ทุนต่างประเทศแห่ลง10อุตฯ นิคม-เขต-สวนอุตสาหกรรมรับขยายกิจการ/เปิดใหม่

07 มิ.ย. 2559 | 03:30 น.
ภาคอุตสาหกรรมเห็นสัญญาณบวก หลังกลุ่มทุนนอกตบเท้าเข้าไทย 10 กลุ่ม อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ พบเริ่มขยายกิจการ/เปิดใหม่ “นวนคร” เผย 3 เหตุผลทำพื้นที่คึกคัก “นิคมฯไฮเทค”ลั่นโซนตะวันออก-ปทุมธานี-อยุธยาเนื้อหอม ด้าน “เหมราช”มีดีลลูกค้าใหม่ เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น “อมตะ” ชี้ต่างชาติตอบรับคลัสเตอร์ บีโอไอเผย 4 เดือนแรกยื่นลงทุน 2 แสนล้าน

[caption id="attachment_59867" align="aligncenter" width="700"] ตัวอย่างการลงทุนในกลุ่ม New S-curve หรือ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่ได้ส่งเสริมแล้ว ตัวอย่างการลงทุนในกลุ่ม New S-curve หรือ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่ได้ส่งเสริมแล้ว[/caption]

สืบเนื่องจากที่รัฐบาลออกมาโหมโรงกระตุ้นการลงทุนตั้งแต่ต้นปีที่แล้วต่อเนื่องถึงปัจจุบันทั้งปรับสิทธิประโยชน์การลงทุนใหม่ยกเลิกโซนนิ่งแล้วให้สิทธิประโยชน์ตามคุณค่าโครงการ การกำหนดทิศทางการส่งเสริมที่ชัดเจน มุ่งเน้นใน10กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือการส่งเสริมในรูปแบบคลัสเตอร์ อีกทั้งเดินสายชักจูงการลงทุนในประเทศเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง สอดรับกับเศรษฐกิจครึ่งปีหลังที่เริ่มสะท้อนถึงสัญญาณบวก จึงเป็นตัวเร่งให้นักลงทุนทั้งไทยและเทศเกิดความมั่นใจมากขึ้นโดยเฉพาะทุนทางตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ)

ไทยก้าวสู่ฐานผลิตใหม่ชัดเจนขึ้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานงานส่งเสริมด้านการค้าการลงทุนและสภาธุรกิจและศูนย์อาเซียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า การที่รัฐบาลมีการปฎิรูปเศรษฐกิจของประเทศโดยมุ่งเน้นไปที่ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่หรือ New S-curve โดยให้สิทธิประโยชน์เต็มที่ในช่วงที่ผ่านมานั้น ถือว่าเบื้องต้นประสบผลสำเร็จ เพราะขณะนี้เริ่มเห็นการตัดสินใจเข้ามาลงทุนที่ค่อยๆชัดเจนขึ้นแล้ว (อ่านตารางประกอบ) การส่งเสริมเหล่านี้จะทำให้เกิดคลื่นลงทุนลูกใหม่ที่ใช้แรงงานไม่มากและเป็นอุตสาหกรรมที่ไฮเทคโนโลยีมากขึ้น เป็นการก้าวไปสู่ฐานการผลิตใหม่ของไทยอย่างแท้จริง บวกกับไทยมีข้อได้เปรียบตรงที่กลายเป็นศูนย์กลางการไปสู่ตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)โดยมีความพร้อมหลัก 3 ด้านคือ 1.ไทยเป็นจุดศูนย์กลางทางการค้าของภูมิภาค 2.ไทยมีการเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งทางถนนและรถไฟ 3.ไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิตอลในภูมิภาค จึงเป็นแรงขับเคลื่อนอีกทางที่เร่งให้การลงทุนล็อตใหม่เกิดได้เร็วยิ่งขึ้น

สำหรับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่แบ่งเป็น5 กลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยผลิต โดยการลงทุนกลุ่มนี้จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะกลางในลักษณะการต่อยอด ประกอบด้วย1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ3.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4. การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5. อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร ทั้ง 5 อุตสาหกรรมเดิมนี้ มีขีดจำกัด เพราะไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนา เปลี่ยนรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยี โดยอุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมอนาคตเหล่านี้จะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engines) ของประเทศจึงต้องมีอีก5 กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ประกอบด้วย 1. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics)2. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation andLogistics) 3. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (BiofuelsandBiochemicals) 4. อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital) 5.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)โดยบีโอไอให้สิทธิประโยชน์จูงใจเต็มที่ อีกทั้งมีการปรับกฏระเบียบที่ล่าช้าให้เอื้อต่อการลงทุนยิ่งขึ้น ก็จะทำให้ภาพการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศหรือทุนเอฟดีไอชัดเจนขึ้นในครึ่งปีหลังนี้

