มหา’ลัยแข่งผลิตคนด้านสื่อสาร เร่งปรับหลักสูตรหลังคนรุ่นใหม่พฤติกรรมเปลี่ยน

08 มิ.ย. 2559 | 14:00 น.
ชี้ตลาดแรงงานด้านสื่อ/สื่อสารยังฮอต องค์กรใหญ่-เล็กต้องการตัว "PIM" เปิดตัว 2 หลักสูตรใหม่ "สื่อสารองค์กรและแบรนด์-วารสารศาสตร์คอนเวอร์เจ้นท์" รับ พร้อมชูจุดเด่นเวิร์ก เบส เลิร์นนิ่ง จบปุ๊บทำงานได้ปั๊บ ด้าน "ม.กรุงเทพ" เผยบริบทสังคมเปลี่ยน กลุ่มGEN Z นิยมทำธุรกิจส่วนตัว เร่งปรับหลักสูตรรับ มั่นใจพร้อมผลิตบัณฑิตคุณภาพ พร้อมใช้งานได้ทันที

[caption id="attachment_60100" align="aligncenter" width="500"] สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM)[/caption]

ดร.สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในปีการศึกษา 2559 นี้คณะนิเทศศาสตร์ได้เปิด 2 หลักสูตรใหม่ ในระดับปริญญาตรี ได้แก่ สาขาวิชาการสื่อสารองค์กรและแบรนด์ และวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจ้นท์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตที่ครบเครื่อง รอบรู้ คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ พร้อมทั้งสามารถวางแผนและเข้าใจธุรกิจบนพื้นฐานคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ซึ่งผู้ที่สำเร็จการศึกษาออกไป จะมีทักษะรอบด้าน มีศักยภาพในการทำงานที่ตอบสนองความต้องการของวิชาชีพได้ หลากทักษะ หลายช่องทาง หลากหลายเนื้อหา และพร้อมที่จะทำงานทันที เพราะบัณฑิตของปัญญาภิวัฒน์มีรากฐานการศึกษาในรูปแบบเวิร์ก เบส เลิร์นนิ่ง ซึ่งจะแตกต่างจากสถาบันการศึกษาอื่นๆ

"ทั้งนี้ในปัจจุบันธุรกิจให้ความสำคัญกับการสื่อสารองค์กรและแบรนด์อย่างสูง ดังนั้นเนื้อหาของวิชาที่จะเรียนนอกจากความรู้พื้นฐานการสื่อสารองค์กรและแบรนด์แล้ว ยังเน้นการคิดและกลยุทธ์เชิงสร้างสรรค์ การสื่อสารการตลาดเชิงบูรณาการและการวางแผนการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ ขณะเดียวกันจะเน้นการวิเคราะห์การตลาดและการเข้าใจผู้บริโภคเชิงลึก การฝึกการคิดเชิงสร้างสรรค์และผลิตงานเชิงปฏิบัติการ การสื่อสารการตลาดดิจิตอล การสื่อสารเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และการบริหารจัดการชื่อเสียงและภาวะวิกฤติ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้เรียนได้มีพื้นฐานด้านทฤษฎีจากในห้องเรียน และการแลกเปลี่ยนกับอาจารย์และเพื่อนๆ และยังได้ประสบการณ์ตรงจากการฝึกงาน ซึ่งผู้เรียนจะต้องฝึกงานทุกปีตั้งแต่ปี 2 เป็นต้นไป"

