เล็งผุด17สถานีขนส่งสินค้า เชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

04 มิ.ย. 2559 | 13:00 น.
คมนาคมเร่งพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค เชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ตลอดจน เมืองอุตสาหกรรมแต่ละภาค ขีดกรอบ 4 ระยะดำเนินการปี 61-78 ครอบคลุม 17 จังหวัด งบดำเนินการกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท สจล.เผยสถานีเชียงของรองบก่อสร้าง ส่วนนครพนมเร่งจัดหาที่ดิน จับตา "ขอนแก่น-สุราษฎร์ธานี" จ่อคิว วงในชี้มีความเป็นไปได้ที่จะใช้พื้นที่เอกชน หลังราชพัสดุปฏิเสธการขอใช้ใน 7 จังหวัด

นายดรุณ แสงฉาย รองปลัดกระทรวงคมนาคมและโฆษกกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางถนนว่าจะเป็นการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่นกรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร การรถไฟแห่งประเทศไทย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย โดยได้รับทราบผลการศึกษาความเป็นไปได้และรูปแบบการบริหารสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) ซึ่งระบุตำแหน่งที่ตั้งที่เหมาะสมสำหรับจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้า รองรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จำนวน 17 แห่งไว้แล้ว

ทั้งนี้ผลการศึกษาได้แบ่งระยะเวลาการพัฒนาสถานีฯออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ดำเนินการในปีงบประมาณ 2561 – 2563 ประกอบด้วยสถานีขนส่งสินค้าที่จังหวัดหนองคาย ,สงขลา ,สระแก้ว ,ตาก และมุกดาหาร ส่วนระยะที่ 2 ดำเนินการในปีงบประมาณ 2562 – 2564 ประกอบด้วย ขอนแก่น ,สุราษฎร์ธานี ,เชียงราย ระยะที่ 3 ดำเนินการในปีงบประมาณ 2563 – 2565 ประกอบด้วย อุบลราชธานี ,นครราชสีมา ,เชียงใหม่ ,นครสวรรค์ และระยะที่ 4 ดำเนินการในปีงบประมาณ 2565 – 2578 ประกอบด้วย พิษณุโลก ,นราธิวาส ,กาญจนบุรี ,ปราจีนบุรี ,ตราด รวมวงเงินงบประมาณดำเนินการทั้ง 4 ระยะ กว่า 1.7 หมื่นล้านบาท

นายดรุณ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับพื้นที่ที่เหมาะสมจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้าทั้ง 17 จังหวัดที่กล่าวมา จากผลการศึกษาได้คัดเลือกพื้นที่ของราชพัสดุ 10 แห่ง ได้แก่ สงขลา หนองคาย มุกดาหาร สระแก้ว ตาก ตราด เชียงราย กาญจนบุรี ขอนแก่น และนครสวรรค์ แต่ขณะนี้ปรากฏว่าทางราชพัสดุปฏิเสธการขอใช้ใน 7 จังหวัด มี สงขลา ตาก ตราด เชียงราย ขอนแก่น มุกดาหาร และหนองคาย ประชาชนเช่าใช้พื้นที่ 1 แห่ง และอยู่ระหว่างการพิจารณา 2 จังหวัด นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ที่เป็นเอกชน 6 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา เชียงใหม่ พิษณุโลก และปราจีนบุรี

"ได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการดำเนินโครงการ รวมทั้งพิจารณาการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกันของหน่วยงานภายในกระทรวง โดยคำนึงถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่สำคัญ เช่น อาคารรวบรวมและกระจายสินค้า คลังสินค้า และการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบกับระบบราง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางถนนด้วยรถบรรทุก รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป"นายดรุณกล่าว

ด้านดร.จารุวิสข์ ปราบณศักดิ์ รองคณบดี วิทยาลัยนานาชาติ สจล. กล่าวว่า ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกมีสถานีขนส่งสินค้าเปิดให้บริการแล้วจำนวน 3 แห่งคือ ร่มเกล้า(ลาดกระบัง) พุทธมณฑล(จ.นครปฐม) และ ที่คลองหลวง (จ.ปทุมธานี) โดยรัฐจัดหาที่ดินทั้งหมดและเปิดโอกาสให้เอกชนเสนอสิทธิ์เข้าไปรับบริหารจัดการ ส่วนอีก 2 แห่งที่ไม่ได้จัดเอาไว้ในการศึกษาของสจล.ในครั้งนี้ คือที่ อำเภอเชียงของ(รองบประมาณก่อสร้าง)และนครพนม(อยู่ระหว่างจัดหาที่ดิน) คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2561-2562 นี้ ส่วนระยะต่อไปพบว่าขอนแก่นและสุราษฎร์ธานีมีความเหมาะสมที่จะเร่งผลักดัน