3เหตุผลทุนเก่าขยายทุนใหม่ขยับ

สอดคล้องกับที่นายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน)เปิดเผยถึง ภาพรวมการลงทุนในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมนวนครที่จังหวัดปทุมธานีว่า เริ่มมองเห็นสัญญาณบวกด้านการลงทุนใหม่เกิดขึ้นแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มทุนเก่า ที่มีการขับเคลื่อนโดยขยายพื้นที่ลงทุนเพิ่ม เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจที่มีอยู่แล้วเป็นส่วนมาก ส่วนทุนใหม่ก็จ่อจะเข้ามาโดยในช่วง 5 เดือนแรก (มค.-พ.ค.59) ประกาศขยายตัวในพื้นที่แล้วทั้งรายเก่าและรายใหม่ราว 7-8 ราย จากกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร,อิเล็กทรอนิกส์ ยา เครื่องมือทางการเกษตร

ทั้งนี้การขยายตัวดังกล่าวเกิดจาก 3 เหตุผลหลักคือ 1.เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในประเทศคู่ค้าของกลุ่มลูกค้าที่ส่งออกไปดีขึ้น ทำให้โรงงานผลิตในไทยซึ่งเป็นฐานส่งออกหลักต้องขยายตัวตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น 2.อุตสาหกรรมต้นน้ำขยายตัวทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องขยับตัวตามได้ 3.มาตรการกระตุ้นการลงทุนของรัฐน่าจะเกิดผลชัดเจนขึ้นในครึ่งปีหลังนี้ โดยเฉพาะใน10กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล

"ลูกค้ารายเก่าที่ประกาศความชัดเจนในการลงทุนต่อเนื่องในประเทศไทย เช่น บริษัท โรม อินทิเกรเต็ด ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ในญี่ปุ่น เปิดส่วนขยายใหม่ในไทยลงทุนรวมกว่า 3 พันล้านบาท โดยใช้ที่ดินผืนใหญ่ขนาด 70-80ไร่ ที่ยังเหลืออีกจากเฟสแรก , บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัดขยายพื้นที่เพื่อตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลเพื่อการเกษตร พร้อมทั้งออกแบบ พัฒนา และผลิตในไทย , บริษัทฮะจิบัง ราเมน อุตสาหกรรมอาหาร เดิมมีพื้นที่ 8 ไร่ ซื้อที่ดินเพิ่มอีก21 ไร่ สำหรับการผลิตบะหมี่สำเร็จรูป"

จับตายักษ์วงการอาหารเข้านิคม

ส่วนกลุ่มที่ยังไม่พร้อมเปิดเผยชื่อ อีกรายมีที่ดินอยู่แล้ว 40-50ไร่ มาซื้อเพิ่มอีก 11ไร่ และอีกรายเป็นทุนยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมอาหารชื่อดัง เข้ามาตั้งโรงงานผลิตอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรกซื้อที่ดินราว 60 ไร่ ทำเป็นศูนย์ส่งอาหารสำเร็จรูปขายในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงาน คาดว่าจะเปิดตัวได้ภายในปี2560 อีกรายเป็นกลุ่มทุนใหม่จากจีนเข้ามาซื้อโรงงานเก่าในพื้นที่ขนาด50-60ไร่ ทำโซลาร์เซล เป็นต้น