ขณะที่สาขาวิชาวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจ้นท์ เป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี คอนเทนต์ และสื่อสารมวลชนเข้าด้วยกัน พร้อมเสริมทักษะ มุมมองด้านธุรกิจ และคอนเทนต์ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้ในทุกแพลตฟอร์ม โดยเนื้อหาของรายวิชา จะเน้นการรายงานข่าวคอนเวอร์เจนต์ การรายงานข่าวเชิงข้อมูล บุคลิกภาพและการแสดงออกผ่านสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ การวิเคราะห์ข่าวและสถานการณ์ปัจจุบัน ประเด็นโลกและอาเซียนสำหรับนักข่าว การสื่อสารการเมืองและวารสารศาสตร์ การเล่าเรื่องข้ามสื่อ การผลิตเนื้อหาสำหรับเว็บไซต์และสื่ออินเตอร์แอกทีฟ การตลาดและการจัดการสำหรับธุรกิจสื่อคอนเวอร์เจนต์ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี คณะนิเทศศาสตร์ยังเป็นคณะที่ได้รับความนิยมในอันดับต้นๆ โดยในแต่ละปีมีบัณฑิตคณะนิเทศศาสตร์สำเร็จการศึกษาจำนวนมาก ดังนั้นการสร้างและเสริมศักยภาพของนักศึกษาให้มีความพร้อม สามารถนำงานได้ทันที จึงเป็นจุดเด่นที่ปัญญาภิวัฒน์ได้รับการยอมรับ ซึ่งการที่หลายคนกล่าวว่า ปัญญาภิวัฒน์ เป็นมหาวิทยาลัยของเซเว่น ถือเป็นจุดแข็งเพราะทำให้ได้เรียนรู้ทุกศาสตร์ และสามารถนำมาผสมผสาน เป็นประสบการณ์ให้กับผู้เรียน แตกต่างจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอื่นๆ โดยหลักสูตรของปัญญาภิวัฒน์ จะแบ่งออกเป็น 4 เทอม ซึ่งจะมากกว่าสถาบันอื่นๆ ดังนั้นผู้เรียนจึงต้องมีความพร้อม และมุ่งมั่น ซึ่งในปีที่ผ่านมาสถาบันได้รับการประเมินให้อยู่ในอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ทำให้สถาบันต้องเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพให้นักศึกษามีความแข็งแกร่ง และมีองค์ความรู้รอบด้านมากขึ้นด้วย

ด้านดร.พีรชัย เกิดสินธุ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า ความต้องการบุคลากรที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะด้านการสื่อสาร และมีพื้นฐานด้านนิเทศศาสตร์ ส่งผลให้การแข่งขันของคณะนิเทศฯ มีความรุนแรงสูง ทั้งการพัฒนาหลักสูตรใหม่ๆออกมาเป็นจุดขาย ขณะที่มหาวิทยาลัยเองมีนโยบายที่จะเน้นพัฒนาหลักสูตรให้ผู้เรียนมีทักษะที่หลากหลาย โดยเน้นการพัฒนาให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียน เนื่องจากปัจจุบันพบว่า ผู้เรียนมีพฤติกรรม ค่านิยม และความชื่นชอบที่แตกต่างจากในอดีต โดยพบว่า ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ต้องการที่จะเป็นผู้ประกอบการเอง ไม่ใช่เรียนจบเพื่อออกไปทำงาน

"การพัฒนาหลักสูตรของคณะนิเทศฯ มหาวิทยาลัยกรุงเทพจึงต้องวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมผู้เรียนอย่างละเอียด เพื่อให้เข้ากับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ เป็นกลุ่ม Gen Z ที่มีเป้าหมายของตนเองคือมีกิจการของตนเอง ไม่ต้องการทำงานกับองค์กรใหญ่ หรือที่เรียกว่า GIG Economy การประกอบอาชีพเล็กๆ ซึ่งสามารถทำได้พร้อมกับเรียนไปด้วย หรือทำหลายๆงานในเวลาเดียวกัน ซึ่งงานประเภทนี้เป็นงานที่หลากหลายและต้องใช้ทักษะสูง แต่ผู้เรียนจะยึดไลฟ์สไตล์ของตนเองเป็นหลัก แตกต่างจากในอดีตที่ผู้ที่จบคณะนิเทศฯ จะต้องเป็นนักข่าว หรือทำงานในแวดวงที่เกี่ยวข้อง เช่น วงการโฆษณา เป็นต้น"

ปัจจุบันในระดับปริญญาตรี มีทั้งสิ้น 7 หลักสูตร ได้แก่ สาขาวิชาภาพยนตร์ , ศิลปะการแสดง , การสื่อสารตรา , การประชาสัมพันธ์ , โฆษณา , วารสารศาสตร์ และ วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ โดยการออกแบบหลักสูตรของคณะนิเทศฯ จะนำเอาไลฟ์สไตล์ของผู้เรียนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่อาชีพเป็นตัวตั้ง ร่วมกับบรรยากาศโดยรอบ และกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งจะช่วยหล่อหลอมให้บุคลากรออกมามีศักยภาพ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการฝึกงาน ซึ่งจะนำมาผสมผสานเพื่อให้เด็กที่จบออกมาสามารถทำงานได้ทันที หรือพร้อมใช้งานได้เลย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,163 วันที่ 5 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559