ปลื้ม! 'เปลี่ยนชิปสำเร็จ' ภารกิจแรก

08 มิ.ย. 2559 | 11:30 น.
หลังจากนายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) (บมจ.)ในฐานะประธานสมาคมฯซึ่งครบวาระเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2559 "ฐานเศรษฐกิจ"มีโอกาสพูดคุยกับ นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ บมจ. ธนาคารกสิกรไทยซึ่งรับไม้ต่อประธานสมาคมธนาคารไทยถึงภารกิจที่จะต้องสานต่อและแผนงานหลักตามยุทธศาสตร์ของสมาคม 5 ปี พร้อมสะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารท่ามกลางกระแสฟินเทคที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

"นายปรีดี"เกริ่นให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้สมัยคุณบุญทักษ์ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสมาคมฯ ได้จ้างบริษัทเบเคอร์แอนด์แมคเคนซี เป็นที่ปรึกษาช่วยระดมความคิดกับธนาคารสมาชิกในเรื่องที่จะต้องทำและเป็นแผนระยะยาวของสมาคมฯ จึงออกมาเป็นแผน 5 ปี ซึ่งเป็นช่วงจังหวะเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3 (มาสเตอร์แพลน 3) ระหว่างปี 2559-2563 จะเห็นว่าแผนสมาคมฯ และธปท.มีความสอดคล้องกันเป็นอย่างดี และในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 ได้มีการแบ่งงานกันระหว่างซีอีโอแต่ละธนาคารที่จะรับหน้าที่ผลักดันภายใต้ 13 เรื่อง 7 กลุ่ม

สำหรับแผน 5 ปี จะประกอบด้วยนโยบายหลัก ได้แก่ 1.ส่งเสริมการธนาคารในรูปแบบดิจิตอลและวางโครงสร้างระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ 2.การเข้าถึงบริการทางการเงินเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจจริง 3.คืนความสุขสู่สังคม 4.เตรียมความพร้อมสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและการรวมประเทศสมาชิกอาเซียนในภูมิภาคนี้ และ 5.เสนอปรับแก้กฎหมายและข้อบังคับ นอกจากนี้สมาคมฯ ยังได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมขับเคลื่อนและให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และที่สำคัญส่งเสริมความร่วมมือระหว่างธนาคารสมาชิก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานและประสิทธิภาพในการแข่งขัน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโตอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ

ในส่วนของแผน 5 ปีนั้นจะมีบางส่วนที่สมาคมฯ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการภาครัฐในการผลักดันโครงการ "National E-payment" การส่งเสริมการธนาคารในรูปแบบดิจิตอลและวางโครงสร้างระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ และการเข้าถึงบริการทางการเงินเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจจริง ผ่านโครงการที่เกี่ยวข้อง เช่น Any-ID และการติดตั้งเครื่องรับบัตร EDC ซึ่งแผนดังกล่าวได้เริ่มจัดดำเนินการไปแล้วบางส่วน เช่น กำลังอยู่ระหว่างการเปิดรับลงทะเบียนผูกบัญชีในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ และภาครัฐจะเริ่มใช้วันที่ 26 กันยายนนี้ และภาคประชาชนทั่วไปเริ่มใช้ได้ 31 ตุลาคมปีนี้

สิ่งที่ได้ทำชัดเจนและทำได้แล้ว และถือเป็นส่วนหนึ่งของแผน 5 ปี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของธปท.ในการให้ความร่วมมือให้ลูกค้าธนาคารพาณิชย์ในระบบทั้งหมดทยอยเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็ม-บัตรเดบิตมาเป็นบัตรชิปการ์ดแทนบัตรแถบแม่เหล็กที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และการปรับเปลี่ยนระบบตู้เอทีเอ็มเพื่อให้สามารถรองรับบัตรระบบแบบชิปการ์ด ซึ่งเรื่องนี้ได้เริ่มทำเนินการจัดทำไปแล้วตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่าน ซึ่งปัจจุบันลูกค้าธนาคารได้ทยอยมาเปลี่ยนบัตรเป็นชิปการ์ดแล้ว แม้ว่าในช่วงแรกอาจจะเกิดความสับสนของเรื่องค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนบัตรใหม่ แต่เชื่อว่าทุกธนาคารไม่ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นอัตราค่าธรรมเนียมยังคงอัตราเดิม ประกอบกับลูกค้ามีความเข้าใจมากขึ้น ทั้งนี้ ตามแผนภายในวันที่ 1 มกราคม 2563 บัตรในระบบทั้งหมดจะถูกเปลี่ยนเป็นบัตรชิปการ์ด เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บัตรจากการถูกคัดลอกข้อมูล หรือการโจรกรรมข้อมูล อย่างไรก็ดี ลูกค้าที่ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนบัตรแถบแม่เหล็กก็ยังคงใช้งานได้ตามปกติจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562

"ภารกิจ 5 ปี เราก็สานต่อ แต่จะมีบางแผนที่เข้าไปเกี่ยวข้องและสอดคล้องกับโครงการอีเพย์เมนต์ ซึ่งเราก็ได้ดำเนินการประสานงานความร่วมมือกับภาครัฐ ธปท.ในการหารือในการผลักดันโครงการที่สมาคมฯ มีส่วนต้องรับผิดชอบ แต่แผนที่ทำสำเร็จและตามเป้าหมายชิ้นแรก คือ การเปลี่ยนบัตรชิปการ์ด ที่เริ่มไปทำแล้วและลูกค้าทยอยเข้ามาเปลี่ยนแล้ว"