อย่างไรก็ตามมองโดยรวมบรรยากาศครึ่งปีแรกปีนี้ ดีกว่าช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว และเริ่มมีสัญญาณว่าครึ่งปีหลังจะยิ่งคึกคักมากขึ้น หลังจากที่ทุนหลายกลุ่มขยับตัวโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ทั้งอาหาร ยา ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ขยับตัวดีขึ้น และมองว่าถ้าทุนเก่าเริ่มขยาย บวกกับที่รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมในอุตสาหกรรมใหม่ ที่ไฮเทคขึ้น ก็จะทำให้บรรยากาศการลงทุนครึ่งปีหลัง จะมีทุนใหม่เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ขณะที่ทุนบางกลุ่มที่เคยออกไปลงทุนในจีนก็หันหัวเรือกลับมาลงทุนในไทยและมองว่าการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ไทยน่าจะเป็นฮับได้ชัดเจนที่สุด ยกเว้นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมากก็ไปประเทศเพื่อนบ้านแทน โดยสวนอุตสาหกรรมนวนครมั่นใจว่าผลดำเนินงานในปี2559จะดีกว่าปีที่แล้วแน่นอน

ห่วงพื้นที่โซนกบินทร์ยังเงียบ

นายทวิช เตชะนาวากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอินดัสเตรียล เอสเตทฯ ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมไฮเทค(บ้านหว้า) จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ครึ่งปีหลังจะเริ่มเห็นเศรษฐกิจไทยดีขึ้นดูจากจีดีพีที่ประกาศออกมาไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัว3.2% ขณะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น และที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกก็น่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว เดิมมีความกังวลเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่เกี่ยวข้องกับการค้าทั่วโลก ที่เวลานี้เริ่มนิ่งๆแล้ว ทำให้นักลงทุนเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น ดูได้จากที่เริ่มมีนักลงทุนใหม่ๆเดินเข้ามาคุยเรื่องซื้อที่ดินในพื้นที่โซนตะวันออก

ขณะที่โซนปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา เป็นกลุ่มทุนเก่าที่ขยายพื้นที่ลงทุนเพิ่ม ส่วนพื้นที่ที่ยังเงียบน่าจะเป็นโซนพื้นที่กบินทร์บุรี ที่มีเขตประกอบการ 5แห่ง กลุ่มโรจนะ ช่วงก.ม.60, กลุ่ม304 ช่วงก.ม.70,กลุ่มไฮเทค กบินทร์ ช่วงก.ม.78, กลุ่มสหพัฒน์และกลุ่ม กบินทร์ อินดัสเตรียล

"ช่วง4-5เดือนที่ผ่านมาจะเป็นจังหวะที่บรรยากาศการลงทุนในพื้นที่เงียบทุกปี เพราะปีงบประมาณญี่ปุ่นจบในสิ้นเดือนมีนาคม และเริ่มไตรมาแรกของแต่ละปีในเดือนเมษายน ดังนั้นหลังเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปจะเริ่มเห็นการขยับตัวด้านการลงทุนใหม่จากญี่ปุ่นในประเทศไทยมากขึ้น"

แนะรัฐทบทวนสรรพสามิตรถยนต์

เช่นเดียวกับที่นายไกรลักษณ์ อัศวฉัตรโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน)หรือHEMRA กล่าวว่า ในช่วง5เดือนที่ผ่านมาภาพรวมนิคมอุตสาหกรรมยังอยู่ในระยะฟื้นตัว เนื่องจากเศรษฐกิจโลกก็อยู่ในจังหวะค่อยๆฟื้นตัวด้วย ดังนั้นถ้าเศรษฐกิจโลกกลับมาดีก็จะมีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น จากตรงนี้สอดคล้องกับที่กลุ่มเหมราช ก็เริ่มมองเห็นสัญญาณบวกแล้ว โดยมีทุนใหม่จากลูกค้าเก่าเข้ามาติดต่อขอซื้อที่ดินเพิ่ม อีกทั้งมีลูกค้ารายใหม่เข้ามาดีลอยู่ด้วยหลายราย มีการเจรจาหาซื้อที่ดินตั้งแต่พื้นที่ขนาดเล็กไปถึงพื้นที่ขนาดใหญ่

"เริ่มทำให้เราเห็นโมเมนตัมที่ดีขึ้น โดยส่วนใหญ่กลุ่มทุนที่เข้ามาหารือจะเป็นกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอาหาร สำหรับกลุ่มเหมราชเวลานี้มีพื้นที่กำลังพัฒนาและรอพัฒนาอีกราว 1.10 หมื่นไร่ และถ้าจะให้ดีและช่วยกระตุ้นการผลิตในพื้นที่ได้มากขึ้น อยากให้รัฐบาลทบทวนการขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์ เพราะเวลานี้จะเห็นว่ากำลังผลิตยานยนต์เพื่อขายในประเทศลดลง เพราะรถราคาแพงขึ้น บวกกับเศรษฐกิจยังไม่กลับสู่ปกติ พอรถขายไม่ดี กำลังผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศก็ต้องลดลง ในแง่ผู้ผลิตก็อยากรักษาฐานผลิตในไทยซึ่งเป็นฐานผลิตใหญ่ของโลกไว้ โดยมีตลาดภายในที่แข็งแรงและมีตลาดส่งออกที่เติบโตไปพร้อมกันได้"

