ภารกิจยกมาตรฐานสินค้า พะยี่ห้อ‘องค์การอาหารและยา’ขึ้นชั้นโมเดิร์นเทรด-ค้าออนไลน์

11 มิ.ย. 2559 | 04:00 น.
บทบาทภารกิจของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว. )ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 เป็นต้นมาถึงปัจจุบันได้โฟกัสไปยัง 3 เรื่องหลัก คือ 1. เรื่องการบ่มเพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ( SMEs )รายใหม่หรือกลุ่ม startup , 2. การช่วยกลุ่ม SMEs ที่ดำเนินกิจการอยู่แล้ว (Strong/Regular SMEs) ให้กลับมาดำเนินงานได้เต็มศักยภาพ และ 3.ฟื้นฟูกลุ่มที่ประสบปัญหาทางธุรกิจ (Turn Around SMEs) และเพื่อต่อยอดจากภารกิจที่ สสว.ได้ดำเนินงานมา แผนงานในครึ่งหลังจึงให้ความสำคัญในเรื่องของการยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการ

ยกระดับมาตรฐานสินค้า SMEs

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการ สสว. ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า โครงการที่สสว.ดำเนินไปส่วนใหญ่เป็นการมุ่งช่วยให้เอสเอ็มอีขายสินค้าได้ เรื่องของการสร้างโปรดักต์และนวัตกรรมต่างๆเพื่อให้สินค้าเป็นที่โดนใจของผู้บริโภค แต่จะโดนใจอย่างไร หากสินค้าไม่มีมาตรฐาน ผู้บริโภคไม่มั่นใจก็ไม่สามารถขายของได้ ดังนั้นแผนงานในครึ่งปีหลังจึงมุ่งเน้นไปในเรื่อง "การยกระดับมาตรฐานสินค้า" โดย สสว.กำลังออกโครงการใหม่ ว่าด้วยเรื่องการยกระดับมาตรฐานสินค้าสำหรับเอสเอ็มอี เพราะสินค้าวิสาหกิจชุมชนหรือโอท็อปก็ดี ที่ขายอยู่จำนวนมากยังไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ผ่าน อย.(สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา)

กลุ่มสินค้าที่สสว.จะไปโฟกัสเป็นอันดับแรกและถือเป็นส่วนใหญ่ที่เอสเอ็มอีผลิต คือ กลุ่มอาหารการเกษตร ,เกษตรแปรรูป และเครื่องสำอาง ซึ่งจากการพูดคุยกับกรมการพัฒนาชุมชน พบว่า มีโอท็อปเฉพาะ 5-6 ดาวเท่านั้นหรือประมาณ 10% ที่ได้เครื่องหมาย อย. ซึ่งถือว่า น้อยมาก"

สำหรับมาตรฐานสินค้าหรืออย. มีความจำเป็นอย่างไร ? นางสาลินี กล่าวว่า ผู้ผลิตทั้งที่เป็นเอสเอ็มอีและโอท็อป แม้จะไม่มีปัญหาเรื่องการผลิตและช่องทางการจำหน่าย แต่ก็ยังทำตลาดในรูปแบบเดิมๆ คือ ไปเปิดตัวสินค้าตามงาน exhibition (งานแสดงสินค้า ) แต่การจะเข้าถึงช่องทางการจำหน่ายที่ถาวรยั่งยืน หรืออินเทรนด์ตามกระแสนิยมของโลกยังมีน้อยมาก อาทิ จำหน่ายในโมเดิรน์เทรดหรือร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า,ตลาดต่างประเทศ รวมถึงการค้าออนไลน์ ซึ่งสินค้าไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้มาตรฐาน อย. เสียก่อน