สำหรับแผนการยกระดับธนาคารพาณิชย์เป็นระดับภูมิภาคภายในปี 2563 ตามแผนมาสเตอร์แพลน 3ของธปท.นั้น ธนาคารจะได้รับประโยชน์จากนโยบายของธปท. โดยเฉพาะเรื่องการเปิดเสรีการแข่งขันภาคการธนาคารในกลุ่มอาเซียน หรือ QABs ที่จะช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนธุรกรรมการเงินและการชำระเงินระหว่างประเทศ และการเชื่อมโยงการค้าการลงทุนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อย่างไรก็ดี การเปิดเสรีดังกล่าว จะเห็นว่ามีทั้งธนาคารที่อยากเข้ามาในไทย และมีธนาคารที่อยากออกไป อาจจะต้องมีข้อตกลงที่ชัดเจน ซึ่งสมาคมฯ อยากเห็นธนาคารสมาชิกออกไป แต่การจะเป็น Regional Bank อาจจะต้องใช้เวลา แต่โชคดีในยุคนี้สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยมีโอกาส แต่จะต้องหาโอกาสให้เจอ

 เอ็นพีแอลถึงจุด Peak

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังเชื่อว่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองอัตราการเติบโตจีดีพีอยู่ที่ 3% และมีความเป็นไปได้ที่จะขยับสูงขึ้นกว่าประมาณการปัจจุบันได้โดยแรงส่งจะมาจากโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐมีความก้าวหน้ามากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อจะตามมาโดยอัตโนมัติ โดยธุรกิจดาวเด่นคาดว่าจะเติบโตได้ดี จะเป็นกลุ่มก่อสร้าง ขนส่ง โลจิสติกส์ ทำให้กลุ่มเหล่านี้มีความต้องการสินเชื่อตามมา และธุรกิจเอสเอ็มอีที่ฟื้นตัวดีขึ้น ทั้งจากมาตรการช่วยเหลือก่อนหน้า และกฎหมายหลักประกันที่จะมีผลเร็วๆ นี้ จะช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีกลับมาฟื้นตัวได้ และสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น และการส่งออกที่อาจกลับมาขยายตัวในแดนบวก และหากราคาน้ำมันขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 40-50 ดอลลาร์สหรัฐฯ จะช่วยคลายความกังวลต่อสินค้าส่งออกของไทย

ส่วนแนวโน้มธุรกิจธนาคารในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะเห็นว่าผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะยังคงเผชิญกับปัจจัยท้าทายหลายด้าน เช่น สินเชื่อที่อาจฟื้นตัวช้า โดยเงินให้สินเชื่อสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 หดตัวลง 0.66% จากสิ้นปีก่อน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในช่วงที่ผ่านมา รายได้ค่าธรรมเนียมอาจได้รับผลกระทบจากแผนปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมและความท้าทายจากการดำเนินการตามแผน National E-payment ซึ่ง Volume จากการทำธุรกรรมอาจจะเติบโตไม่รวดเร็วเพียงพอที่จะชดเชยกับรายการค่าธรรมเนียมต่อรายการที่จะลดลงค่อนข้างมาก รวมถึงค่าใช้จ่ายในการกันสำรองที่จะยังทรงตัวสูง อย่างไรก็ตาม จะเห็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แม้แนวโน้มจะยังคงขยับขึ้น แต่เป็นการขยับขึ้นอัตราที่ใกล้เข้าสู่จุดต่ำสุดแล้ว จึงคาดว่าเอ็นพีแอลมีแนวโน้มที่ดีขึ้นภายในปีนี้

มั่นใจระบบแบงก์ปรับตัวรับฟินเทค

กระแสฟินเทคที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน นับเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยมีความสามารถสูงสุดในการประมวลผล เพื่อให้เกิด Business Modal ทำให้ระบบเทคโนโลยีแบบเดิม หรือ Business Modal แบบเดิมที่เคยใช้ อาจจะต้องมีการปรับตัวรับกระแสของเทคโนโลยีที่มาใหม่ เนื่องจากวิธีการแข่งขันของฟินเทคอาจจะใช้การนำเสนอในราคาที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ ที่จะต้องมีการวิธีการบริหารจัดการ ทำให้มีต้นทุนที่สูงกว่า ดังนั้น ถือได้ว่าฟินเทคที่เกิดขึ้น นับเป็นคู่แข่งระดับหนึ่ง ซึ่งเปรียบเหมือนธนาคารพาณิชย์ในระบบที่มีการแข่งขันระหว่างกันผ่านการนำเสนอในผลิตภัณฑ์ ราคา ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกธนาคารที่พอใจได้

ดังนั้น มองว่าฟินเทคที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นคู่แข่งระดับหนึ่ง แต่ส่วนหนึ่งก็จะเกิดประโยชน์ในด้านการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้ เพราะฟินเทคไม่ใช่แค่เรื่องของการโอนเงินอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของระบบประมวลผล สถิติ หรือสกอริ่งต่างๆ เป็นต้น ซึ่งธนาคารพาณิชย์ในระบบสามารถนำมาต่อยอดหรือปรับตัวผ่านความร่วมมือกัน เช่น ธนาคารกสิกรไทย ร่วมมือกับฟินเทคในการพัฒนาลูกเล่น Features ใหม่ๆ ให้กับ K-Mobile Banking หรือในอนาคตอาจนำไปสู่โมเดลธุรกิจใหม่ๆ ระหว่างกัน เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,163 วันที่ 5 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559