ด้านนายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า นโยบายเร่งรัดส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ซึ่งก็อยู่ใน10กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยนั้น จะช่วยให้นักลงทุนเกิดแรงจูงใจให้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น จึงมั่นใจว่าในปีนี้ จะมียอดขายที่ดินไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ 900-1,000 ไร่ จากกลุ่มลูกค้ารายเดิมที่ต้องการ ขยายพื้นที่โรงงานแห่งที่ 2 และลูกค้ารายใหม่ที่สนใจเข้ามาลงทุน และภายในเร็วๆ นี้ จะมีการเซ็นสัญญาที่จะใช้พื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรมประมาณ 400 – 500 ไร่ ซึ่งได้มีนักลงทุนเข้ามาศึกษาพื้นที่ และเยี่ยมชมอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มทุนจากประเทศจีน

บีโอไอตั้งเป้าดึงอุตฯเป้าหมาย60%

ต่อเรื่องนี้นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการสงเสริมการลงทุน (บีโอไอ)กล่าวว่า การลงทุนใหม่ที่เกิดขึ้นในนิคมอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอทั้งสิ้น เมื่อทุนขยับตัวได้ถือเป็นสัญญาณบวก โดยส่วนหนึ่งมาจากนโยบายรัฐบาลที่ชัดเจน ทำให้ผู้ลงทุนสามารถกำหนดทิศทางตัวเองได้ถูกทางขึ้นว่าอุตสาหกรรมนั้นๆควรจะใช้ฐานการผลิตไหนลงทุนระหว่างไทยกับประเทศคู่แข่ง

ล่าสุดการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตหรืออุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ 10 กลุ่ม ว่า มีนักลงทุนแสดงความสนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2559 ที่ผ่านมา มีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มดังกล่าวแล้วรวม 211 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 7.095 หมื่นล้านบาท คิดเป็น64% ของมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมด ที่ยื่นขอรับส่งเสริมในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งมีมูลค่า 1.1166 แสนล้านบาท มีโครงการที่ยื่นคำขอเข้ามา เช่น ผลิตเคมีภัณฑ์หรือพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์หรือเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ, อุตสาหกรรมดิจิทัล,กิจการผลิตเครื่องซักผ้าที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต,กิจการผลิตชิ้นส่วนหน้าจอ LCD ,ชิ้นส่วนระบบเครื่องยนต์ เป็นต้น

"ขณะนี้บีโอไอตั้งเป้าว่าปีนี้จะดึงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 60%ของยอดคำขอและมูลค่าเข้ามาลงทุนในไทยให้ได้ จากที่ปี2559ตั้งเป้าว่าจะมีคำขอรับการส่งเสริมทั้งปีอยู่ที่ 4.500 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น2 เท่าเมื่อเทียบกับปี2558 ที่มีคำขอรับการส่งเสริมอยู่ที่ 2.100 แสนล้านบาท"

อนึ่งช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.59) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 398 โครงการ เพิ่มขึ้น 84% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีเงินลงทุนรวม 2.005 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 463% โดยจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมขณะนี้คิดเป็น 44% ของเป้าหมายทั้งปี ซึ่งตั้งไว้ที่ 4.500 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นว่านโยบายสำคัญต่างๆ เริ่มส่งผล โดยเฉพาะนโยบายส่งเสริมการลงทุนในแบบคลัสเตอร์ และมาตรการเร่งรัดการลงทุน

ส่วนการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่าทั้งสิ้น 5.789 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 852% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นสูงสุดจำนวน 1.802 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 31% ของการลงทุนจากต่างประเทศ รองลงมาคือเนเธอร์แลนด์ 1.090 หมื่นล้านบาท ตามด้วยการลงทุนจากจีน 7.574 พันล้านบาท, เกาหลีใต้ 4.335 พันล้านบาท และสิงคโปร์ 3.314 พันล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,163 วันที่ 5 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559