เริ่มตุลารีดค่าธรรมเนียมการบิน30บาท

09 มิ.ย. 2559 | 00:00 น.
กพท.เตรียมตั้งคณะกรรมการบริหารรายได้ หางบปี 2560 ประเดิมจัดเก็บค่าธรรมเนียมผู้โดยสารเข้า-ออกสนามบิน ระหว่างประเทศ ไป-กลับ 30 บาท ดีเดย์ตุลาคมนี้ คาดทำรายได้ 1.1 พันล้านบาท นำมาใช้บริหารองค์กร ส่วนอีก 3 ค่าธรรมเนียมที่เหลือ จะยึดตามโมเดลของต่างประเทศเป็นเกณฑ์ ขณะที่แผนปลดธงแดง มีการปรับแผนเพิ่มเติมหลังหารือร่วมกับที่ปรึกษา CAAi และ ICAO ถึงการออก AOC ใหม่ให้ 28แอร์ไลน์ คาดปี 2560 ปลดธงแดง

[caption id="attachment_60221" align="aligncenter" width="700"] แผนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมกำกับการบินพลเรือนของ กพท. แผนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมกำกับการบินพลเรือนของ กพท.[/caption]

หลังจากจัดตั้งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือกพท. เพื่อวางแนวทางในการแก้ปัญหาปลดล้อคธงแดงจาก สำนักงาน องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ICAO โดยองค์กรนี้ถือเป็นองค์กรใหม่ที่มีหน้าที่กำกับดูแลกิจการการบินพลเรือนและสนามบินของประเทศไทย

นายอลงกต พูลสุข ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือกพท.เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้กพท.เตรียมจะจัดตั้งคณะกรรมการบริหารรายได้ เพื่อดำเนินกระบวนการจัดเก็บรายได้ ซึ่งจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สายการบินต่างๆ มาร่วมกันกำหนดรูปแบบและวิธีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามกฎหมาย (มาตรา39 ของการจัดตั้งองค์กร)ที่กพท.สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมกำกับการบินพลเรือนได้ใน 4 เรื่อง (ตารางประกอบ) แต่จะเริ่มจากการจัดค่าธรรมเนียมการเข้าหรือออกนอกประเทศที่เรียกเก็บจากสายการบินโดยคำนวณจากผู้โดยสารที่เดินทางเข้าหรือออกประเทศไทย (เที่ยวบินระหว่างประเทศ)ในอัตรา 15 บาทต่อคนหรือต่อเที่ยวบิน ซึ่งเป็นอัตราการจัดเก็บตามการพิจารณาของคณะกรรมการบินพลเรือน(กบร.)ที่ได้อนุมัติไปแล้วเพื่อให้เริ่มดำเนินการจัดเก็บได้ภายในเดือนตุลาคมนี้

จ่อเก็บเพิ่มอีก 3 ค่าธรรมเนียม

ส่วนค่าธรรมเนียมอีก 3 เรื่องที่เหลือ คือ ค่าธรรมเนียมการทำการบินที่เรียกเก็บจากผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ทำการบินขึ้นลง ณ สนามบินในประเทศไทย ค่าธรรมเนียมการขนส่งสินค้าทางอากาศที่เรียกเก็บจากผู้ดำเนินการเดินอากาศที่รับขนสินค้าทางอากาศ จากสนามบินในประเทศไทย โดยคำนวณคำนวณจากราคาค่าส่งที่ระบุใบตารางส่งสินค้าทางอากาศและค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ณ จุดให้บริการใด ๆในประเทศตามอัตราร้อยละต่อลิตรก็ต้องพิจารณาไปตามความเหมาะสมของช่วงเวลาในการจัดเก็บรวมถึงการคำนวณอัตราการเรียกเก็บที่เหมาะสมซึ่งก็จะมีการเทียบเคียงกับการจัดเก็บขององค์ด้านกำกับดูแลการบินพลเรือนของต่างประเทศด้วยซึ่งเป็นไปตามกรอบกฎหมายที่กำหนดกพท.จัดเก็บรายได้จากค่าธรรมเนียมเหล่านี้ได้

"การจัดตั้งกพท. ซึ่งเป็นหน่วยงานในการกำกับดูแลการบินของประเทศ (เรกกูเรเตอร์)รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิมเบื้องต้นราว 500 ล้านบาท แต่งบดังกล่าวจะหมดปีงบประมาณหลังเดือนกันยายนนี้ขณะที่งบประมาณปี2560 ได้รัฐบาลสนับสนุนงบลงทุนราว 300 ล้านบาท ดังนั้นค่าธรรมเนียมการเข้าหรือออกนอกประเทศ ที่กำลังจะเก็บ จึงถือเป็นรายได้ของกทพ.ในปีงบประมาณ 2560 ควบคู่ไปกับการรับสมัครพนักงานที่ในขณะนี้ก็ออยู่ระหว่างทยอยเปิดรับสมัครอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ก็คาดว่าจะได้พนักงานเข้ามา ซึ่งเบื้องต้นจะมีราว 180 คน เพื่อมาทำงาน เพราะก่อนหน้านี้มีบางส่วนดึงมาจากกรมท่าอากาศหรือทย. แต่บางส่วนขอกลับไป เพราะมองเรื่องของอายุราชการอยู่"

