เปิดศึกชิงสินทรัพย์ปิโตรเลียม2.8แสนล้าน

05 มิ.ย. 2559 | 02:00 น.
กระทรวงพลังงาน เร่งร่างทีโออาร์เปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมหมดอายุ ให้ทันภายในสิ้นปีนี้ หวังรักษากำลังผลิตให้ต่อเนื่อง ขณะที่เอกชนทั้งในและต่างประเทศเกือบ 10 ราย เปิดศึกชิงสินทรัพย์มูลค่า 2.8 แสนล้านบาท แต่ขอดูความชัดเจนราคาหลังหักค่าเสื่อมราคาลงมา ด้านเชฟรอน และปตท.สผ.ประกาศศักดาพร้อมเข้าร่วมประมูล มีโอกาสคว้าชัยชนะ กำข้อมูลต้นทุนอยู่ในมือ ส่วนคปพ.ยังไม่พอใจ ยื่นหนังสือถึง"ประยุทธ์"ต้องเป็นระบบพีเอสซี

[caption id="attachment_58869" align="aligncenter" width="700"] สินทรัพย์ของแหล่งสัมทานเอรวัณและบงกช สินทรัพย์ของแหล่งสัมทานเอรวัณและบงกช[/caption]

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบแนวทางบริหารจัดการแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดสัญญาปี 2565-2566 ในแหล่งเอราวัณ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่จะหมดอายุในวันที่ 23 เมษายน 2565 และแหล่งบงกช ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. แปลง 15 จะหมดอายุในวันที่ 23 เมษายน 2565 และแปลง 16 และ17 จะหมดอายุในวันที่ 7 มีนาคม 2566 โดยเลือกแนวทางการเปิดประมูลเพื่อหาผู้รับสัมปทานรายใหม่ เข้ามาดำเนินการ หลังจากที่สินทรัพย์ทั้งหลายตกเป็นของรัฐนั้น

ทั้งนี้ การดำเนินงานหลังจากนี้ไป กรมจะไปเร่งจัดทำร่างทีโออาร์ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติ และผลตอบแทน ของผู้ที่จะเข้าร่วมประมูล ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน สอดคล้องกับการรอประกาศใช้พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาขั้นสุดท้าย ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

รวมทั้งอยู่ระหว่างรอผลสรุปการประเมินสินทรัพย์ และปริมาณสำรองปิโตรเลียม ที่กรมได้จ้างที่ปรึกษาเข้ามาดำเนินการ เพื่อใช้เปรียบเทียบกับข้อมูลที่เจ้าของสัมปทานเดิมทั้ง 2 ราย ต้องส่งรายการทรัพย์สินให้กรมนพิจารณาด้วย

เร่งประมูลให้ทันในปีนี้

โดยมองว่าขั้นตอนการเปิดประมูลได้ผู้รับสัมปทานรายใหม่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ เป็นอย่างช้า เพื่อให้ผู้ผลิตรายใหม่สามารถไปวางแผนในการผลิตก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 แห่งในประมาณ 2.2 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แยกเป็นแหล่งเอราวัณราว 1.24 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งกงกช 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ให้ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง หลังจากแหล่งสัมปทานสิ้นสุดสัญญาแล้ว

"การเปิดประมูลแหล่งสัมปทานทั้ง 2 แหล่งนั้น จะต้องรอรายละเอียดเงื่อนไขที่ออกมาว่าจะเป็นอย่างไร จูงใจหรือไม่ เพราะหากรัฐต้องการรายได้มากๆ แต่ไม่คำนึงถึงแหล่งปิโตรเลียมและราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ก็อาจไม่มีผู้รับสัมปทานต้องการเข้ามาประมูลมากนัก แม้ว่าจะมีหลายบริษัทที่มีขนาดใหญ่และศักยภาพใกล้เคียงกับเชฟรอนและปตท.สผ. โดยเฉพาะบริษัทของจีน เนื่องจากอาจมองว่าไม่คุ้มค่า อย่างไรก็ตามคงต้องรอทีโออาร์ชัดเจนก่อน รวมทั้งประเมินราคาน้ำมันในปีนี้จะสูงกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลหรือไม่"