โชว์ Jd.com ประกาศรับซื้อ

"ยกตัวอย่าง ตลาดประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดของไทยเวลานี้ มีบริษัท Jd.com ( จินต่ง ) ตลาดค้าออนไลน์ ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในจีน รองจาก "อาลีบาบา" จะเข้ามาตั้งเอเยนต์ในประเทศไทย และพร้อมจะซื้อสินค้าเอสเอ็มอีแบบซื้อขาด โดยจะจัดส่งต่อไปขายทางช่องทางจำหน่ายออนไลน์ของเขาเอง แต่ขอว่าสินค้าไทยต้องผ่านมาตรฐานได้ อย.ก่อน และเมื่อเข้าประเทศจีนแล้ว Jd.com จะเป็นธุระขอ certified หรือ อย.ในประเทศจีนให้เอง"ผอ.สสว.กล่าวและว่า

ดังนั้นหากสินค้าไทยยังไม่ได้มาตรฐาน อย. ก็จะไปไหนต่อไม่ได้ และถึงจะไปได้ก็ไปในตลาดที่ไม่เข้มงวด แต่เชื่อว่าความไม่เข้มงวดในที่สุดก็จะหายไป ไม่เกิน 5 ปี ประเทศเพื่อนบ้านเราสินค้าของเขาก็จะต้องมีมาตรฐาน อย. เหมือนกัน ดังนั้นอย่าไปรอถึงช่วงนั้น ไม่เช่นนั้นสินค้าไทยจะขายสู้ไม่ได้

สสว.พร้อมช่วย/สนับสนุนเงินทุน

ผอ.สสว.กล่าวต่อว่า สิ่งที่ สสว.พยายามทำตอนนี้ คือ การให้เอสเอ็มอีที่เป็นสมาชิกเข้าโครงการ "ประเมินตัวเอง SMEs Scoring " โดยดูว่าสินค้าที่มีอยู่ได้มาตรฐาน อย.หรือยัง อาจจะได้แล้วบ้างหรือยังไม่เคยได้เลย ถ้าไม่ได้ตัวสถานประกอบการ เคยได้รับการประเมินไหม ถ้ายังไม่เคย ต้องการความช่วยเหลือจากสสว.ไหม ตรงนี้เราก็จะเข้าช่วย โดยจะเข้าไปช่วยในเรื่องของการเตรียมความพร้อมให้เพื่อให้สถานประกอบการอยู่ในรูปแบบที่อย.จะให้ผ่านหรือให้การรับรอง "ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่าการจะได้ อย. สถานประกอบการหรือสินค้าที่จะผ่านได้ อย.จะต้องออกมาในรูปแบบไหน ผ่านการตรวจ check list อะไร โดยต้องไปศึกษาจากสาธารณสุขจังหวัดซึ่งเป็นตัวแทนของอย.ก่อน และทำการเช็กลิสต์ออกมา ซึ่งทางสสว.จำเป็นจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจ และหากต้องการให้ปรับปรุงแต่ต้องใช้ทุน สสว.จะมีวงเงินจำนวนหนึ่งพร้อมให้การสนับสนุน ขณะเดียวกันต้องให้ความรู้กับผู้ประกอบการที่สนใจ ซึ่งสสว.ได้ประสานกับเลขาธิการ อย. มาช่วยให้คำแนะนำ"

ตั้งเป้าสินค้าทุกตัวต้องผ่าน อย.

นางสาลินี กล่าวว่า เป้าหมายสูงสุดของ สสว.ต้องการให้สินค้าทุกชนิดผ่าน อย.รวมถึงสินค้าใหม่ที่จะผลิตออกมา เพราะผู้ประกอบการแม้จะผลิตสินค้าได้จำนวนหนึ่งผ่านมาตรฐานอย.อยู่แล้ว แต่หากจะสนับสนุนให้มีนวัตกรรมต่อหรือมีการผลิตสินค้าออกมาใหม่ก็จะต้องไปขออย.อีก เราจึงอยากสนับสนุนให้สินค้าทุกตัวที่ผลิตออกมาขายได้ รวมถึงสินค้าวิสาหกิจชุมชนที่อยู่ในเกรดเอ เกรดบี ทุกๆตัวจะต้องผ่านมาตรฐาน อย.ได้ทั้งหมดแม้จะต้องใช้เวลานาน

