เสี่ยงวิกฤติพลังงาน แขวนอยู่กับประมูลปิโตรเลียมหมดอายุ

08 มิ.ย. 2559 | 03:30 น.
การตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้เลือกแนวทางการบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมออายุสัมปทานในช่วงปี 2565-2566 ของแหล่งเอราวัณ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และแหล่งบงกช ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน)หรือปตท.สผ.โดยการเปิดประมูลเพื่อหาผู้รับสัมปทานรายใหม่ แทนที่จะเจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิม เข้ามาดำเนินการ กำลังเป็นที่ถกเถียงของหลายฝ่ายในวงกว้างว่า การตัดสินใจของรัฐบาลดำเนินการอย่างถูกต้องแล้วหรือไม่

ประเด็นที่มีการหยิบยกหรือข้อห่วงใย ได้มุ่งไปที่ความต่อเนื่องของจัดหาก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในอ่าวไทย เพราะทั้ง 2 แหล่งนี้ถือเป็นแหล่งใหญ่ ผลิตก๊าซได้ราว 2.2 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แบ่งเป็นของเอราวัณ 1.24 พันล้านลูกบาศก์ฟุต่อวัน และแหล่งบงกช ผลิตก๊าซได้ 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็นสัดส่วนจัดหาก๊าซในประเทศกว่า 76% ของการจัดหาก๊าซในอ่าวไทย

คำถามจึงมีอยู่ว่า รัฐบาลมั่นใจได้อย่างไรว่า การประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุนี้ จะเป็นทางออกให้ทั้ง 2 แหล่งนี้ สามารถรักษากำลังการผลิตให้ต่อเนื่องได้ โดยประเทศไม่มีผลกระทบวิกฤติด้านพลังงาน เพราะหากยกกรณีเลวร้ายสุด ผู้ประกอบการรายเดิมไม่สามารถชนะการประมูลได้ หรือไม่เข้าร่วมประมูล เนื่องจากผลประโยชน์ตอบแทนไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนต่อ ผลที่ตามมาคือความหายนะของประเทศก็ว่าได้

มีตัวแปรห่วงประมูลล่าช้า

เท่าที่ฟังนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ชี้ให้เห็นว่าขณะนี้ยังไม่ต้องไปมองถึงว่า ผู้ประกอบการรายใด จะเป็นผู้ชนะในการประมูล แต่ต้องดูถึงผลกระทบระยะสั้นก่อนว่า จะสามารถประกาศเปิดประมูลให้ทันภายในสิ้นปีนี้ได้หรือไม่ และสามารถประกาศผู้ชนะได้ทันภายกลางปีหน้าเป็นอย่างช้าได้หรือไม่ เพราะมีหลายขั้นตอนที่จะต้องไปเตรียมรองรับการประมูล ไม่ว่าการกำหนดหลักเกณฑ์ ในการร่างทีโออาร์ การกำหนดผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐ และที่สำคัญจะต้องรอให้ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาขั้นสุดท้าย ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีผลบังคับออกมาด้วย อีกทั้ง ต้องรอผลสรุปการประเมินสินทรัพย์ และปริมาณสำรองปิโตรเลียมจากทั้ง 2 แหล่ง

ประกอบกับยังมีตัวแปรที่ไม่อาจสามารถควบคุมได้ ของกลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ที่คัดค้านการประมูลออกมา และพยายามที่จะนำเสนอแนวทางและวิธีการในการดำเนินการ ในรูปของการตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมาดูแล และใช้ระบบจ้างผลิตหรือพีเอสซีแทนระบบสัมปทานเดิม ที่ยังไม่ทราบว่าหลังจากนี้ไปจะเคลื่อนไหวอย่างไร

8 ปีก๊าซหาย 3 ล้านล้านลบ.ฟ.

ทั้งนี้ หากไม่สามารถหาผู้ชนะการประมูลได้ทันช่วงกลางปี 2560 ผลก็คือ ผู้รับสัมปทานรายเดิมจะไม่ลงทุนในการเจาะหลุมผลิตเพิ่ม จะส่งผลให้ประมาณก๊าซค่อยๆทยอยลดกำลังการผลิตลงต่ำกว่าสัญญา โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดสัญญา เพียงแต่ต้องมีการแจ้งล่วงหน้าประมาณ 1 ปี เพื่อให้บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) สามารถจัดหาก๊าซจากแหล่งอื่นมาทดแทน โดยประมาณการว่า จะทำให้ก๊าซหายไปจากระบบช่วงปี2561-2565 ประมาณ1.973 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีมาทดแทนกว่า 20 ล้านตัน

อีกทั้ง หากเป็นผู้ประกอบการรายใหม่คว้าสัมปทานทั้ง 2 แหล่งไป ยิ่งจะส่งผลกระทบมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการายเดิมไม่ลงทุนแล้ว ผู้ประกอบการรายใหม่ก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปบริหารหรือวางแผนลงทุนเกิดการหยุดชะงัก เพราะจะต้องรอให้สัมปทานหมดอายุก่อน ซึ่งกรณีนี้ประเมินว่าจะทำให้ปริมาณก๊าซหายไปจากระบบประมาณ 3.045 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ในช่วงปี 2561-2568 เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหม่กว่าจะเข้าดำเนินได้ก็จะเป็นปี 2566 และจะต้องใช้ระยะเวลาในการสั่งผลิตแท่นขุดเจาะกินเวลา 2 ปี และใช้เวลาสำรวจอีก 1 ปี กินเวลา 3 ปี กว่าจะผลิตก๊าซขึ้นมาได้

