เทรนด์สวยเลือกได้แรง! จับตาโรงพยาบาบเอกชนแห่ลงทุนแย่งชิงลูกค้าชาย-หญิง

02 มิ.ย. 2559 | 02:00 น.
เปิดศึกชิงตลาดศัลยกรรมความงาม รพ.เอกชนแห่ลงทุนรับ “รพ.บางมด” เตรียมระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 2-3 พันล้าน ใช้เป็นทุนผุดโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านศัลยกรรมและความงาม หวังชิงแชร์ตลาด 2-3 หมื่นล้าน มั่นใจต่อยอดการเติบโต 20-30% ด้าน “รพ.นครธน” ชูจุดเด่นด้านศูนย์เฉพาะทางสร้างธุรกิจโต 15% พร้อมขึ้นแท่นผู้นำเบอร์ 1 โซนตะวันตก ขณะที่ “รพ.แพทย์รังสิต” เตรียม 500 ล้านปักหมุดเพิ่มอาคารหลังใหม่ หลังผู้ป่วย 7 แสนรายใช้บริการแน่น

น.พ.ธนัญชัย อัศดามงคล ผู้บริหารโรงพยาบาลและศูนย์ศัลยกรรมความงาม โรงพยาบาลบางมด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแผนการดำเนินธุรกิจใน 1-2 ปีนับจากนี้ว่า ได้เตรียมนำโรงพยาบาลเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปี 2560 เพื่อต้องการระดมเงินทุนให้ได้ประมาณ 2-3 พันล้านบาท และจะนำเงินจำนวนดังกล่าวมาใช้สำหรับการขยายธุรกิจ ซึ่งวางแผนขยายโรงพยาบาลแห่งที่ 2 ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 1 พันล้านบาท บนที่ดินพื้นที่ 5 ไร่ย่านถนนพระราม 2 ส่วนเงินทุนที่เหลือจะใช้สำหรับการจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างหลังจากระดมทุนแล้วเสร็จ และจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2561

สำหรับโรงพยาบาลแห่งที่ 2 วางแผนเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านศัลยกรรมและความงามครบวงจร ทั้งด้านการทำศัลยกรรมความงาม ผิวพรรณ ทันตกรรม และแอนไทร์เอจจิ้ง เป็นอาคารสูง 12 ชั้น จำนวน 400 เตียง มีพื้นที่ใช้สอยใกล้เคียงกับโรงพยาบาลแห่งแรก โดยพื้นที่ให้บริการด้านศัลยกรรมและความงามที่อยู่ในโรงพยาบาลแห่งแรกจะย้ายมารวมและให้บริการภายในโรงพยาบาลแห่งใหม่ ขณะที่โรงพยาบาลสาขาแรกจะให้บริการเฉพาะโรคทั่วไป กลุ่มผู้ประกันตน และผู้ป่วยบัตรทองเท่านั้น
ตลาดศัลยกรรมความงามปัจจุบันมีมูลค่า 2-3 หมื่นล้านบาท เติบโตในอัตรา 10% ซึ่งถือว่ามีการแข่งขันในตลาดนี้ค่อนข้างรุนแรง โดยฐานผู้ใช้บริการมีทั้งกลุ่มคนไทยและต่างชาติโดยเฉพาะในประเทศเอเชีย ปัจจุบันโรงพยาบาลบางมดให้บริการทำศัลยกรรมปีละกว่า 1 หมื่นราย มีการทำศัลยกรรมมากที่สุด ได้แก่ ศัลยกรรมจมูก 40-50% ตา 20-30% หน้าอก 20% และบริเวณอื่นๆ เช่น ปาก คาง เป็นต้น

“ปัจจุบันคนไทยใช้บริการทำศัลยกรรม 70-80% ส่วนที่เหลือเป็นชาวต่างชาติ โดยที่ผ่านมาผลประกอบการของโรงพยาบาลเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% หลังจากเปิดโรงพยาบาลแห่งที่ 2 น่าจะเพิ่มอัตราการเติบโตเป็น 20-30% ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้ทำการตลาด แต่เป็นการบอกต่อของผู้ใช้บริการเอง ซึ่งหลังจากมีโรงพยาบาลแห่งใหม่แล้ว คงต้องใช้วิธีการสื่อสารการตลาด และเพิ่มสื่อโซเชียลมีเดีย พร้อมกับการแปลเป็นภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาอังกฤษ เวียดนาม เพื่อเพิ่มลูกค้าในกลุ่มเออีซีมากขึ้นด้วย และยังคงชูในเรื่องคุณภาพการรักษา

ด้านนายแพทย์วิโรจน์ ตระการวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลนครธน กล่าวว่า กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจจะมุ่งเน้นการพัฒนาศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ให้มีนวัตกรรมการรักษาและบริการที่มีประสิทธิภาพรอบด้าน เพื่อให้ครอบคลุมทุกความต้องการของผู้ใช้บริการ โดยสร้างทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นศูนย์หัวใจ ศูนย์รักษ์เต้านม ศูนย์กระดูกและข้อ ศูนย์สุขภาพนครธนอายุวัฒนา และศูนย์ภูมิแพ้ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรของโรงพยาบาลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ล่าสุด ได้พัฒนาศูนย์สุขภาพเด็กแบบครบวงจร ที่มีคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกทารกแรกเกิด จิตวิทยา การฝึกพูด เป็นต้น รวมถึงสร้างความโดดเด่นด้วยการปรับปรุงพื้นที่ใหม่ แยกเด็กป่วยและเด็กสุขภาพแข็งแรงออกจากกัน ตั้งแต่การคัดกรอง การตรวจรักษา จนกระทั่งการชำระเงินและรับยา เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค และยังเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ปกครองในการพาลูกมาใช้บริการ

