ปลัดคลังขอ1เดือนสรุปภาษีนํ้าตาล ชี้ยังไม่ถึงเวลาเพิ่มภาษีแวต/รถเก่า

08 มิ.ย. 2559 | 05:30 น.
ปลัดคลังปิดประตู ย้ำไม่มีแนวคิดเพิ่มภาษี Vat แน่นอน เหตุสถานการณ์ยังไม่เอื้อพร้อมประเมินเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดเริ่มโงหัวแล้ว ปัดขึ้นภาษีรถเก่า-ขอเวลา 1 เดือนสรุปภาษีน้ำตาลเสนอ สปท. ฟากเอกชนดอดพบขุนคลัง แจงเครื่องดื่มใช้น้ำตาลเพียง 10% ขณะอุตสาหกรรมอาหารใช้กว่า 20-30% ชี้หากขึ้นภาษีน้ำตาลจริงเสี่ยงกระทบชาวไร่อ้อย

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผย ว่า ด้วยสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ประเมินจากไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ที่สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ประกาศตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ขยายตัวที่ 3.2% ถือเป็นอัตราขยายตัวที่สูงสุดในรอบ 12 ไตรมาส หรือรอบ 3 ปีนั้น เป็นอัตราที่น่าพอใจ แสดงว่าเศรษฐกิจไทยมีพัฒนาการและพร้อมเติบโตต่อเนื่องจากปี 2557-2558 ที่ขยายตัวได้เพียง 0.9% และ 2.8% ตามลำดับ

ดังนั้นจึงมั่นใจว่าปี 2559 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3-3.5% แต่ด้วยสถานการณ์แม้จะเริ่มเห็นภาพว่าฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป กระทรวงการคลังยังคงมีความจำเป็นต้องจับตาถึงมาตรการช่วยเหลือด้านต่างๆ เข้ามาใช้ โดยเฉพาะมาตรการด้านภาษีเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจคู่ขนานไป ดังนั้นแนวโน้มที่กระทรวงการคลังจะขึ้นภาษีโดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ที่เก็บ 7% โดยยังไม่มีแนวคิดที่จะปรับให้สูงขึ้นในตอนนี้อย่างแน่นอน

"มองว่ายังไม่ใช่เวลานี้ แม้ที่ผ่านมาจะมีแนวคิดในการปรับฐานภาษีให้สมดุล เนื่องจากหากประเมินฐานการจัดเก็บภาษีปัจจุบันยังพบว่า เฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ปรับลดลงจาก 30% ของกำไรสุทธิ ปรับลดเหลือ 20% เป็นการถาวรตามมติ ครม. โดยหวังว่าจะสามารถทำให้ธุรกิจเสียภาษีได้เพิ่มขึ้นรวมถึงขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้นแต่หลังออกมาตรการไปแล้วจำนวนนิติบุคคลที่เข้าสู่ระบบและฐานภาษีกลับไม่เพิ่มขึ้นกลับมีผู้ยื่นจดทะเบียนเท่าเดิม คือกว่า 1 ล้านรายแต่จ่ายภาษีจริงเพียง 4.3 แสนรายเท่านั้น"

ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวอีกนอกจากนี้ขณะที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จัดเก็บจากแรงงานในระบบที่มีอยู่ 30 ล้านคน กลับมีผู้ยื่นเอกสารการเสียภาษีอยู่ที่ 10 ล้านคนและเสียภาษีจริงเพียง 4 ล้านคนเท่านั้น ขณะที่ 6 ล้านคนกลับใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอี มีการลงบัญชีผิดประเภทรวมถึงมีการแอบทำหลายบัญชี ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป บริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ได้ขึ้นทะเบียนบัญชีเดียวกับกรมสรรพากรไปแล้วเท่านั้น ถึงจะสามารถขอและได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคาร ส่วนเอสเอ็มอีที่ไม่ขึ้นบัญชีก็จะไมได้รับการอนุมัติ

