แบงก์รับกระแสฟินเทค/สตาร์ตอัพ ปรับโครงสร้างสายงานหนุนธุรกิจโต/จับมือพันธมิตรต่อยอด

03 มิ.ย. 2559 | 06:30 น.
แบงก์ปรับตัวรับฟินเทคต่อยอดธุรกรรมการเงิน ด้าน "กรุงศรี" ยันไม่แยกบริษัท ขอใช้ผู้เชี่ยวชาญพัฒนาเทคโนโลยีให้ หากเข้าตาพร้อมโดดลงทุนร่วมโดยตรง เผยปรับโครงสร้างสายงานหนุนธุรกิจโต ส่วน "กรุงไทย-แบงก์แลนด์" พร้อมโดดใส่ ลั่น!ขอเริ่มจากองค์กร-จับมือมหาวิทยาลัยพัฒนาแอพพลิเคชันการเงิน

[caption id="attachment_58789" align="aligncenter" width="369"] ฐากร ปิยะพันธ์ ฐากร ปิยะพันธ์[/caption]

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิตอลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยว่า การปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology: FinTech)นั้น ธนาคารมองว่า โมเดลการปรับตัวของธนาคารพาณิชแตกต่างกัน ซึ่งมีทั้งการย้ายออกไปจัดตั้งบริษัทหรือสำนักงานใหม่ แต่บมจ.ธนาคารกรุงศรีเลือกโมเดลไว้ภายในธนาคาร จึงไม่มีงบประมาณในการจัดตั้งสาขา สำนักงานหรือบุคลากร

"มองว่าการออกไปตั้งบริษัทข้างนอกเพื่อหานวัตกรรมมารองรับ โดยนวัตกรรมที่ได้มาอาจจะเป็นเรื่องของ Digital Banking แต่จะเป็นการได้มาจากบริษัทลูก หรือ Subsidiary ซึ่งตัวธนาคารเองจะไม่ได้มีการปรับตัวเลย ดังนั้น แม้ว่าการปรับตัวจากภายในธนาคารเอง อาจจะเห็นผลช้ากว่าการออกไปจัดตั้งสำนักงานข้างนอก แต่ดีกว่าไม่ได้มีการปรับตัวเลย"

นายฐากรกล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระยะข้างหน้า ธนาคารจึงจะมีการปรับโครงสร้างสายงานดิจิตอลแบงกิ้งและนวัตกรรมขึ้นมาใหม่ ภายใต้ชื่อ "Commercial Digital Solution" เป็นกลุ่มงานเดิมของ E-Business การปรับโครงสร้างครั้งนี้เป็นรูปแบบของธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ จำกัด (BTMU) โดยจะแบ่งทีมเป็น External Innovation ,Internal Innovation และ Fintech Startup จะเน้นการโฟกัสเป็นกลุ่ม อาทิ ในเรื่องของดิจิตอลแบงกิ้ง มาร์เก็ตติ้ง และโซเชียลมีเดีย เป็นต้น

ขณะที่ทีม External Innovation จะเป็นการมองเทรนด์ตลาดจากภายนอกและนำมาปรับใช้ตอบโจทย์ลูกค้าและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมถึงธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น บล็อกเชน ที่กำลังมีความสนใจในตลาด ทั้งนี้ โครงสร้างใหม่นี้มีทีมที่มีความพร้อม โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2561 ที่จะมีแผนรองรับในเรื่องต่างๆ เพราะนอกจากจะมีเรื่องของFinTechที่เข้ามาแล้ว หลังจากนี้จะมีเรื่องของดิจิตอลแบงกิ้ง และสาขาธนาคารที่จะต้องเปลี่ยนรูปแบบไปตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งภายใต้แผนดังกล่าวจะเป็นการดำเนินงานรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยในเฟสแรกธนาคารได้ทำโครงการผ่านมหาวิทยาลัย ซึ่งมีหลากหลายธุรกิจ ไม่เฉพาะด้านการเงินเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ระหว่างนี้ธนาคารได้พูดคุยกับFinTechอีก 3-4 ราย โดยในจำนวนดังกล่าวมี 2 รายที่เป็นเรื่องเกี่ยวข้อง Commercial Solution ที่เป็นธุรกิจเอสเอ็มอี และมี 1 ราย เป็นเรื่องระบบชำระเงิน (Payment) และ 1 ราย ทำเรื่องนวัตกรรมการปรับวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งจากเดิมการสื่อสารภายในองค์กรธนาคารจะเป็นการส่งอี-เมล์ แต่ที่จะนำมาใช้นี้จะทำให้การสื่อสารรวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นต้น

