จ่ายเงินผ่านบัตรดันจีดีพีไทยเพิ่มขึ้น 1.13 แสนล้านบาทในช่วงห้าปีที่ผ่านมา

02 มิ.ย. 2559 | 08:43 น.
ผลสำรวจของวีซ่า จัดทำโดย บริษัท มูดี้ส์ อนาลิติคส์ (Moody’s Analytics) แสดงให้เห็นว่า จำนวนธุรกรรมและมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงการชำระผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรพรีเพด เพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจไทยถึง 3.18 พันล้านดอลล่าสหรัฐ  (1.13 แสนล้านบาทโดยประมาณ) หรือสูงขึ้น 0.19 เปอร์เซ็นต์ในอัตราการเติบโตของจีดีพีทั้งหมด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ถึงพ.ศ. 2558 ซึ่งถือได้ว่าเป็นค่าเฉลี่ยที่เพิ่มสูงที่สุดในทวีปเอเชีย

เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค อัตราการเติบโตของจีดีพีที่เป็นผลมาจากการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยโตมากกว่าถึงสามเท่าตัว ในทวีปเอเชีย “อีเพย์เมนต์” ดันจีดีพีของภูมิภาคโดยรวมเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 0.06 เปอร์เซ็นต์ สำหรับประเทศที่มีการเติบโตรองจากประเทศไทย คือเวียดนามที่ 0.14 เปอร์เซ็นต์ และตามมาด้วยสิงคโปร์ที่ 0.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในประเทศไทยเองนั้นผลพลอยได้จากการเติบโตของการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นสร้างงานกว่า 75,730 อัตรา ต่อปี ในช่วงเวลาห้าปี

นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า งานวิจัยได้แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ต่างๆของระบบชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไม่เฉพาะในประเทศไทยแต่ทุกประเทศทั่วโลกด้วย โดยผลสำรวจยังระบุให้เห็นว่านโยบายรัฐบาลที่เหมาะสมจะช่วยพัฒนาระบบชำระเงินที่เปิดกว้างและมีการแข่งขันที่สูงขึ้น ทั้งยังส่งผลถึงการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและสนับสนุนให้เกิดการสร้างงานอีกด้วย

“ในประเทศไทย วีซ่าได้ร่วมมือกับสถาบันทางการเงิน ร้านค้า บริษัทด้านเทคโนโลยี และหน่วยงานภาครัฐ  เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อให้การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงและจับต้องได้ รวมไปถึงการเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจ การยอมรับในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยขยายร้านค้าทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมไปถึงการนำประโยชน์ในการชำระเงินผ่านบัตรมาให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ”นายสุริพงษ์ กล่าว

ผลสำรวจโดย มูดี้ส์ อนาลิติคส์ ได้ทำการวิเคราะห์ถึงผลกระทบของการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ในด้านการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ จาก 70 ประเทศทั่วโลก ระหว่างปี พ.ศ. 2554 – 2558 เผยให้เห็นว่าการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรพรีเพด มีส่วนเพิ่มมูลค่าให้จีดีพีถึง 296 พันล้านดอลล่าสหรัฐ และยังส่งผลต่อการบริโภคสินค้าและบริการในระดับครัวเรือนโดยเฉลี่ย 0.18 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์ของมูดี้ส์ยังประเมินจำนวนเฉลี่ยของงานที่เกิดจากระบบการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ที่ 2.6 ล้านงานต่อปีภายในห้าปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการเปลี่ยนจากการใช้เงินสดมาเป็นธุรกรรมการเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น งานวิจัยนี้เก็บข้อมูลครอบคลุม 70 ประเทศคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 95% ของจีดีพีของโลก

นายมาร์ค แซนดี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมูดี้ส์ อนาลิติกส์ กล่าวว่า “การชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มีส่วนเป็นอย่างมากในการสนับสนุนการบริโภคภายใน การเพิ่มศักยภาพการผลิตภาคส่วนอุตสาหกรรม การเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจ และการสร้างงาน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ประเทศที่มีการใช้บัตรสูง จะมีอัตราการเจริญเติบโตในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจที่สูงตามมา”

ผลสำรวจดังกล่าวยังถูกนำไปใช้ในรายงาน “ผลกระทบของการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสู่การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์จะเอื้อประโยชน์ให้กับภาครัฐ รวมทั้งสร้างความแข็งแกร่งและเปิดโอกาสให้กับอีกหลากหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้การชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยลดจำนวนของเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งเป็นลักษณะการทำธุรกิจที่ใช้เงินสดเป็นหลัก และไม่ได้รวมอยู่ในสถิติทางราชการ โดยผลที่ได้จากการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ในส่วนนี้คือ รัฐจะมีรายได้ที่มาจากการจ่ายภาษีมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมด้วยเงินสด สร้างความมั่นใจทางการเงินให้กับร้านค้า และทำให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น