‘เทคมี ทัวร์’ สยายปีกต่างประเทศ ตลาดกลางออนไลน์ทัวร์ 1 วัน

04 มิ.ย. 2559 | 08:00 น.
เป็น 1 ใน 6 ทีม ที่ ดีแทค หรือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) คัดเลือกให้ติดโครงการ " ดีแทค แอคเซอเลอเรท" ซีซัน 3 เมื่อปีที่ผ่านมา

หากแต่ในปีนี้ "TakeMe Tour" เว็บไซต์ ที่เป็นตลาดกลางให้นักท่องเที่ยวมาพบปะไกด์ท้องถิ่น หรือที่เรียกว่า Local Expert ได้รับรางวัลชนะเลิศ อันดับที่ 1 จากทีมที่ร่วมสมัคร 200 ทีม ในงานสตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ 2016 เมื่อวันที่ 28 เมษายน-1 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม "ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายอมรเชษฐ์ จินดาอภิรักษ์ (ต้า หรือ ทาโร่) ผู้ร่วมก่อตั้ง และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทคมี ทัวร์ จำกัด (TakeMe Tour) เกี่ยวกับบทบาทและทิศทางธุรกิจ รวมไปถึงมุมมองการเข้ามาของสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ ติดตามอ่านได้จากบรรทัดถัดจากนี้

เหตุผลประกวดสตาร์ตอัพ

ในงานมีให้สมัคร จึงปรึกษากับเพื่อน ๆ ก็เลยตัดสินใจเข้าไปประกวด ครั้งนั้นมีทีมสมัครร่วม 200 ทีม จากนั้นคัดเลือกให้เหลือ 16 ทีม สุดท้ายทางคณะกรรมการก็เลือกให้ "เทคมี ทัวร์" เป็นผู้ชนะอันดับ 1

โมเดลธุรกิจ

เป็นตลาดกลาง (Market place) สำหรับ one day trip ที่สร้างโดยคนในพื้นที่ ซึ่งบริษัทได้สร้าง Platform ในการสร้างทริป ตั้งราคาและพาเที่ยวได้ด้วยตนเอง เราเรียกคนเหล่านี้ว่า Local Expert ถ้าคุณรู้จักย่านที่คุณอยู่เป็นอย่างดี และ มีไอเดียพาเที่ยวก็สามารถเข้ามาสร้างทริปได้ฟรี เพราะเราเชื่อว่า "ใครๆก็พาเที่ยวได้" ส่วนในด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะเข้ามาเลือกทริปและจองออนไลน์ผ่านหน้าเว็บไซต์ได้เช่นเดียวกัน

แรงบันดาลใจเป็นคนที่ชอบเที่ยว

จุดกำเนิด คือ เป็นคนที่ชอบเที่ยว จึงได้ร่วมกับเพื่อน คือ นพพล อนุกูลวิทยา ปัจจุบันตำแหน่ง Co-founder & COO ผู้ร่วมก่อตั้ง และจากการสำรวจนักท่องเที่ยวในต่างประเทศที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้นในแต่ละปีมีจำนวน 20 ล้านคน ซึ่งไม่รู้จักสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย นั้นจึงเป็นที่มาและแนวความคิดในการพัฒนาแพลตฟอร์ม ขึ้นมา

ใช้เวลานานไหม

ใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง มีทีมงานเพียง 9 คน จนขณะนี้ถือว่า r เป็นเว็บไซด์อันดับ 1 ที่มี Local Expert (ไกด์) ที่เข้ามาลงทะเบียนแล้วจำนวน 1 หมื่นคน ซึ่งบริษัทก็จะทำการตรวจสอบผู้ที่ขอลงทะเบียน เช่น บัตรประชาชน และ บัญชีเงินฝาก เป็นต้น และ ปัจจุบันมีทริปกว่า 400 ทริปครอบคลุม 37 จังหวัด

ที่มาของรายได้

รายได้มาจากการบุ๊กกิ้ง (จองสถานที่) ส่วน Local Expert ก็จะได้รายได้เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่าง เมื่อ Local Expert พาทัวร์ปั่นจักรยานแถว อ.อัมพวา ให้รายได้วันละ 100 บาท/คน ซึ่งเราได้รายได้จากบุ๊กกิ้งมาจ่ายต่อให้กับ Local Expert อีกทอดหนึ่ง

