ชมรมแพทย์ชนบท เครือข่ายผู้ป่วย ยื่นหนังสือถึง คณะกรรมการกฤษฎีกา

06 มิ.ย. 2559 | 10:01 น.
“ชมรมแพทย์ชนบท” พร้อม “เครือข่ายผู้ป่วย” ยื่นหนังสือถึง “มีชัย ฤชุพันธ์” ขอให้กฤษฎีกายึดหลักการตีความคุณสมบัติเลขาธิการ สปสช.ตามกฎหมาย ให้ตรงตามบรรทัดฐานการตีความก่อนหน้านี้ หวั่นมีการเมืองเข้าแทรก ระบุ กฤษฎีกาต้องทำหน้าที่ยึดโยงพันธกิจ เป็นหลักการบริหารรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ พร้อมฝากถึงบอร์ด สปสช.ต้องคัดเลือกเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ คำนึงถึงประชาชน 48 ล้านคน

วันนี้ (6 มิ.ย.2559) นพ.วชิระ บถพิบูลย์ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท พร้อมด้วยเครือข่ายผู้ป่วย และเครือข่ายภาคประชาชน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 ซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน นพ.วชิระ กล่าวว่า เป็นการยื่นหนังสือเพื่อขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกายึดหลักการตีความคุณสมบัติเลขาธิการ สปสช.ตามข้อกฎหมาย เนื่องจากมีข่าวเล็ดรอดว่า มีผู้สมัครที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใกล้ชิด รมว.สาธารณสุข จึงมีการแทรกแซง ร้องขอจากฝ่ายการเมืองโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขอให้มีการตีความว่าไม่ขาดคุณสมบัติตามกฎหมาย

ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยปรัชญาพันธกิจถูกระบุให้เป็นหน่วยงานที่ให้คำแนะนำ ชี้ทางการใช้อำนาจทางปกครอง เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อบุคคลคณะใดคณะหนึ่ง และที่ผ่านมาเคยมีการตีความในลักษณะนี้ของผู้สมัครเลขาธิการ สปสช,มาแล้วถึง 3 ครั้ง คือ กรณีของ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ผู้บริหารมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นเพื่อการพัฒนา นพ.อำนวย กาจีนะ ในช่วงดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.พินิจ หิรัญโชติ ที่เป็นคู่สัญญากับ สปสช. โดยเป็นคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 31 (12) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 แต่การเบี่ยงเบนคำตัดสินของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 10 ต้องโยนคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น เป็นการใช้ดุลพินิจอิสระหรือใช้บรรทัดฐานกฎหมายตัดสิน และเป็นการดำเนินการตามความต้องของการเมืองหรือไม่ เหล่านี้กฤษฎีกาต้องมีคำตอบใหกับสังคม

สาเหตุที่มีความพยายามผลักดันให้มีการคัดเลือกผู้สมัครจากฝ่ายการมือง นพ.วชิระ กล่าวว่า เป็นขบวนการที่มีมานานแล้วเพื่อทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสู่ระบบการสงเคราะห์ กลายเป็นระบบอนาถา ซึ่งเป็นประเด็นที่ท้าทายมาตลอด 14 ปีของการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และมีกระบวนการพยายามถ่วงรั้งให้ไม่อยากให้เป็นระบบของประชาชน แต่จะจำกัดให้แต่เฉพาะคนจน มีรายได้น้อย คนคิดแบบนี้สะท้อนว่าขาดความเข้าใจเรื่องความมั่นคงด้านสุขภาพ เพราะไม่ว่าจะคนจนหรือมีเงิน เมื่อเกิดความเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคร้ายแรงและโรคเรื้อรัง ต่างมีความเสี่ยงที่จะได้รับความเดือนร้อนด้วยกันทั้งนั้น

นอกจากนี้ในวันนี้ยังได้เข้ายื่นหนังสือถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อขอให้พิจารณากรณีนี้ด้วย เป็นการยื่นคู่ขนาน อย่างไรก็ตามขอฝากถึงบอร์ด สปสช.ว่า อยากให้การสรรหาเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ ใช้การพิจารณาโดยคำนึงถึงประชาชน 48 ล้านคน ที่ได้รับประโยชน์จากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และไม่อยากให้กังวลต่อค่าใช้จ่ายในระบบ ที่มักถูกกล่าวหามาโดยตลอดว่าโครงการนี้ใช้งบประมาณมาก แต่ข้อเท็จจริงแล้วเรายังใช้ไม่ถึงร้อยละ 1 ของจีดีพี หรือเพียงแค่ร้อยละ 4-5 ของงบประมาณประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ ดังนั้นขอให้สรรหาผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจ คร่ำหวอดในวงการมานาน สามารถอำนวยประโยชน์ให้กับประชาชนได้ ให้สมกับที่ประเทศไทยเป็นแบบอย่างด้านระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระดับนานาชาติ