ACTผนึกรัฐเร่งอุดช่องทุจริต ใส่‘ข้อตกลงคุณธรรม’ในกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง

07 มิ.ย. 2559 | 14:00 น.
นับตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 1 ปีที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ทำ "ข้อตกลงคุณธรรม" (Integrity Pact: IP) ร่วมกัน ก่อนขยายผลให้มีผู้สังเกตการณ์ร่วมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ภายในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "ข้อตกลงคุณธรรม" จัดโดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT ร่วมกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง

[caption id="attachment_59777" align="aligncenter" width="700"] รายชื่อโครงการที่เข้าร่วมจัดทำข้อตกลงคุณธรรม ปีงบประมาณ 2559 รายชื่อโครงการที่เข้าร่วมจัดทำข้อตกลงคุณธรรม ปีงบประมาณ 2559[/caption]

นายอดิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัญหาคอร์รัปชันรัฐบาลให้ความสำคัญถือเป็นวาระแห่งชาติ อยากเคลียร์ให้หมด แต่คงยาก ซึ่งที่ผ่านมามีหลายมาตรการออกมาต่อเนื่อง ส่งผลให้การจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันของไทยดีขึ้น โดยปี 2557 ไทยอยู่ลำดับที่ 85 จาก 120 กว่าประเทศ ในปี 2558 ดีขึ้นมาอยู่ลำดับที่ 76 จาก 168 ประเทศ อยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน ยังไม่พอใจกับอันดับดังกล่าว รัฐบาลต้องการให้ประเทศไทยใสสะอาดมากขึ้น

"พูดถึงเรื่องทุจริตคอร์รัปชันในส่วนของภาครัฐ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างซึ่งแต่ละปีมีงบประมาณลงทุนกว่า 5 แสนล้านบาท หากมีมาตรการป้องกันไม่ให้รั่วไหล ไม่ต้องมากแค่ 10 % ก็เท่ากับ 5 หมื่นล้านบาทที่สามารถนำมาพัฒนาประเทศได้มหาศาล

สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการไปแล้ว คือ การจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (e-market) และวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ผลเป็นที่น่าพอใจ รัฐบาลสามารถประหยัดงบได้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท การนำภาคเอกชนมาร่วมสังเกตการณ์ตั้งแต่ต้น ยืนยันว่า ไม่เป็นอุปสรรคให้งานล่าช้าแต่อย่างใด กลับทำให้ผู้ปฏิบัติงานสบายใจ เพราะมีคนคอยแนะนำ เกิดความมั่นใจในการทำงาน จากข้อดีดังกล่าว ในร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างได้นำข้อตกลงคุณธรรมมาบรรจุไว้ในร่างฉบับนี้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และคงอยู่ต่อไป โดยคาดว่า จะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี( ครม.)ได้ในวันอังคารหน้านี้

การจัดซื้อจัดจ้าง มิใช่ช่องทางเดียวที่ทำให้เกิดปัญหาคอร์รัปชัน กล่าวกันว่า หากรัฐบาลกำหนดกฎหมายเพิ่มขึ้นเพียง 1 ใบก็จะเกิดการคอร์รัปชันขึ้น 1 จุด ดังนั้น จึงต้องปลูกจิตสำนึกให้กับคนรุ่นใหม่ สอนกันตั้งแต่เด็กให้เกิดความละอาย หวังว่า เจอเนเรชันหน้าจะมีมากขึ้น และทำให้คอร์รัปชันของไทยค่อยๆลดลงได้ พร้อมกันนี้เรียกร้องให้ภาคเอกชนช่วยกันดูแลมีส่วนร่วม อาทิ จ่ายภาษีให้ถูกต้อง และจัดทำระบบบัญชีเดียว เป็นต้น มาตรการที่ได้ผลักดันออกมา เป็นการวางพื้นฐานเพื่อให้ประเทศก้าวไปสู่เป้าหมายการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (Middle Income)

[caption id="attachment_59778" align="aligncenter" width="373"] ประมนต์ สุธีวงศ์  ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ประมนต์ สุธีวงศ์
ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)[/caption]

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ระบุตอนหนึ่งว่า ข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งเพื่อป้องกันการทุจริตในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) นั้น ได้นำเสนอให้กับรัฐบาลก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ

กระทั่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เห็นความสำคัญ กำหนดให้แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นวาระแห่งชาติ ได้ตั้ง คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เดินหน้ายุทธ์ศาสตร์ 3 ป. (ปราบปราม ปลูกฝัง ป้องกัน) โดยใช้ข้อตกลงคุณธรรม เป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อน เพื่อทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในทุกระดับ

ในระดับสากลนั้นได้ใช้และประสบความสำเร็จมาแล้ว สำหรับประเทศไทยถือเป็นเรื่องใหม่ เริ่มต้นในลักษณะของการเป็นมติคณะรัฐมนตรี เริ่มนำร่องใน 3 โครงการ คือ โครงการจัดซื้อรถเอ็นจีวี ของ ขสมก. โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน(ส่วนต่อขยาย) และโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 นอกจากนี้ยังมีอีก 2 มาตราซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา คือ มาตรการสร้างความโปร่งใสในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ภาครัฐ (CoST) ซึ่งใช้กับโครงการที่มีความซับซ้อน และมาตรการสร้างความโปร่งใสในการสกัดทรัพยากรธรรมชาติ (EITI)

"ทั้ง 3 มาตรการดังกล่าวเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้ประชาชนหรือเจ้าของภาษีเข้าไปมีส่วนร่วมดูแลภาษีของตัวเอง ที่จะขยายต่อไปและมีความถาวรในอนาคต"

ขณะที่นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2558-2559 มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่นำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้แล้วรวม 26 โครงการจาก 24 หน่วยงาน คิดเป็นมูลค่า 55,933 ล้านบาท โดยแต่ละโครงการมีรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างและดำเนินการที่ซับซ้อนแตกต่างกัน และขณะนี้กรมบัญชีกลางในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตอยู่ระหว่างการจัดเตรียมการคัดเลือกโครงการที่จะจัดทำข้อตกลงคุณธรรมสำหรับปีงบประมาณ 2560

"สำหรับร่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎี ทราบว่า ขณะนี้ได้ส่งร่างมาที่สำนักเลขาธิการครม.แล้ว คาดว่า สัปดาห์หน้าจะเข้า ครม. ก่อนส่งต่อไปยัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาผ่านความเห็นชอบและนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศบังคับใช้ ระหว่างนี้ทางกรมบัญชีกลางได้ตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อจัดทำกฎหมายลูก ระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ เอาไว้รองรับกฎหมายฉบับดังกล่าวแล้ว"

Photo : pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,163 วันที่ 5 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559