คลังชี้มาตรการรัฐดันอสังหาฯปี59โต5%

03 มิ.ย. 2559 | 03:00 น.
คลังชี้แม้หมดมาตรการกระตุ้น เชื่อปีนี้อสังหาฯยังโตได้ 5% เหตุมีนโยบายภาครัฐสนับสนุน เผยครึ่งหลังปี 59 สศค.คาดการณ์มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจอีกราว 2 ล้านล้าน ด้านผู้ประกอบการอสังหาฯ เห็นพ้องปี 59 โอกาสทองลงทุนอสังหาฯ

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายในงานสัมมนา "เทรนด์...ลงทุนอสังหาฯ 59" ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจร่วมกับสถานีโทรทัศน์ช่อง NOW 26 ว่า จากการประเมินงบประมาณการเบิกจ่ายโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในช่วงครึ่งหลังปี 2559 คาดว่า จะมีงบประมาณลงสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเม็ดเงินส่วนใหญ่มาจากลงทุนของภาครัฐในส่วนของระบบโครงสร้างพื้นฐาน 1.58 แสนล้านบาท การส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ จำนวน 5.4 แสนล้านบาท งบค้างจ่ายปี 2559 อีกประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท

ในส่วนของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าในปี 2559 จะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 5% ทั้งนี้ จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ระบุว่า ในช่วง 6 เดือน (พฤศจิกายน 2558-เมษายน 2559) พบว่า มียอดโอนกรรมสิทธิ์ในส่วนของบ้านจัดสรร 6.85 หมื่นหน่วย เพิ่มขึ้น 23% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ยอดโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดอยู่ที่ 6.3 หมื่นหน่วย เพิ่มขึ้น 106%

"สำหรับในช่วงที่เหลือของปี เชื่อว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดจากการลงทุนของภาครัฐ และมาตรการต่างๆที่ยังคงมีผลบังคับใช้ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำเพียง 1.5% ราคาวัสดุก่อสร้างยังคงอยู่ในภาวะทรงตัวหลังจากที่ลดลงในปี 2558 อีกทั้งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ยังเป็นปัจจัยหนุนให้เกิดความต้องการอสังหาริมทรัพย์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ"นายวิสุทธิ์กล่าว

ด้าน นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ในปีนี้คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จะเติบโตได้ประมาณ 5% โดยมีปัจจัยบวกจากธนาคารยังแข่งขันกันขยายสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ยของสินเชื่อซื้อบ้านยังคงอัตราไม่สูงกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศยังคงมีอยู่ ในส่วนของราคาน้ำมันมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ต่ำ มีผลดีต่อต้นทุนในการลงทุน

ขณะที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดโครงการเมกะโปเจกต์ และมีโนโยบายในการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษในหัวเมืองการค้าชายแดนก็จะช่วยให้เกิดการลงทุนและความต้องการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และที่อยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น ในส่วนของการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี จะเป็นโอกาสให้ความต้องการอสังหาริมทรัพย์ในไทยสูงขึ้น โดยเฉพาะออฟฟิศ เซอร์วิสอาร์พเม้นท์ นิคมอุตสาหกรรม โรงแรม คอนโดมิเนียม เป็นต้น

"คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ ยังคงมีอัตราการเติบโตแบบกึ่งทรงตัว สืบเนื่องจากความไม่เชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการจากสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมือง ในส่วนของราคาจะสูงขึ้นตามต้นทุนที่ดินที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่ยังต่ำและการแข่งขันปล่อยสินเชื่อของธนาคารเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนกำลังซื้อ ซึ่งกำลังซื้อภายในประเทศที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักยังคงดีอยู่ กลุ่มที่เติบโตได้ดีคือ คอนโดมิเนียมและทาวน์เฮ้าส์"นายอธิป กล่าว

ขณะที่ นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย และกรรมการผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจพรีเมี่ยม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดอสังหาฯกรุงเทพฯ-ปริมณฑลโดยเฉพาะคอนโดมิเนียมจะถูกขับเคลื่อน จากกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ 9-10 รายที่มีมาร์เก็ตแชร์ 50-55% สำหรับในช่วงครึ่งหลังปี 2559 คาดว่าจะมีคอนโดมีเนียมเปิดขายใหม่ทั้งหมดประมาณ 67 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.2 แสนล้านบาท ทาวน์เฮ้าส์ 92 โครงการ มูลค่ารวม 5.2 หมื่นล้านบาท บ้านเดี่ยว 74 โครงการ มูลค่ารวม 7.6 หมื่นล้านบาท ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2559 จะเติบโตอยู่ที่ประมาณ 5%

ในส่วนของ นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) กล่าวว่า หากภาครัฐมีการลงทุนโครงการเมกะที่ชัดเจน ก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและนักลงทุน ทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ ปัจจุบันอสังหาริมทรัพย์ ในแง่ผู้บริโภคเหมาะที่จะซื้อเพื่อการลงทุนและอยู่อาศัยเอง เนื่องจากราคายังไม่สูงมาก ผู้ประกอบการยังให้โปรโมชั่นที่คุ้มค่าและผู้ซื้อมีอำนาจในการต่อรองสูง ดังนั้นจึงถือได้ว่าปีนี้เป็นปีทองของผู้ที่ต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์

"สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน ต้องเป็นการลงทุนในระยะยาว ไม่ใช่เป็นการขายใบจอง ปัจจุบันไม่มีบรรยากาศขายใบจอง โดยทำเลที่น่าลงทุน คือ รถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย แต่อย่างไรก็ตามต้องสำรวจศักยภาพทำเลนั้นๆ อย่าเชื่อเพียงโฆษณาชวนเชื่อ ควรสำรวจทำเลหรือที่อยู่อาศัยด้วยตัวเอง"นายสุรเชษฐ กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,162 วันที่ 2 - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559