ล่าสุดธนาคารได้ร่วมมือกับ RISE ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจสตาร์ตอัพ หรือ Corporate Accelerator แห่งแรกในประเทศไทย ภายใต้โครงการ "Krungsri RISE Fintech Accelerator" ไม่ได้เป็นการถือหุ้นร่วมกันแต่อย่างใด แต่เป็นการต่อยอดองค์ความรู้และการลงทุนให้ธุรกิจสตาร์ตอัพด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ Fintech Startup ซึ่งสามารถมีโอกาสขยายตัวอีกมากจากรูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงตามกระแสเทคโนโลยี เช่น การนำเอาธุรกิจของฟินเทคสตาร์ตอัพมาทำงานร่วมกับธนาคารหรือโอกาสร่วมทุนในลักษณะเวนเจอร์ แคปปิตอล เป็นต้น

"โมเดลการรองรับFinTechมีหลายรูปแบบที่จะใช้ แต่เราเลือกที่จะไว้ในธนาคาร เพราะจะได้เห็นธนาคารปรับตัว รวมถึงเราจะใช้วิธียืมมือของผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญมาช่วยในการเรียนรู้ เพราะจะได้เห็นเทรนการพัฒนาของเทคโนโลยีว่าเปลี่ยนไปแบบไหน แต่หากมีโซลูชันตรงกัน เราก็อาจจะลงทุนโดยตรงกับผู้ที่คิดค้นเลย หรือจะเป็นแค่ลงทุนที่ผู้คิดค้นขายไลเซนส์ตามสัญญากำหนดการใช้งาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตกลง 2 ฝ่าย แต่เฟสนี้เรายังไม่มีแผนที่จะร่วมลงทุนกับใคร แต่แน่นอนธนาคารก็มีวิธีการและแผนลงทุนไว้อยู่แล้ว"

ด้านนายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ บมจ.ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ธนาคารให้ความร่วมมือกับกระทรวงไอซีทีและมหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการสนับสนุน Strat up FinTech โดยมีการเซ็นสัญญาข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับบริษัทเอกชน 20 บริษัท ในการผลักดันเรื่องดังกล่าว ทางธนาคารอาจจะไม่ใช้วิธีการแยกบริษัทโดยเฉพาะ แต่ธนาคารจะพิจารณาจุดดีและจุดด้อยของFinTechเพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจการเงินของธนาคารให้เหมาะสม เช่น การเก็บเงิน จ่ายเงิน หรือการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี เป็นต้น ซึ่งในปีที่ผ่านมาธนาคารได้รับรางวัลในการพัฒนาแอพพลิเคชันถึง 6 รางวัล ซึ่งเด่นๆ จะมีเรื่องของการจองลอตเตอรี่ ที่เข้ามาช่วยลดขั้นตอนและการเข้าถึงมากขึ้น

"เราเป็นรัฐวิสาหกิจอาจจะทำได้ค่อนข้างช้า แต่เราก็ไม่ได้ปิดกั้นตัวเองจากบริษัทFinTechเพราะเป็นพันธมิตรกันอยู่ แต่การเลือกใช้จะต้องดูให้เหมาะสม เพราะฟินเทคมีลักษณะที่แตกต่างกัน แต่ถือเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เราสะดวกขึ้น และมีหลายแอพพลิเคชันที่น่าสนใจ" เช่นเดียวกับนายธานี ผลาวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ บมจ.ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กล่าวว่า ตอนนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการวางแผนนโยบายเรื่องฟินเทคอยู่ โดยในเบื้องต้นจะเน้นการริเริ่มจากภายในองค์กรก่อน เพื่อระดมความคิดของพนักงานและทีมงานผู้เชี่ยวชาญของธนาคารก่อน จึงจะจัดให้มีการประกวดโครงการFin Tech และคัดเลือกความคิดที่น่าสนใจ โดยจะเน้นเรื่องการต่อยอดผลิตภัณฑ์การเงินของธนาคารเป็นหลัก อาจจะเป็น Retail Product หรือแอพพลิเคชันการรวบรวมยอดเงิน-เปรียบเทียบและตรวจสอบบัญชี และการชำระเงิน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไป ธนาคารจะค่อยๆ เริ่มเปิดกว้างสำหรับคนนอก หรือการร่วมทุนกับFinTech เพราะที่ผ่านมาเคยได้เข้ามาพูดคุยกับธุรกิจธนาคารที่สนใจอยากจะร่วมทุนด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ธนาคารคงไม่ใช่รูปแบบการเปิดบริษัทย่อยใหม่ เพื่อรองรับFinTechโดยเฉพาะแต่อย่างใด ส่วนงบประมาณที่จะลงทุนด้านนี้มีจำนวนหนึ่งแต่อาจจะไม่มากนัก เพราะเริ่มจากภายในก่อน

"ระยะแรกเราคงทำจากภายในก่อน หาความคิดดีๆ จากพนักงานก่อน เราคงไม่แยกบริษัทออกไปทำ แต่ระยะต่อไปหลังเราหาจากภายใน ก็คงต้องเปิดออกข้างนอกด้วย เพื่อหาFinTechที่จะมาต่อยอดโปรดักต์เราได้"

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,162 วันที่ 2 - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559