัญหากันแน่?"

จากตัวอย่างที่กล่าวมา ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงการนำการวิจัยตลาดมาใช้กับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เข้าถึงความต้องการของประชาชน หวังว่าบทความสั้นๆ นี้พอจะตอบคำถามได้บ้างนะคะ ว่าการวิจัยตลาดมีประโยชน์ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างไร และการจะเข้าไปนั่งในใจประชาชนเราควรยืนอยู่ในมุมไหน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,164 วันที่ 9 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2559