เอกชนไทย/เทศสนใจ

แหล่งข่าวจากระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า หลังจากมติกพช.ได้เห็นชอบแนวทางการเปิดประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่หมดอายุทั้ง 2 แหล่งนั้น ส่งผลให้บรรดาผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เกิดการตื่นตัวอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยซื้อซองที่จะยื่นขอสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในรอบ 21 เกือบ 10 ราย มีความสนใจเป็นอย่างมากที่จะเข้าร่วมประมูล ไม่ว่าจะเป็น ผู้ประกอบการรายเดิมอย่างเชฟรอน และปตท.สผ. นอกจากนี้ยังมี บริษัท มูบาดาลา จากสหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์, บริษัท ซีเอ็นพีซีเอชเค (ไทยแลนด์) จำกัด จากจีน, บริษัท ซาลามานเดอร์ เอนเนอร์ยี่ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด จากอังกฤษ, บริษัท สยามไมเอโกะ จำกัด จากญี่ปุ่น , รวมถึงบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และยังมีผู้ประกอบการจากมาเลเซียและแคนาดา ที่ยังไม่เคยเข้ามาสำรวจขุดเจาะได้ให้ความสนใจเช่นกัน

"สำหรับปตท.สผ. นอกจะเข้าประมูลในแหล่งบงกช แล้ว ยังสนใจที่จะเข้าประมูลแข่งกับเชฟรอนในแหล่งเอราวัณอีกด้วย "

ชิงสินทรัพย์2.8แสนล้าน

ในขณะที่สินทรัพย์ของทั้ง 2 บริษัท ที่มีการลงทุนตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน คิดเป็นมูลค่าราว 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2.8 แสนล้านบาท(อัตราแลกเปลี่ยน 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) แยกเป็นแหล่งเอราวัณ ของบริษัท เชฟรอน ประมาณ 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งประกอบไปด้วยแท่นหลุมผลิต จำนวน 28 แท่น แท่นผลิตกลางและแท่นผลิต 5 แท่น แท่นอุปกรณ์เพิ่มแรงดัน 1 แท่น แท่นที่พักอาศัย 2 แท่น และแท่นชุมทางท่อ 1 แท่น ขณะที่แหล่งบงกช สินทรัพย์มีมูลค่าราว 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบไปด้วย แท่นหลุมผลิต 25 แท่น แท่นแท่นผลิตกลางและแท่นผลิต 2 แท่น แท่นที่พักอาศัย 1 แท่น และแท่นชุมทางท่อ 1 แท่น

แต่ทั้งนี้ มูลค่าสินทรัพย์ดังกล่าว ยังไม่ได้มีการหักค่าเสื่อมราคา ที่จะต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาประเมินว่าสุดท้ายแล้ว มูลค่าสินทรัพย์หักค่าเสื่อมราคาแล้วจะอยู่ในระดับใดกันแน่ เพื่อที่จะได้ทราบราคากลางประมูลออกมา ซึ่งคาดว่ามูลค่าสินทรัพย์จะลดลงมาก เนื่องจากมีการใช้งานมาหลายปี ประกอบกับตั้งสินทรัพย์ในราคาที่สูง เกรงว่าจะดึงดูดหรือสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ที่จะเข้ามาประมูลน้อย เพราะอย่าลืมว่า ทางผู้ประกอบการจะต้องกันเงินไว้ก้อนหนึ่งสำหรับการรื้อถอนแท่นที่หมดอายุลงด้วย ซึ่งต้องใช้เงินในส่วนนี้อีกประมาณ 7-10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อแท่น

อีกทั้ง ผู้ที่สนใจจะร่วมประมูลมองว่า ปริมาณสำรองก๊าซที่มีอยู่ ยังสามารถพัฒนาขึ้นมาได้ไม่ต่ำกว่า 10 ปี โดยจะเห็นได้จากข้อมูลกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่ระบุอยู่ในรายงานประจำปี 2557 แหล่งเอราวัณ มีปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว 2,800 พันล้านลูกบาศก์ฟุต และแหล่งบงกช มีประมาณ 1,474 พันล้านลูกบาศก์ฟุต

โอกาสรายเดิมชนะสูง

อย่างไรก็ตาม มองว่าการเปิดประมูลครั้งนี้ ผู้ที่มีโอกาสจะได้แหล่งสัมปทานทั้ง 2 แหล่งนี้ไป จะเป็นผู้ประกอบการรายเดิม เนื่องจากทราบต้นทุนของมูลค่าทรัพย์สิน ต้นทุนการผลิตในแต่ละแปลง ปริมาณสำรองที่จะขุดพบ และมีความชำนาญที่อยู่กับแหล่งผลิตมาเป็นระยะเวลานาน เมื่อเทียบกับรายใหม่ที่จะเข้ามา โดยไม่ทราบข้อมูลต้นทุนทั้งหมด ถือเป็นการเสี่ยงที่จะคว้าแหล่งสัมปทานมาได้