ปัจจุบันสสว.มี Regular SMEs ที่เป็นสมาชิก 1 หมื่นรายและในจำนวน 1 หมื่นราย เป็นภาคผลิตสัดส่วน 50% และภาคบริการอีก 50% เราตั้งเป้าหมายว่า ภาคผลิตจะต้องได้มาตรฐาน อย.ทั้งหมดก่อน และต้องได้ในทุก Item ซึ่งการจะเริ่มก็ต้องมาจากผู้ประกอบการที่มีความต้องการก่อน เพราะการจะยกระดับสินค้า/สถานประกอบการให้ได้มาตรฐาน นอกจากต้องใช้ความพยายามแล้วยังต้องมีทุนระดับหนึ่ง จึงต้องเริ่มจากคนที่มีใจก่อน และหากผ่านตรงนี้ได้ เราก็สามารถนำผู้ประกอบการเข้าสู่โมเดิร์นเทรด ไปสู่การค้าออนไลน์ที่ไม่มีจำกัดได้ ไม่เช่นนั้นแล้วสินค้าก็จะขายได้เฉพาะตามงานแสดงสินค้า งานโอท็อป หรือตามร้านค้าประชารัฐเท่านั้น และนี่คือภารกิจหลักที่จะทำต่อ อย่างน้อยก็จนกว่าตำแหน่งผู้อำนวยการสสว.จะหมดวาระ ( 30 ก.ย. 60)

สู่มาตรฐานฮาลาล-อาหารสุขภาพ

นางสาลินี กล่าวเพิ่มอีกว่า มาตรฐานของอย. เป็นเพียงมาตรฐานกลางๆ ยังมีมาตรฐานเฉพาะ เช่น อาหารฮาลาล ซึ่งที่ผ่านมาสสว.ต้องหารือกับภาคีอื่นๆ อาทิ องค์กรมุสลิมกลาง และศูนย์วิทยาศาสตร์ เพื่อจะหาทางว่าจะทำอย่างไรให้ได้ certified ของฮาลาลในที่ต่างๆให้กว้างขวางมากขึ้น เพราะไม่เพียงการผลิตขายในประเทศ ,ขายในประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะในประเทศที่เข้มงวดมาก อย่างในตะวันออกกลาง ยิ่งจะต้องได้มาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับ

ในเรื่องนี้เรากำลังศึกษาเพื่อหาคำตอบที่ชัดเจนว่า มาตรฐานสากลที่เขายอมรับกัน มีใครบ้างในประเทศไทยที่เป็นเจ้าของตรา certificate จากเมื่อก่อนที่ต้องไปมาเลเซียกันหมด โดยจะศึกษาร่วมกับผู้รู้ องค์กรที่เราร่วมเป็นภาคี เช่น ธนาคารอิสลาม เพื่อจะให้การ certified กว้างขวางมากขึ้น เพราะตลาดฮาลาลเป็นตลาดใหญ่มาก

นอกจากนี้แล้วอาหารสุขภาพ สสว.ก็ให้ความสำคัญกับมาตรฐานหรือการได้รับการรับรองคุณภาพ (certified) เช่น ข้าวออร์แกนิก ที่ปลูกมากในจังหวัดอำนาจเจริญและยโสธร ปัจจุบันในประเทศไทยมีเพียง 2 หน่วยงานที่ทำการ certified กลุ่มประเภทนี้ คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ ขณะนี้ สสว.ได้พยายามประสานติดต่อให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มาเปิดศูนย์ certified ที่จังหวัดยโสธร

"ตลาดผู้ซื้อในกลุ่มซื้อสินค้า high value แม้จะมีราคาแพง แต่ยังเป็นที่ต้องการของตลาดมาก เป็นสินค้าที่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่ปัญหาคือ เราผลิตไม่ทัน เช่น ตลาดกลุ่มคนป่วย คนชั้นกลาง กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ตลาดอียู และสหรัฐ ฯ ซึ่งเราอยากทำเป็นโซเชียล เอนเตอร์ไพรส์ เพื่อการ certified โดยปัจจุบันก็ร่วมกันทำอยู่กับ ธ.ก.ส. และภาคีอื่น ๆ" ผอ.สสว. กล่าวทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,164 วันที่ 9 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2559