สิ้นปีตรวจสอบได้ 5-6 แอร์ไลน์

นายอลงกต กล่าวต่อถึงภารกิจของกทพ.ในการปลดล็อกธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศหรือICAOว่า แผนการแก้ไขข้อบกพร่องด้านการกำกับดูแลการบินพลเรือนของประเทศจำนวน 33 ข้อ ที่ ICAO ระบุไว้ ได้ถูกวางแผนมาแล้วในระดับหนึ่ง โดยศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน(ศบปพ.)ซึ่งได้ดำเนินการไปพอสมควรแล้ว ผมเข้ามาก็จะผลักดันแผนมีความเป็นรูปธรรมออกมา เพื่อให้การปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหามีความก้าวหน้า

หลังการรับตำแหน่ง ได้หารือร่วมกับCAA International (CAAi)ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน และเป็นบริษัทในเครือของ UK Civil Aviation Authority (UK CAA)ที่กพท.ว่าจ้างมาทำงานร่วมกัน ทำให้ล่าสุดมีการปรับแผนบางส่วนตามที่CAAiแนะนำ เพื่อประเมินสภาพความพร้อมต่าง ๆ ทั้งเรื่องกระบวนการอบรมบุคลากร เพื่อให้กพท.มีผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณสมบัติในการเป็นผู้ตรวจสอบ รวมถึงกระบวนการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่Re-certification หรือการออกAOC ใหม่ให้แก่สายการบินของไทยทั้ง 28 สาย รวมถึงการปรับปรุงกฏระเบียบในการตรวจสอบ AOC ให้มีความสมบูรณ์

" ขณะเดียวกันผมและCAAiก็ได้เข้าหารือกับผู้แทนของICAO ซึ่งมีสำนักงานในประเทศไทย เพื่อแนะนำตัวรวมถึงสร้างความมั่นใจ ให้เห็นถึงความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาของกพท.ตามแผนที่วางไว้ รวมทั้งการประสานงานเพื่อสอบถามถึงกระบวนการตรวจสอบสายการบินว่า เขาประสงค์ให้กพท.ตรวจสอบสายการบินที่มีเครดิตต่ำสุดก่อน หรือตรวจสอบสายการบินที่มีเครดิตสูงสุดก่อน ที่จะเริ่มต้นการตรวจ 5-6 สายการบินก่อน เพื่อให้แผนการแก้ไขปัญหาเกิดความก้าวหน้าเพียงพอที่จะส่งให้ICAO วัดผลการทำงานของกพท.ได้ภายในสิ้นปีนี้" นายองกต กล่าว

ทั้งนี้จากตารางเวลาล่าสุดการอบรมผู้เชี่ยวชาญให้มีคุณสมบัติในการเป็นผู้ตรวจสอบสายการบิน ได้ตามมาตรฐาน ICAO จะเสร็จสมบูรณ์ครบถ้วนในเดือนกันยายนนี้ และในระหว่างนี้ที่กำลังรอการหารือกับ ICAO ถึงแนวทางการตรวจสอบว่าประสงค์ให้ตรวจสอบสายการบินที่มีเครดิตต่ำสุดก่อน หรือตรวจสอบสายการบินที่มีเครดิตสูงสุดก่อน เมื่อได้คำตอบก็จะเริ่มกระบวนการตรวจสอบเอกสารของสายการบินตามขั้นตอนการออกใบรับรองให้กับสายการบินใหม่ จะทยอยเริ่มตรวจสอบสายการบินในเดือนกรกฏาคมนี้ โดยการตรวจสอบจะดำเนินการโดยผู้ตรวจสอบของกพท.ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ซึ่งปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญอยู่จำนวน 37 คน และทางCAAi ก็จะส่งผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เข้ามาช่วยตรวจสอบสายการบินในกระบวนการออกAOC ใหม่ร่วมด้วย นอกเหนือจากการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญของกพท.

คาดปลดธงแดงปี 2560

"เราตั้งภายในสิ้นปีนี้จะส่งผลให้ ICAO พิจารณาความก้าวหน้าและรูปธรรมของการตรวจสอบสายการบิน ส่วนจะเข้ามาตรวจสอบกพท.เมื่อไหร่ และจะปลดธงแดงเมื่อไหร่ ก็เป็นดุลยพินิจของ ICAO แต่ตามแผนที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าน่าจะปลดธงแดงได้ในช่วงปลายปี2560 โดยส่วนตัวผมก็มองว่าน่าจะสมจริงตามนั้น"

