เปิดใจซีอีโอคนใหม่ วอลโว่กรุ๊ป

06 มิ.ย. 2559 | 07:00 น.
การประกาศแผนลงทุนกว่า 5 พันล้านบาทของวอลโว่ กรุ๊ปในประเทศไทย เพื่อทำการผลิตและจำหน่ายรถบรรทุกแบรนด์วอลโว่ และ ยูดี ทรัคส์ ถือเป็นการแสดงความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมยานยนต์ และการแสดงจุดยืนในการลงทุนในไทย ซึ่งโครงการดังกล่าวยังแล้วเสร็จก่อนกำหนดเวลา จากเดิมที่คาดว่าจะเสร็จในปี 2558 เพื่อรองรับเออีซี ก็สามารถแล้วเสร็จก่อนตั้งแต่ปี 2557

ไม่เพียงแต่การให้ความสำคัญเกี่ยวกับการลงทุนในส่วนของโครงสร้างต่างๆ แต่วอลโว่ กรุ๊ปยังให้ความสำคัญบุคลากรด้วยการแต่งตั้งผู้บริหารลูกหม้อคนไทยอย่าง นายกำลาภ ศิริกิตติวัฒน์ ให้ก้าวขึ้นมาเป็น ประธานกรรมการของบริษัท วอลโว่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) ซึ่งถือเป็นผู้บริหารคนไทยคนแรกที่ได้นั่งตำแหน่งนี้ มีผลนับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2559
-บทบาทหน้าที่และเป้าหมาย

วอลโว่กรุ๊ปในไทย ไม่ใช่แค่ดูตลาดของประเทศไทย แต่ยังดูแล สปป.ลาว ,กัมพูชา,เวียดนาม,เมียนมาร์ และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป้าหมายของบริษัทฯสำหรับตลาดในไทยนั้นคือการเป็นผู้ให้บริการขนส่งครบวงจร เป็นที่ปรารถนาของลูกค้า และทำอย่างไรให้ลูกค้าประสบความสำเร็จ เพราะเชื่อว่าหากลูกค้าสำเร็จเราก็จะได้รับความสำเร็จเช่นเดียวกัน กล่าวคือ จะต้องคิดเสมอว่าทำอย่างไรรถของลูกค้าจะล้อหมุนได้ จะหาเงินได้ ไม่ใช่แค่การขายรถให้กับลูกค้าเท่านั้น แต่เราคำนึงถึงกำไรของลูกค้าที่จะได้กลับคืนมา ดังจะเห็นจากการจัดกิจกรรมของเรา อาทิ การแข่งขันขับประหยัดน้ำมัน ที่จะเป็นการฝึกให้พนักงานขับรถให้ขับขี่แบบประหยัดและช่วยลดต้นทุน และยังมีการส่งเทรนเนอร์ให้ไปสังเกตพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงานขับขี่ พร้อมทั้งมีการแนะนำการขับขี่อย่างไรที่จะประหยัดน้ำมัน และขับขี่ปลอดภัย

ส่วนบทบาทหน้าที่ในตลาดต่างประเทศนั้น ก็จะมีการเจาะตลาดแบบขายปลีกมากขึ้น เข้าหากลุ่มโลจิสติกส์ จากแต่เดิมที่จะอิงกับโปรเจคต่างๆอาทิก่อสร้าง,งานเหมือง ทั้งนี้เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตของตลาดดังกล่าว โดยปัจจุบันมีการเข้าไปแต่งตั้งพาร์ทเนอร์เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศต่างๆ และที่ผ่านมามีผลประกอบการที่น่าพอใจ

แผนงานในปี 2559

ปัจจุบันวอลโว่ มีโรงงานประกอบในไทย ซึ่งตั้งอยู่ กม.26 บางนา มีกำลังการผลิตรวม 2 หมื่นคันต่อปี แต่ผลิตจริงในตอนนี้ประมาณ 30% โดยโรงงานดังกล่าวถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ โดยเฉพาะแบรนด์ยูดี ที่ถือเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก ขณะที่ศูนย์บริการที่ลงทุนกว่า 2 พันล้านบาท จากเดิมที่มี 4 แห่ง ปัจจุบันมี15 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าเพียงพอและครอบคลุมแผนงานนอกเหนือกจากนี้

ส่วนแผนงานด้านผลิตภัณฑ์ เนื่องจากวอลโว่ เพิ่งจะเปิดตัวไปเมื่อสองปีก่อน ขณะที่ยูดี ทรัคส์ ก็เพิ่งทำการเปิดตัวไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งในแง่ของโมเดลใหม่จะยังไม่มีให้เห็น เนื่องจากอายุของผลิตภัณฑ์ของรถประเภทนี้จะอยู่ทีประมาณ 15 ปี อย่างไรก็ตามอาจจะมีการปรับเปลี่ยนบ้าง อาทิเปลี่ยนเกียร์

