แบงก์เฟ้นธุรกิจก่อนให้วงเงินสินเชื่อ หวั่นหลงทาง‘หลักประกันทางธุรกิจ’

07 มิ.ย. 2559 | 23:00 น.
แบงก์ประเดิมปล่อยกู้บางทรัพย์สิน 4 ก.ค. เริ่มขยับชิมลางกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ/ลุ้นกรมพัฒนาธุรกิจตั้งหน่วยงานรับจดทะเบียน "ทรัพย์-ออกไลเซนต์ผู้บังคับหลักประกันพร้อมรอธปท.ออกระเบียบอัตรากันสำรองหนี้"การันตีความเสี่ยง

ตามที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ผลบังคับใช้ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2559 โดยเพิ่มทรัพย์สิน 6กลุ่มได้แก่ กิจการ, ลูกหนี้การค้า ,สังหาริมทรัพย์ใช้ประกอบธุรกิจ ,อสังหาริมทรัพย์สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์,ทรัพย์สินทางปัญญาและทรัพย์สินที่กฎกระทรวงกำหนดเพื่อใช้เป็นหลักประกันขอวงเงินสินเชื่อได้จากเดิมที่จำกัดแค่ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างซึ่งผู้กู้ไม่ต้องส่งมอบหลักประกันให้ธนาคารเจ้าหนี้ เพื่อทำให้เกิดความคล่องตัวทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินและเพิ่มวงเงินนั้น

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า เบื้องต้นจะเริ่มให้บริการลูกค้าในวันที่4กรกฎาคม( เนื่องจากวันที่2ก.ค.ตรงกับวันหยุดราชการ) ส่วนใหญ่ธนาคารเตรียมความพร้อมในการจดทะเบียนหลักประกันกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพราะการทำนิติกรรมนั้น กฎหมายกำหนดให้ผู้รับหลักประกันต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ให้หลักประกันไปจดทะเบียนเป็นหลักประกันเนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ลูกหนี้สามารถทำธุรกิจหรือใช้ประโยชน์จากหลักประกันโดยไม่ต้องส่งมอบกับธนาคารเจ้าหนี้

ส่วนกรณีนำกิจการเป็นหลักประกันนั้นคู่สัญญาจะต้องระบุผู้บังคับหลักประกันเผื่อคู่สัญญาผิดนัดชำระหนี้และต้องดำเนินคดีในอนาคต โดยที่กฎหมายกำหนดให้ผู้บังคับหลักประกันต้องผ่านการอบรมและได้รับใบอนุญาต(ไลเซนต์)จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าซึ่งไลเซนต์จะมีอายุ 3 ปีคือ เมื่อครบ 3 ปีต้องต่อไลเซนต์ใหม่ ทั้งนี้ผู้บังคับหลักประกันจะต้องผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ด้านบัญชี ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านบริหารธุรกิจและการประเมินราคาทรัพย์สินโดยต้องมีความเป็นกลางเป็นอิสระ

"ต้องรอคำสั่งสินเชื่อเพื่อเป็นกรอบทำงานเพราะหลักประกันธุรกิจตามกฎหมายฉบับใหม่นี้เป็นการเพิ่มกลุ่มธุรกิจที่ใช้เป็นทรัพย์สินหลักประกันซึ่งจับต้องไม่ได้ คงต้องใช้เวลาและความโปร่งใสของผู้ทำธุรกิจที่ขาดหลักประกันประเภทที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง เช่น ธุรกิจรับจ้างทำของหรือรับเหมาต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อซื้อวัตถุดิบ/สต๊อคเพื่อผลิตสินค้าส่ง ดังนั้น แบงก์ต้องดูความเสี่ยงก่อนจะดีไซน์สินเชื่อ, วิธีประเมินมูลค่า และวิธีบังคับหลักประกัน เพราะผู้กู้ปัจจุบันมีพัฒนาการทางกลยุทธ์ และช่วงนี้ยอมรับว่าทุกคนยัง งงและอาจจะหลงทางอีกเยอะ"