นายอลงกต ยังกล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญของการแก้ไขปัญหา จะใช้เวลาไปกับความสมบูรณ์ไม่เร่งรีบ เพื่อให้มั่นใจว่าการแก้ปัญหาจะยั่งยืน สอดคล้องกับความเห็นของ ICAO ที่บอกว่าอย่ารีบเร่งในการแก้ไข แต่ให้ทำให้การแก้ปัญหามีความยั่งยืน กพท.จึงไม่ได้วางเป้าหมายเรื่องของระยะเวลาที่ต้องปลดธงแดงได้เมื่อไหร่ แต่วางเป้าหมายเป็นช่วงเวลาในการทำงานออกเป็น 2 ระยะ คือ การพัฒนาบุคลากรให้มีคุณสมบัติครบถ้วน และการตรวจสอบออกใบรับรองการบินใหม่ให้สายการบินที่วางแผนการตรวจไว้ที่ 5-6 สายการบินก่อน และจะทยอยออกใบอณุญาติการบิน ใหม่ให้ทุกสายการบิน ซึ่งเป็นไปตามจำนวนผู้เชี่ยวชาญ เพราะการตรวจสอบ 1 สายการบินใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน ขณะที่สายการบินที่ทำการบินเส้นทางบินระหว่างประเทศมี 28 สายการบิน ซึ่งเชื่อว่าต้นปีหน้าจะเห็นรูปธรรมของสายการบินบางสายที่ผ่านการออกใบอณุญาติการบินใหม่

" ขณะที่เรื่องของการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายด้านการกำกับดูแลการบินพลเรือนของไทย ให้สอดคล้องกับมาตรฐานICAO นั้น ในจุดนี้ก็จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ ซึ่งก็คงต้องมาพิจารณาและดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตามกพท.จะต้องให้ความสำคัญในกระบวนการออกใบรับรองให้สายการบินต่างๆของไทยที่มีอยู่ก่อน ส่วนการพิจารณาอนุญาตเรื่องของการจัดตั้งสายการบินใหม่ จะพิจารณาได้เมื่อไทยถูกปลดธงแดง"

ยึดโมเดลต่างประเทศเป็นเกณฑ์

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การกำหนดค่าธรรมเนียมใน 4 เรื่องที่กพท.ต้องการจัดเก็บถือเป็นโมเดลเดียวกับหน่วยงานด้านกำกับดูแล ในต่างประเทศ ที่ส่วนใหญ่ก็มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมและภาษีจากผู้ใช้บริการ อย่าง สิงคโปร์ องค์กรในลักษณะนี้ก็มีแหล่งรายได้ที่จัดเก็บกับผู้ใช้บริการ คือ ภาษีการบิน 6. 1 ดอลล่าร์สิงคโปร์ ค่าบริการความปลอดภัยผู้โดยสาร 8.0 ดอลล่าร์สิงคโปร์ เยอรมัน มีภาษีการเดินทางทางอากาศ 7.5-42.18 ยูโร(ขึ้นกับเส้นทางบิน) ดังนั้นกทพ.จึงจำเป็นต้องจัดเก็บรายได้เพื่อนำมาพัฒนาองค์กร

ปั้นรายได้ 1.1 พันล้านต่อปี

อย่างไรก็ตามแม้กรอบของกฎหมายจะเปิดทางให้จัดเก็บค่าธรรมเนียมได้ 4 เรื่อง แต่การที่บอร์ดกพท.และกบร. ให้จัดเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าหรือออกประเทศก่อน เป็นเพราะเล็งเห็นว่าเป็นแนวทางที่มีผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งการเรียกเก็บในอัตรา 15 บาทนี้ จะมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ ทั้งเที่ยวบินขาเข้าและขาออก ที่เข้า-ออกในทุกสนามบินในประเทศไทยทั้งสนามบินของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สนามบินของเอกชน สนามบินของกรมท่าอากาศยานหรือทย. ซึ่งไป-กลับ รวมกัน 30 บาท โดยกพท.จะเรียกเก็บจากสายการบิน ซึ่งสายการบินก็จะไปเรียกเก็บกับผู้โดยสาร ที่อาจจะเป็นการรวมอยู่ในค่าโดยสาร หรือจะจัดเก็บอย่างไรก็ขึ้นกับสายการบิน

เนื่องจากกพท.คาดการณ์ว่าผู้โดยสารระหว่างประเทศทั้งเข้าและออก จะอยู่ที่ราว 70 ล้านคนต่อปี การจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว จะทำให้กพท.มีรายได้เข้ามาราว 1,100 ล้านบาทต่อปี และกพท.จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาติต่าง ๆ อีก 40 ล้านบาทต่อปี ก็จะเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นขององค์กร ทั้งในเรื่องของการลงทุนและเงินเดือนพนักงาน ส่วนค่าธรรมเนียมอื่นๆที่ยังสามารถเรียกเก็บมาเป็นรายได้เพิ่มได้อีกนั้น คงต้องพิจารณาความเหมาะสม เพราะต้องเปรียบเทียบกับการจัดเก็บขององค์กรด้านการบินพลเรือนของประเทศเพื่อนบ้าน และต้องคำนึงว่าจะส่งผลต่อการผลักดันการส่งเสริมธุรกิจสายการบินให้เดินทางมาเข้าไทยด้วย เพราะหากสายการบินมีภาระค่าใช้จ่ายมากเกินไป ก็อาจไปบินประเทศอื่นแทน ซึ่งมีปัจจัยหลายเรื่องที่ต้องพิจารณา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,163 วันที่ 5 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559