ส่วนระบบการชำระเงินของชาติหรือ National e-Payment อนาคตจะช่วยลดการใช้เงินสดของประเทศโดยการชำระหรือซื้อสินค้าและบริการจะชำระผ่านบัตรเอทีเอ็มบัตรประชาชนรวมถึงโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถตรวจสอบความผิดปกติทางการเงินของบุคคลในวงการต่างๆได้อีกเช่นกัน ซึ่งจะเป็นระบบที่พลิกโฉมโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินของประเทศไทยขณะที่ยังช่วยประหยัดต้นทุนการบริหารเงินสดปีละ 7.5 หมื่นล้านบาท

"แนวคิดส่วนตัว ในอนาคตถ้าใช้เงินสดจ่ายค่าสินค้าหรือบริการหากใช้เงินสดจะต้องเสียภาษี มูลค่าเพิ่มหรือ Vat ในอัตราที่กำหนดแต่หากใช้บัตรหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ชำระจะเสียที่ 7% กรณีดังกล่าวสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ที่ยอมใช้สิทธิ์ในการชำระแบบเงินสดอาจมีความผิดปกติทางด้านทางการเงินดังนั้นโอกาสในการอุดรูรั่วหรือช่องว่างจากภาษีที่หายไปจากคนกลุ่ม ขณะที่การจัดเก็บภาษีรายได้ในอนาคตจะสามารถจัดเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยที่ไม่จำเป็นที่จะต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีอื่นๆ"

ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับตัวภาษีรถเก่าที่เสนอให้จัดเก็บเพิ่มหากเป็นรถที่มีอายุการใช้งานนานกว่า 7 ปี ตามที่มีกระแสข่าวนั้น ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ไม่ใช่เรื่องด่วน และขณะนี้ยังไม่เห็นหน่วยงานที่เสนอมาเข้ามาหารือกับกระทรวงการคลังแต่อย่างใด แต่เนื่องจากขณะนี้ภาพรวมทางเศรษฐกิจมองว่าอาจจะยังไม่เอื้อต่อการจัดเก็บภาษีในสินค้าหรือบริการอื่น ตอนนี้สิ่งสำคัญคือเราต้องเร่งทำหรือจัดการกับเรื่องที่ใหญ่กว่า กรณีนี้จำเป็นต้องมองถึงผลกระทบให้รอบด้านไม่ใช่ขึ้นภาษีแบบสุ่มสี่สุ่มห้า เพราะมีผลต่อผู้ที่ใช้รถหลายล้านคัน

ส่วนกรณีภาษีน้ำตาลยอมรับว่าทางสมาคมน้ำตาลไทยฯ ได้เข้ามาหารือกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเข้ามาให้ข้อมูลจากทางฝ่ายของเอกชน กรณีการใช้น้ำตาลในอุตสาหกรรม ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาหนึ่งชุดในการทำงานร่วมกันกับภาคเอกชนเพื่อประเมินรวมถึงหาข้อสรุปเพื่อหาทางออกตามสิ่งที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ต้องการ ส่วนจะขึ้นภาษีน้ำตาลหรือไม่ขณะนี้ยังไม่ทราบ แต่ทางเอกชนยืนยันว่าพร้อมที่จะลดสูตรความหวานในเครื่องดื่มแล้ว

"มีการเสนอโดยเอกชนว่า หากจัดเก็บภาษีน้ำตาลจริงจะต้องจัดเก็บอย่างเสมอภาคเนื่องจากในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มมีการใช้น้ำตาลเพียง 10% ขณะที่ในอุตสาหกรรมอาหารใช้น้ำตาลสูงถึง 20-30% แต่หากประเมินอาจทำได้ยากเพราะอุตสาหกรรมอาหารล้วนเป็นธุรกิจขนาดเล็ก โอท็อป ที่ผ่านมาจัดเก็บภาษีน้ำตาลก็ยังไม่สามารถทำได้ และที่น่าสนใจ คือ หากมีการจัดเก็บภาษีน้ำตาลแล้วในมุมกลับกันอาจส่งผลกระทบต่อชาวไร่อ้อยได้ ถือเป็นเหตุผลที่น่าสนใจโดยจะนำมาประกอบการตัดสินใจที่จะต้องสรุปให้ได้ภายในเดือนมิถุนายน 2559 นี้"

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,163 วันที่ 5 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559