“ที่ผ่านมาโรงพยาบาลนครธนได้พัฒนาด้านการดูแลรักษาและบริการให้มีมาตรฐานอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมการรักษาและบริการของศูนย์รักษ์เต้านม ที่มีเทคนิคการผ่าตัดด้วยการใช้ชั้นไขมันมาเสริมแทนเต้านมที่สูญเสียไป ทำให้ผู้ป่วยกลับมามีความมั่นใจอีกครั้ง ส่วน ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับพื้นที่ เพื่อแยกออกจากแผนกอายุรกรรม เป็นศูนย์ที่มีบริการแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว ด้านศูนย์ภูมิแพ้ พร้อมให้บริการรักษาโรคภูมิแพ้ โดยมีการทดสอบสารก่อภูมิแพ้ทางผิวหนังที่สามารถทราบผลได้ภายใน 20 นาที”

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดในการเป็นสถานบริการสุขภาพที่ผสมผสานความก้าวหน้าทางการแพทย์ โรงพยาบาลนครธนจึงได้ผสมผสานการรักษาโดยให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีส่วนร่วมในการรักษา ทั้งการแพทย์ทางเลือกไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน และการดูแลสุขภาพด้วยเวชศาสตร์ชะลอวัย และได้นำแนวทางปฏิบัติการดูแลแบบประคับประคอง มารักษาผู้ป่วยที่มีโรคร้ายแรงหรือระยะสุดท้ายให้มีความสุขทั้งร่างกายและจิตใจ ผ่านการรักษาจากทีมแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งแนวทางการพัฒนาด้านนี้จะสามารถสร้างคุณค่าให้กับผู้ป่วยและครอบครัว รวมทั้งสร้างพลังให้กับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลทุกคน

สำหรับผลประกอบการที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมาเติบโต 6.68 % มีผู้ป่วยนอกเข้ารับบริการเฉลี่ย 3 หมื่นคนต่อเดือน เติบโต 13 % ส่วนผู้ป่วยใน มีอัตราครองเตียง 3 พันเตียงต่อวัน เติบโต 20 % ซึ่งในปีนี้คาดว่า โรงพยาบาลจะมีผลประกอบการเติบโตขึ้น 15% และเป้าหมายต่อไป คือ การพัฒนาระบบการรักษาและบริการให้ครบวงจร และมีประสิทธิภาพรอบด้านอย่างสมบูรณ์แบบ และเข้าถึงทุกความต้องการของผู้ใช้บริการอย่างแท้จริง เพื่อก้าวสู่การเป็นโรงพยาบาลอันดับ 1 ในเขตกรุงเทพตะวันตก ภายใน 3 ปีข้างหน้า

ขณะที่ความเคลื่อนไหวในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในช่วงที่ผ่านมา พบว่าได้มีการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยโรงพยาบาลแพทย์รังสิตได้เตรียมงบลงทุนไว้ประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารผู้ป่วยหลังใหม่บริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลเดิม บนพื้นที่ 3 ไร่ เพื่อรองรับปริมาณผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการขยายพื้นที่บริการของศูนย์การแพทย์ต่างๆ และการเพิ่มศูนย์การแพทย์ใหม่ที่โรงพยาบาลยังไม่มีให้บริการ อาทิ ศูนย์แพทย์ทางเลือก ศูนย์ความงาม ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ เป็นต้น และมีแผนย้ายศูนย์บริการในอาคารหลังเดิมมาไว้ที่อาคารแห่งใหม่ด้วย เพื่อให้มีพื้นที่รองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น อาทิ ศูนย์ทันตกรรม ห้องผ่าตัด ศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์เอกซเรย์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้ใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อใช้รีแบรนด์และปรับปรุงพื้นที่ส่วนต่างๆ ให้มีความทันสมัยและอำนวยความสะดวกให้กับผู้มาใช้บริการ โดยเริ่มปรับปรุงส่วนต่างๆ ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทั้งโลโก้ อาคาร ชุดพนักงาน เป็นต้น ซึ่งในปีนี้จะปรับปรุงศูนย์ตรวจสุขภาพ ศูนย์โรคหัวใจ ห้องกายภาพบำบัด และห้องผู้ป่วยใหม่ เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่มาใช้บริการปีละประมาณ 7 แสนราย ซึ่งปัจจุบันมีเตียงไว้ให้บริการได้ 155 เตียง และมีโรงพยาบาลแม่และเด็กแพทย์รังสิตที่อยู่ในเครืออีก 58 เตียง

ขณะที่ศาสตราจารย์น.พ.วรพงษ์ มนัสเกียรติ ประธานศูนย์ผิวหนัง โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ (SiPH) กล่าวว่า ได้เตรียมจัดซื้อเครื่องมือสำหรับการให้บริการยกกระชับผิวหน้ามูลค่า 2-3 ล้านบาท เพื่อขยายการให้บริการยกกระชับผิวหน้า จากปัจจุบันทางศูนย์มีเฉพาะการให้บริการด้านกลุ่มเลเซอร์ กลุ่มเส้นผมและหนังศีรษะ กลุ่มโรคผิวหนังที่เกี่ยวกับแสง กลุ่มโรคภูมิแพ้ผิวหนังและผื่นแพ้สัมผัส และกลุ่มโรคผิวหนังติดเชื้อ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,162 วันที่ 2 - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559