สอดคล้องนายอุดมศักดิ์ โรจน์วิบูลย์ชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจขนาดกลาง บมจ.ธนาคารกรุงไทยในทางปฎิบัติยังเริ่มไม่สมบูรณ์ เพราะยังมีปัญหาในการประเมินมูลค่าธุรกิจ/กิจการ เช่น สิทธิบัตร,ลิขสิทธิ์ และทรัพย์แต่ละประเภท นอกจากการประเมินราคาไม่ง่ายต้องมีบริษัทประเมินราคาซึ่งเป็นที่ยอมรับ ที่สำคัญธนาคารต้องกำหนดหลักประกันว่ามีความปลอดภัยแค่ไหนโดยกระทรวงพาณิชย์ต้องมีหน่วยงานรับจดทะเบียนหลักประกันเพื่อเจ้าหนี้หรือธนาคารมีสิทธิเหนือทรัพย์สินและเพื่อมิให้ปล่อยสินเชื่อซ้อนกัน อีกส่วนคือ รอธนาคารแห่งประเทศไทยออกระเบียบเกี่ยวกับอัตรากันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามมูลค่าความเสี่ยงของหลักประกันแต่ละประเภท ดังนั้นธนาคารพาณิชย์น่าจะเริ่มปล่อยกู้บางหลักประกันสำหรับลูกค้ารายเดิมก่อน เช่น เงินฝาก จำนำสินค้า รับซื้อลูกหนี้การค้า(แฟคตอริ่ง)

ต่อข้อถามการสวมสิทธิในหลักประกันนั้น นางสาวปณิตา เชาว์เพชร เจ้าหน้าที่บริหารที่ปรึกษาและสัญญา บมจ.ธนาคารทหารไทยหรือทีเอ็มบีกล่าวว่า ขณะนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากับสมาคมธนาคารไทยประสานการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อม เช่น กรณีหลักประกันเป็นกิจการนั้นอาจจะมีความยุ่งยากเพราะกฎหมายกำหนดให้คู่สัญญาต้องระบุผู้บังคับหลักประกันไว้ในสัญญาด้วย ในทางปฎิบัติทางกรมฯจะจัดตั้งผู้บังคับหลักประกันโดยต้องผ่านการอบรม 6 เดือนจึงจะได้รับใบอนุญาต(ไลเซนต์)ในการประกอบธุรกิจซึ่งมีระยะเวลาเพียง 3 ปีเมื่อครบกำหนดต้องต่ออายุไลเซนต์ ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญในการประเมินมูลค่ากิจการนั้นหายาก

นายไตรรงค์ บุตรากาศ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี บมจ.ธนาคารทหารไทยกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องวิธีประเมินมูลค่ากิจการและอัตรากันสำรองหนี้ฯ เช่น พวกแบรนด์/ค่างานซึ่งเป็นสิทธิรับเงินจากภาครัฐหรือเอกชน ซึ่งต้องรอธปท.ออกเกณฑ์คาดว่าออกมาภายใน 1-2สัปดาห์ ส่วนแนวทางของทีเอ็มบีจะเริ่มจากทรัพย์สิน 3กลุ่มก่อนเช่น ลูกหนี้การค้า สต็อคสินค้าและสิทธิการรับเงินโดยจดทะเบียนหลักประกันดังกล่าวก่อนเพื่อให้วงเงินเพิ่มสูงถึง 20%จากวงเงินเดิมเพื่อให้เป็นเงินหมุนเวียอย่างเพียงพอทั้งนี้จะเน้นทำตลาดกับลูกค้าเก่าในสัดส่วน 60% และรายใหญ่อีก 30%

นางสาวสมคิด ปรีชาสัมมกุล หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อเครือข่ายธุรกิจ กล่าว ธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์ สินเชื่อหลักประกันธุรกิจ ทีเอ็มบี มาเพื่อเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่กำลังจะจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อให้ได้วงเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมแก่ลูกค้า โดยลูกค้าที่ที่นำสินทรัพย์ เช่น ลูกหนี้การค้า สต็อกสินค้า และสิทธิการรับเงิน มาจดทะเบียนกับธนาคาร จะได้วงเงินเพิ่มสูงสุดถึง 20% จากวงเงินเดิม เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอ

ทั้งนี้ คาดว่าอุตสาหกรรมที่จะมีความต้องการนำหลักประกันมาขอเพิ่มวงเงิน ในขณะนี้ได้แก่ภาคการผลิตและการค้า จากกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดกลางถึงใหญ่ โดยธนาคารตั้งเป้าหมายว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถปล่อยสินเชื่อจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้เพิ่มเติมจากเป้าหมายเดิมอีก 1-2 พันล้านบาท

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,163 วันที่ 5 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559