นำเข้าแอลเอ็นจีพุ่งกระทบค่าไฟ

กรณีดังกล่าวนี้ จะทำให้นำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีมาทดแทน เพิ่มขึ้นถึง40 ล้านตัน จากปัจจุบันนำเข้าราว 3-4 ล้านตัน หากราคาแอลเอ็นจีในขณะนั้นประมาณ 15 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู ก็จะทำให้ต้องใช้เงินซื้อแอลเอ็นจีเข้ามาถึง 1.1 ล้านล้านบาท มีผลทำให้กระทบกับค่าไฟฟ้าในปี 2564 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 58 สตางค์ต่อหน่วย แต่หากราคาแอลเอ็นจีทรงที่ 8 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู ใกล้เคียงกับปัจจุบัน ทำให้ต้องจ่ายเงินซื้อก๊าซราว 6 แสนล้านบาท กระทบค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น 14.76 สตางค์ต่อหน่วย

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบถึงการนำเข้าก๊าซแอลพีจี ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตปิโตรเคมี เพื่อทดแทนปริมาณก๊าซที่หายไปจากโรงแยกก๊าซ ราว 30 %คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าประมาณ 1.112 แสนล้านบาท และต้องนำเข้าก๊าซมีเทนอีกประมาณ 7.15 หมื่นล้านบาท

รวมทั้งมีผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ ตามระบบไทยแลนด์ ทรี ในรูปภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจะลดลงประมาณ 1.024 แสนล้านบาท และค่าภาคหลวงลดลงประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษที่ลดลงอีก 1.053 แสนล้านบาท

รายเดิมขอดูเงื่อนไขการประมูล

อย่างไรก็ตาม นอกจากความเสี่ยงที่กล่าวมาแล้ว ยังมีตัวแปรที่สำคัญว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลครั้งนี้สักกี่ราย หรือไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลเลยก็ว่าได้ แม้ว่านายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จะออกมายืนยันว่า ปตท.สผ.มีความสนใจจะเข้าร่วมประมูลทั้ง 2 แหล่งโดยเฉพาะแหล่งบงกชที่บริษัทเป็นผู้รับสัมปทานเดิมอยู่ มีความเข้าใจด้านธรณีวิทยาเป็นอย่างดี และสามารถบริหารจัดการต้นทุนการผลิตได้ในระดับราคาน้ำมันที่เป็นอยู่ได้

แต่การจะตัดสินใจเข้าร่วมประมูลหรือไม่นั้น หากมองในเชิงธุรกิจ ก็ต้องขึ้นอยู่กับความชัดเจนในเงื่อนไขของหลักเกณฑ์ และผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐ ที่จะออกมาว่าเป็นอย่างไร รวมถึงการพิสูจน์ปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่เป็นทางการยังไม่ออกมา ดังนั้น จะต้องรอดูเงื่อนไขต่างๆ ที่จะออกมาว่าน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน เพราะหากต้องให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐที่ค่อนข้างสูง ในขณะที่การขุดเจาะหลุมยากขึ้น ก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งความเห็นนี้ก็สอดคล้องไปทิศทางเดียวกับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เช่นกัน

หาทางออกผลิตได้ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ แม้ว่าการเปิดประมูลครั้งนี้ มีความเสี่ยง ต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางออก ซึ่งความเห็นในแวดวงอุตสาหกรรมพลังงาน ได้ชี้ให้เห็นว่า ช่วงรอยต่อจากนี้ไปทางภาครัฐ ควรจะมีการหาแนวทางในการรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ในกรณีที่เกิดความล่าช้าในการประมูล ซึ่งแนวทางหนึ่ง ที่จะรักษากำลังการผลิตปิโตรเลียมให้ต่อเนื่องได้ในช่วง 5 ปีสุดท้ายภาครัฐต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้ผู้ประกอบการสามารถหักค่าใช้จ่ายในการลงทุน ได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสัมปทานนั้นจะหมดอายุแล้วก็ตาม เพื่อให้เกิดความคุ้มทุนที่จะลงทุนต่อได้

ส่วนการจะนำระบบรับจ้างผลิตหรือพีเอสซีมาใช้นั้น คงไม่สามารถนำมาใช้ได้ทัน เพราะต้องแก้กฎหมายตั้งองค์กรใหม่มาเจรจารายสัญญากับเอกชน หลังอนุมัติโครงการแล้วทุกสัญญาของเอกชนที่จะไปว่าจ้างต่อต้องขอความเห็นชอบจากองค์กรใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น ซึ่งทำให้การทำงานล่าช้าและอาจเป็นช่องโหว่ของการแสวงหาผลประโยชน์ได้

ดังนั้น หลังจากนี้ไป คงต้องรอลุ้นกันว่า สุดท้ายแล้ว ประเทศชาติจะเดินต่ออย่างไร เพราะสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นผลกระทบตกมาถึงผู้บริโภคแบกรับภาระเพิ่มขึ้นแน่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,163 วันที่ 5 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559