อีกทั้ง การที่รัฐบาลเลือกเปิดประมูล แทนที่จะเจรจากับเจ้าของสัมปทานรายเดิม ถือว่าเข้าทางเชฟรอนและปตท.สผ. เนื่องจากการเจรจาผู้รับสัมปทานรายเดิม อาจจะมีความเสียเปรียบ เพราะจะต้องใช้การแบ่งปันผลประโยชน์ตอบแทนรัฐในระบบไทยแลนด์ ทรีพลัส ซึ่งต้องจ่ายสูงกว่าเมื่อเทียบกับการประมูล ที่มีราคากลางออกมา และผลประโยชน์ตอบแทนจะไม่สูงมากนัก ทำให้นักลงทุนต่างๆ สนใจที่จะเข้ามาประมูลในครั้งนี้

ปตท.สผ.พร้อมสู้ศึก

ด้านนายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ภายหลังจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีมติเลือกแนวทางการเปิดประมูล เพื่อบริหารจัดการแหล่งสัมปทานที่หมดอายุในปี 2565-2566 ยืนยันว่า ปตท.สผ.มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลแหล่งสัมปทานดังกล่าว แต่ยังรอความชัดเจนเงื่อนไขการเปิดประมูลจากทางภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ว่ารัฐจะประกาศใช้แนวทางใด ทั้งการเจรจาโดยตรงกับผู้รับสัมปทานเดิม และแนวทางการเปิดประมูล ปตท.สผ.ก็มีความพร้อม

นายปรัชญา ภิญญาวัธน์ ประธานคณะกรรมการ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ.เห็นด้วยกับแนวทางการเปิดประมูลแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุสัญญาในปี 2565-2566 และมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลแข่งขัน แต่คงต้องรอดูเงื่อนไขของภาครัฐก่อนว่าจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยเฉพาะแหล่งปิโตรเลียมในทะเล ซึ่งไม่เหมือนธุรกิจอื่นๆ เนื่องจากต้องใช้เงินสำรวจล่วงหน้า เพื่อจะได้ทราบแน่ชัดว่าจะผลิตอย่างไร จึงมีความเสี่ยงสูง ดังนั้นก็น่าเป็นห่วงว่าช่วงรอยต่อสัมปทาน หากประมูลได้ผู้รับสัมปทานรายใหม่เข้ามาผลิต อาจส่งผลให้กำลังการผลิตก๊าซหายไปได้

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ปตท.สผ.มองว่าแนวทางการเจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิม โดยรัฐต้องการให้ผลตอบแทนประเทศเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่ดีที่สุด เพื่อรักษากำลังการผลิตก๊าซฯให้คงเดิม แต่เมื่อรัฐเลือกแนวทางเปิดประมูล ก็พร้อมดำเนินการตาม แต่ต้องดูว่ารัฐจะพิจารณาในส่วนของภาษีการลงทุนและการรื้อถอนแท่นขุดเจาะเดิม หากไม่ได้ผลิตต่อจะทำอย่างไร

แหล่งข่าวจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยว่า เชฟรอนจะยังคงทำงานและประสานความร่วมมือกับรัฐบาลในเรื่องสัมปทานที่จะหมดอายุต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหยุดชะงักในการจัดหาก๊าซฯให้กับประเทศ

คปพ.ส่งหนังสือค้าน

ด้านนางสาวรสนา โตสิตระกูล เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน(คปพ.) เปิดเผยว่า กรณีที่ กพช. มีมติให้เอกชนสามารถต่ออายุสัมปทาน แม้ว่าจะเป็นแนวทางเปิดประมูลก็ตาม เพราะนั่นคือการทำผิดกฎหมาย เพราะในพ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ระบุชัดเจนว่าหากหมดอายุสัญญาแล้ว ทรัพย์สินทั้งหมดจะต้องตกเป็นของรัฐเท่านั้น แต่กระทรวงพลังงานกลับใช้วิธีการเอื้อผลประโยชน์ให้กับเอกชน ทำให้ประเทศเกิดความเสียหาย โดยการอ้างว่าจะทำให้กำลังการผลิตก๊าซหายไปจนส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า

โดยเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ทาง คปพ.ยื่นหนังสือคัดค้านต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังต้องการให้พิจารณาเรื่องการแต่งตั้งองค์กรก๊าซแห่งชาติหรือบรรษัทพลังงานแห่งชาติเข้ามา เพื่อเข้ามากำกับดูแลระบบพีเอสซี หรือระบบจ้างผลิตต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,162 วันที่ 2 - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559