ด้านแผนการตลาด ได้มีการจัดกิจกรรมใหญ่ อาทิ "ฟิววอท์ช คอมเพทิชัน 2016"ที่จะค้นหานักขับประหยัดน้ำมัน ชิงรางวัลมูลค่ากว่า 4 แสนบาท และเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันกับนักขับจากทั่วโลก ณ ประเทศสวีเดน

แผนงานอื่นๆ

ในแง่การลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างต่างๆยังไม่มีแผน แต่จะมีการพัฒนาบุคลากร ไม่เพียงเท่านั้นจะมีการพัฒนาการบริการหลังการขาย ,คอลเซ็นเตอร์ นอกจากนั้นแล้วกำลังมีการจัดตั้งแผนกรถมือสอง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนให้ลูกค้ามาซื้อรถใหม่ โดยก่อนหน้านั้นได้เริ่มดำเนินการมาบ้างแล้ว และได้รับการตอบรับที่ดีและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เรามีการวางโครงสร้างและจะดำเนินการอย่างเป็นทางการต่อไป โดยรถที่จะนำมาขายมือสองนั้น จะต้องเป็นรถที่เข้ามาใช้บริการหลังการขาย มีข้อมูลประวัติที่ตรวจเชคได้ ซึ่งปัจจุบันมีรถที่เข้ามาประมาณ 50 -70 คันต่อปี และมีอายุประมาณ 5 ปีขึ้นไป

ผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา

ยอดขายของวอลโว่ ทรัคส์ในปีที่ผ่านมา แบ่งออกเป็น วอลโว่ 504 คัน ลดลงจากปี 2557 ประมาณ 11 % ส่วนยูดี ทำยอดขายได้ 512 คัน เติบโต 112 % โดยยอดขายของยูดีที่เติบโตเป็นผลมาจากการเปิดรถรุ่นใหม่สู่ตลาดกว่า 24 โมเดล มีเครื่องยนต์ มีแบบให้ลูกค้าเลือกมากขึ้น ทำให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ นอกจากนั้นแล้วยังมีการมอบฟรีบำรุงรักษานาน 3 ปี ก็ยิ่งทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นและตัดสินใจซื้อ

ขณะที่ผลการดำเนินงานในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาพบว่า ยูดีทำยอดขายได้ 250 คัน ส่วนวอลโว่ 70- 80 คัน ซึ่งบริษัทฯคาดหวังว่ายอดขายจะเติบโตมากกว่าปีที่ผ่านมา ด้านส่วนแบ่งทางการตลาดของ 4 เดือนที่ผ่านมา ทั้ง 2 แบรนด์รวมกันทำได้กว่า 6% ซึ่งเติบโตเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 5.7 % หรือหากแยกแบรนด์จะพบว่าในปี 2558 วอลโว่มีส่วนแบ่งทางการตลาด 3.5% และยูดี 2.5 %

ตลาดส่งออก

ตลาดส่งออกในปีที่ผ่านมาสามารถส่งออกไปจำนวน 421 คัน และบทบาทด้านการส่งออก หรือยอดขายของไทยถือว่าติด 1 ใน 5 ของภูมิภาค และยังเป็นฐานการผลิตที่สำคัญโดยเฉพาะแบรนด์ยูดี เพราะปัจจุบันโรงงานที่ตั้งอยู่ที่ญี่ปุ่น ก็จะป้อนตลาดในประเทศ ส่วนอีกหนึ่งโรงงานที่อินเดียก็เช่นเดียวกัน มีเพียงโรงงานที่ไทย ที่นอกจากจะป้อนตลาดในประเทศแล้วยังทำการส่งออกไปประเทศต่างๆอาทิอินโดนีเซีย และ อัฟริกาใต้ ซึ่งอนาคตก็จะมีการศึกษาว่าจะสามารถส่งไปประเทศไหนได้อีก

ภาพรวมตลาดรถบรรทุก-รถหัวลาก

3 – 4 เดือนที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น โดยต้นปีภาพรวมตลาดหดตัวลง 20% พอมาถึงเดือนเมษายน ตลาดหดตัวน้อยลง ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้าสู่ฤดูกาลขายรถ และทิศทางของการลงทุนจากภาครัฐในโครงการต่างๆที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 3 การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจ การนำเข้า-การส่งออก ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นปัจจัยบวก ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นกังวล คือความชัดเจนของการเมือง ส่วนปัจจัยอื่นๆที่มาจากต่างประเทศนั้นก็ยังประเมินไม่ได้ว่าจะกระทบหรือไม่กระทบอย่างไร แต่เท่าที่ดูตลาด อาทิ ยุโรปก็เริ่มฟื้นตัว ,สหรัฐอเมริกายังไม่ค่อยดีเช่นเดียวกับลาตินอเมริกา ส่วนจีนก็ยังไม่ดีเท่าไร

อย่างไรก็ตามประเมินว่ายอดขายของตลาดรถบรรทุกในปีนี้จะอยู่ที่ 1.5 หมื่นคัน หรือลดลงไม่ถึง 10% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มียอดขาย 1.69 หมื่นคัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,163 วันที่ 5 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559