ดีแทค สนับสนุนอะไรบ้าง

สนับสนุนเรื่องการตลาด สนับสนุนงบประมาณ นอกจากนี้แล้ว ยังได้เป็นพาร์ตเนอร์ กับ ดีแทค ได้จัดทำ "แฮปปี้ทัวริสต์ซิม" เมื่อซื้อทัวร์จาก เราจะได้รับส่วนลดเช่นเดียวกัน

โครงสร้างผู้ถือหุ้น

ปัจจุบันมี กองทุน หรือ Venture Capital จำนวน 3 ราย เข้ามาร่วมลงทุน ประกอบด้วย 500 TukTuk , ดีแทค แอคเซอเลอเรท และ เฒ่าแก่น้อย ส่วนตัวเลขไม่สามารถเปิดเผยได้

คิดยังไงกับกระแสสตาร์ตอัพ

สำหรับผมเฉยๆ การที่ผมมาเปิดเว็บไซต์ ผมไม่อยากเป็นลูกน้อง แต่สิ่งที่เราทำมาด้วยเหตุผล และ เห็นปัญหา จึงอยากเข้ามาทำธุรกิจทางด้านนี้ ตอนนี้มีเทคโนโลยีเป็นจำนวนมากหลายคนคิดว่าการทำสตาร์ตอัพรวยเร็ว ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เพราะการทำอะไรต้องเรียนรู้ กว่าเราจะมาถึงจุดนี้ได้ก็เหนื่อยยา ลำบากพอสมควร ไม่ได้เข้ามาแบบภาพสวยหรู

การที่รัฐบาลสนับสนุนถือว่าเป็นทิศทางที่ดีเพราะที่ผ่านมายังไม่ค่อยมีใครรู้จัก เมือรัฐบาลสนับสนุนวงการสตาร์ตอัพถึงตื่นตัวมากขึ้น มีคนรู้จักมากขึ้น และ แหล่งเงินทุนก็รู้จักมากขึ้นถือว่าเป็นไปในทิศทางที่ดี

แผนระยะสั้น

ตอนนี้เราเป็นตลาดกลางออนไลน์สำหรับทัวร์ 1 วัน ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่ในตอนนี้มีทีมจากต่างประเทศ คือ ญี่ปุ่น และ เกาหลี เข้ามาในตลาดประเทศไทย แต่เราก็จะรักษาอันดับของเราเอาไว้ ด้วยการพัฒนาเว็บไซต์ให้มีภาษาที่หลากหลาย เราเองก็ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะเริ่มขยายบริการออกไปในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา และเวียดนาม

การลงทุน

เราเริ่มต้นทำธุรกิจเมื่อกว่า 3 ปี และ เริ่มทำอย่างจริงจังมาประมาณปีครึ่ง สิ่งที่ยากที่สุด คือ การบริหารจัดการ รวมไปถึงแหล่งเงินทุน ช่วงนั้นก็ยากพอสมควรแต่สุดท้ายด้วยความที่อยากแก้ไขปัญหา และ อยากทำจริงๆ ก็เข้าประกวด และ ก็จนประสบความสำเร็จ

แง่คิดถึงคนที่จะเข้ามาในสตาร์ตอัพ

จิตใจต้องพร้อม ต้องสู้ระดับหนึ่ง ไม่ได้เข้ามาในวงการนี้เพื่อความเท่ อยากรวย แต่ถ้าอยากรวยก็เข้ามาได้ แต่ต้องชอบในสิ่งที่คุณทำเมื่อเห็นปัญหา และนำมาเพื่อแก้ไข"

ประวัติ "ทาโร่" เป็นบัณฑิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมสื่อสาร สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ทุนอีราสมุส มุนดุส เมื่อปี 2533 ปริญญาโท ในสาขา "VIBOT" (Vision and Robotics) เป็นการเรียนเกี่ยวกับการมองเห็นของหุ่นยนต์ และ ผ่านประสบการณ์ทำงานในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญออนไลน์ และ มาร์เก็ตติ้งที่ Google Singapore

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,162 วันที่ 2 - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559