เบื้องต้นกำหนดระยะเวลาไว้ 30 ปี ซึ่งเอกชนบางรายสนใจเสนอขายที่ดินส่วนหนึ่งให้ภาครัฐ หรือถ้าเวนคืนต้องได้ราคาที่เป็นธรรมเท่านั้น แต่ต้องรอดูว่านโยบายภาครัฐท้ายที่สุดแล้วจะเอาอย่างไร อาจต้องใช้รูปแบบการลงทุนตามพ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยรัฐจะลงทุนด้วยการจัดหาที่ดินและติดตั้งระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ส่วนเอกชนลงทุนเข้าไปรับบริหารจัดการโครงการ เพราะโครงการนี้ยังมีอีกหลายส่วนที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติ โดยเฉพาะสถานีตามชายแดนที่สามารถจำกัดโควตากับรถของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านให้จำกัดอยู่ในพื้นที่ไว้ได้ จึงไม่ต้องวิ่งเข้ามาวิ่งในประเทศไทยและรถของไทยก็ไม่ต้องเข้าไปวิ่งในเส้นทางของประเทศต่างๆ ให้แลกสินค้าและยกขนกันในพื้นที่ที่จำกัดไว้ได้ทันทีจึงสามารถป้องกันปัญหาหลายอย่างเอาไว้ได้"

ดร.จารุวิสข์ กล่าวอีกว่าว่าอย่างไรก็ดีขณะนี้ทั้ง 17 สถานีมีสถานที่ชัดเจนในระดับหนึ่งแล้วซึ่งในอนาคตจะเป็นทำเลทองที่สามารถนำพาความเจริญมาสู่พื้นที่ดังกล่าวได้ทันที แต่พบว่ามีที่ดินเอกชนหลายแปลงน่าสนใจดังนี้คือ พื้นที่นราธิวาส วงเงินลงทุน 546 ล้านบาท ติดถนนทางหลวงหมายเลข ทล.42 ใกล้ตลาดเกษตรกลาง 53 ไร่ จ.สุราษฎร์ธานี อ.พุนพิน วงเงินลงทุน 1,339 ล้านบาท ติดลานกองตู้สินค้าสถานีรถไฟทุ่งโพธิ์ 134 ไร่ อุบลราชธานี อ.วารินชำราบ วงเงินลงทุน 1,145 ล้านบาท ใกล้ถนนทล. 226 ห่างจากสถานีบุ่งหวาย 1 กิโลเมตร ขนาด 109 ไร่ นครราชสีมา วงเงินลงทุน 1,372 ล้านบาท ติดถนนทล. 2 และวงแหวนรอบนอกด้านทิศเหนือ ขนาด 141 ไร่ เชียงใหม่ ต.หนองผึ้ง อ.สารภี วงเงินลงทุน 1,769 ล้านบาท ติดถนนทล. 11 ใกล้สถานีรถไฟสารภี ขนาด 95 ไร่ พิษณุโลก ต.บึงพระ อ.เมือง วงเงินลงทุน 1,767 ล้านบาท ใกล้ถนนทล.126 ติดสถานีรถไฟบึงพระ ขนาด 61 ไร่ ปราจีนบุรี ต.บ้านนา อ.กบินทร์บุรี วงเงินลงทุน 852 ล้านบาทใกล้ถนนทล.33 และสถานีรถไฟหนองสัง ขนาด 60 ไร่ รวมทั้งสิ้นกว่า 8,790 ล้านบาท

แหล่งข่าวระดับสูงกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมให้เลือกใช้ที่ดินของภาครัฐเป็นลำดับแรกก่อน แต่จากการลงพื้นที่ของกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาพบว่ามีเพียงบางแปลงเท่านั้นที่น่าจะสามารถนำไปใช้งานได้ ส่วนอีกหลายแปลงพบว่าเจ้าของที่ดินนั้นๆมีแผนนำไปพัฒนารองรับไว้แล้ว หรือรองบประมาณดำเนินการ ประการสำคัญยังพบอีกว่าตำแหน่งหรือโลเกชันไม่เหมาะสม ดังนั้นแนวโน้มจึงจะต้องไปจัดซื้อที่ดินของเอกชนมาดำเนินการหลายแปลง

สำหรับราคาที่ดินในจังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายนั้น จากรายงานของบริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด เกี่ยวกับราคาที่ดิน ณ สิ้นปี 2558 สุราษฎร์ธานี ราคาที่ดินติดถนนสายหลักไร่ละ 10 – 21 ล้านบาท ส่วนที่ขอนแก่น ราคาที่ดินต่ำสุดไร่ละ 4 ล้านบาท และสูงสุดไร่ละ 80 ล้านบาท หรือที่หนองคาย ต่ำสุดไร่ละเกือบ 5 ล้านบาท และสูงสุดไร่ละ 15 ล้านบาท เช่นเดียวกับที่เชียงใหม่ ถ้าเป็นย่านธุรกิจ อย่างถนนนิมมานเหมินทร์ ราคาไร่ละ 42-80 ล้านบาท ขณะที่ย่านถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ราคาอยู่ระหว่างไร่ละ 21-32 ล้านบาท และที่เชียงราย ย่านไนท์ บาซาร์ ไร่ละ 36-42 ล้านบาท ส่วนถนนวงแหวน ต่ำสุดไร่ละ 13 สูงสุด ไร่ละ 16 ล้านบาท เป็นต้น ทั้งนี้ โดยสรุปราคาที่ดินในต่างจังหวัดมีการขยับปรับราคาเพิ่มขึ้นไม่มาก ต่ำสุดประมาณ 3% และสูงสุดไม่เกิน 10% รอโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐ

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,162 วันที่ 2 - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559