ภัยแล้งดันเงินเฟ้อพ.ค.สูงสุดรอบ 17 เดือน

01 มิ.ย. 2559 | 09:31 น.
ภัยแล้งดันเงินเฟ้อพ.ค.สูงสุดรอบ 17 เดือน เพิ่มขึ้น 0.46% แต่เฉลี่ย 5 เดือนเงินเฟ้อยังลด 0.20% ด้าน “พาณิชย์” คงประมาณการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2559 ไว้ที่ 0.0-1.0%

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือนพ.ค.2559 เท่ากับ 107.02 สูงขึ้น 0.46% เทียบกับพ.ค. 2558 ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเป็นอัตราขยายตัวสูงสุดในรอบ 17 เดือน นับตั้งแต่เดือนธ.ค.2557 ที่เงินเฟ้อขยายตัว 0.60% เมื่อเทียบกับเม.ย. 2559 เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.56% แต่เงินเฟ้อเฉลี่ยช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) 2559 ยังลดลง 0.20% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.46% เป็นผลจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 2.97% สินค้าสำคัญราคาแพงขึ้น เช่น ผักสด 27.16% เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ 2.37% ไข่และผลิตภัณฑ์นม 2.20% อาหารบริโภคนอกบ้าน 0.88% อาหารบริโภคในบ้าน 1.07% เครื่องประกอบอาหาร 0.31% ขณะที่ดัชนีหมวดอื่นๆไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.94% สินค้าที่ราคาลดลงคือ น้ำมันเชื้อเพลิง ลด 9.32%  ส่วนสินค้าที่ราคาแพงขึ้น เช่น หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 13.15% จากการเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกรายการสินค้า 450 รายการที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ พบว่า สินค้าราคาสูงขึ้น 193 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 41.31% ของสัดส่วนน้ำหนักรวม เช่น ไข่ไก่ เพิ่ม 1.77% ผักชี เพิ่ม 59.48% พริกสด เพิ่ม 50.88% บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพิ่ม 0.14% ค่าเช่าบ้าน เพิ่ม 0.05% ค่าเล่าเรียน (ค่าธรรมเนียมประถมศึกษาภาคเอกชน) เพิ่ม 1.19% ค่าลงทะเบียน (ค่าธรรมเนียมอุดมศึกษาภาคเอกชน) เพิ่ม 2.18% เป็นต้น ส่วนสินค้าราคาไม่เปลี่ยนแปลงมี 187 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 44.19% ของสัดส่วนน้ำหนักรวม และสินค้าลดลง 70 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 14.50% ของสัดส่วนน้ำหนักรวม

ทั้งนี้ เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนพ.ค. เป็นผลมาจากภาวะภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ส่งผลให้ราคาผักสดและผลไม้ รวมทั้งเนื้อสัตว์บางชนิดปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่เชื่อว่าหลังจากเข้าสู่ช่วงฤดูฝน จะทำให้สถานการณ์ภัยแล้งลดความรุนแรง และระดับราคาสินค้าเกษตรและอาหารอ่อนตัวลงมา ซึ่งอาจทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อไปแกว่งตัวอยู่ในแดนลบได้อีกในบางเดือน

“ภาพรวมเงินเฟ้อปีนี้ไม่น่าจะติดลบ เพราะราคาน้ำมันดิบได้ถึงจุดต่ำสุดและกลับมาเริ่มปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย โดยมีการคาดการณ์เงินเฟ้อในไตรมาส 3 ขยายตัวประมาณ 1% และเงินเฟ้อไตรมาส 4 ขยายตัวประมาณ 2%” นายสมเกียรติ กล่าว

สำหรับเงินเฟ้อทั้งปี 2559 ยังคงประมาณการในอัตราเดิม คือขยายตัวอยู่ระหว่าง 0.0-1.0% ภายใต้สมมุติฐาน คือ อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขยายตัว 2.8-3.8% น้ำมันดิบตลาดดูไบ ราคา 30-40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 36-38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจุบันสนับสนุนสมมุติฐานที่คาดการณ์คือ การลงทุนของภาครัฐ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง สถานการณ์ในตลาดน้ำมันเริ่มคลี่คลาย อุปทานน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบเฉลี่ยเดือนพ.ค.อยู่ที่ 44.27 ดอลลาร์สหรัฐบาร์เรล  และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยพ.ค.อยู่ที่ 35.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐด้านดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (เงินเฟ้อพื้นฐาน) หักรายการอาหารสดและพลังงาน เดือนพ.ค. 2559 เท่ากับ 106.58 สูงขึ้น 0.78% เทียบกับพ.ค. 2558 และสูงขึ้น 0.05% เทียบกับเม.ย. 2559 เฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) 2559 เงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้น 0.72% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา