ชี้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นธนาคารประเทศไทยมองไตรมาส2ขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป

05 มิ.ย. 2559 | 09:00 น.
แบงก์ชาติ ชี้ตัวเลขเศรษฐกิจ/การเงินเดือนเมษายน เผยการท่องเที่ยวและบริการแรงหนุนเศรษฐกิจหลัก ด้านการผลิตยังต่ำ-มูลค่าการส่งออกหดตัว 7.6% หรือประมาณ 1.55 หมื่นล้านสหรัฐฯ ด้านการบริโภคเอกชน-ครัวเรือนยังชะลอ ความเชื่อมั่นลดลง 3 เดือนต่อเนื่อง กดการลงทุนภาคเอกชนไม่ฟื้นชัดเจน ระบุไตรมาส 2 ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยง-ภัยแล้งเริ่มคลายกังวล

[caption id="attachment_58895" align="aligncenter" width="421"] ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส  ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)[/caption]

ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2559 ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแรงส่งที่ดีจากภาคบริการ-การท่องเที่ยว ขณะที่ภาคการผลิตยังขยายตัวค่อนข้างต่ำ เพราะการส่งออกสินค้ายังคงซบเซาตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ประกอบกับกำลังซื้อภายในประเทศได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ส่งผลต่อเนื่องให้การลงทุนภาคเอกชนยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องอย่างชัดเจน สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐแผ่วลงเล็กน้อยจากที่เร่งไปค่อนข้างมากในช่วงเดือนก่อนหน้า

ทั้งนี้ ภาคบริการและการท่องเที่ยว นับเป็นแรงขับเคลื่อนหลักต่อเศรษฐกิจไทย โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 2.6 ล้านคน หรือขยายตัวกว่า 9.8% ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนกว่า 16.4% นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นหลังจากหายไปในช่วง 2 ปีก่อน ซึ่งจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวส่งผลต่อร้านอาหาร และการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่ดีขึ้น

ขณะที่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวค่อนข้างต่ำอยู่ที่ 1.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากเทียบเดือนมีนาคมถือว่าทรงตัว โดยที่ภาพรวมการผลิตเพื่อการส่งออก ยังขยายตัวติดลบอยู่ที่ 2.7% ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดือนมีนาคมมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 1.86 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวสูงถึง 7.6% กรณีหักทองคำจำนวน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะหดตัวถึง 7.9% เป็นผลมาจากเศรษฐกิจคู่ค้า เช่นประเทศจีนที่ฟื้นตัวช้า รวมถึงประเทศอาเซียนยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าหลายหมวด โดยเฉพาะราคาสินค้าประเภทปิโตรเคมีที่ได้รับผลกระทบมีอัตราการขยายตัวติดลบ 22% ทำให้ภาพรวมการส่งออกยังอยู่ในภาวะหดตัว

ขณะเดียวกันอุปสงค์ภายในประเทศ โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชยขยายตัวได้ 5.5% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่ต่ำ แต่หากเทียบเดือนมีนาคมจะขยายตัวติดลบ 0.2% ซึ่งหมวดการใช้จ่ายในภาคการบริการยังไปได้ดี แต่การบริโภคหมวดสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ ยังขยายตัวต่ำ นอกจากนี้ภาคครัวเรือนมีความระมัดระวังการใช้จ่าย เนื่องจากรายได้ภาคเกษตรกรหดตัว 3.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนภาคครัวเรือนภาคเกษตรยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย

ดังนั้น จากปัจจัยภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ยังขยายตัวต่ำ และอุปสงค์ภายในประเทศยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ สะท้อนไปยังตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของกระทรวงพาณิชย์ที่ปรับลดลงในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 38.1% เดือนมีนาคมอยู่ที่ 36% และเดือนเมษายนอยู่ที่ 35.8% เป็นผลมาจากภาคครัวเรือนยังให้ความเป็นห่วงในเรื่องของเศรษฐกิจ ปัญหาภัยแล้ง และภาระหนี้ครัวเรือน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังมีความเปราะบางอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวไม่มากนัก

นอกจากนี้ ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลต่อภาพรวมการลงทุนภาคเอกชนที่ยังขยายตัวค่อนข้างต่ำอยู่ที่ 1.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากการใช้กำลังการผลิตยังต่ำอยู่ที่ 64.8% โดยการลงทุนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ยังอยู่ในหมวดที่มีเหตุผลเฉพาะ เช่น การลงทุนโทรคมนาคม พลังงานทดแทน เป็นต้น ซึ่งยังไม่ได้มีการลงทุนในหมวดที่ขยายสาขามากนัก ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจในต่างประเทศไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน กำลังซื้อในประเทศยังขยายตัวค่อนข้างต่ำ ทำให้ภาคธุรกิจยังคงรอสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น ดังนั้น หากเศรษฐกิจโลกฟื้นอาจจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนได้ ส่วนการลงทุนภาครัฐยังคงทำได้ตามเป้าหมาย แม้ว่าการใช้จ่ายจะแผ่วงลงเล็กน้อย แต่เป็นผลมาจากการเร่งใช้จ่ายในช่วงก่อนหน้า

ส่วนเงินทุนเคลื่อนย้ายติดลบเล็กน้อยอยู่ที่ 546 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาจากแรงเทขายทำกำไรของนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อพวกตราสารหนี้ ทำให้มีเงินทุนไหลออก รวมถึงการคืนเงินกู้ต่างประเทศ สำหรับดุลการชำระเงินเกินดุล 1.6พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับตัวเลขดัชนีชี้วัดที่ออกมาในเดือนเมษายนนี้ ถ้าเทียบกับประมาณการครั้งที่แล้ว ถือว่าสอดคล้องกับที่มองไว้ส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ยังคงต้องติดตาม จะเป็นเรื่องของภัยแล้ง แต่คิดว่าปัญหาน่าจะบรรเทาลงได้ แต่ยังคงต้องมีเรื่องของการปรับตัวของภาคครัวเรือนด้วย ดังนั้น มองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 คงไม่น่าจะมีอะไรที่แย่กว่าไตรมาสแรก โดยจะอยู่ในระดับทรงตัวและมีการขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งธปท.จะมีการติดตามดัชนีชี้วัดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

"เรื่องการปรับตัวเลขจีดีพีเราเปิดประตูไว้ตลอด ซึ่งมีทั้งโอกาสปรับขึ้น ปรับลง และคงที่ แต่ระยะข้างหน้ายังเชื่อว่ามีความไม่แน่นอนอีกเยอะที่ต้องติดตาม ซึ่งมีทั้งปัจจัยบวกและลบ เพราะเรื่องจีนก็ยังไม่จบ แค่ซาๆ เท่านั้น เรื่องการโหวตออกของอังกฤษ และการเลือกตั้งสหรัฐฯ นับเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามที่ยังไปในทางเบ้ต่ำ แต่เรื่องภัยแล้งเริ่มลดลงแล้ว"

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,162 วันที่ 2 - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559