กรมชลฯขยายผลทำนาแบบเปียกสลับแห้ง(แกล้งข้าว)ลดการใช้น้ำ

30 พ.ค. 2559 | 07:51 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

นายสุเทพ  น้อยไพโรจน์  อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า  กรมชลประทานประสบผลสำเร็จในการจัดทำโครงการสาธิตการทํานาแบบเปียกสลับแห้ง (แกล้งข้าว) เพื่อขยายผลองค์ความรู้ด้านการใช้น้ำในการทํานาอย่างประหยัดในพื้นที่นำร่อง 4 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ชลประทานของโครงการชลประทานเชียงใหม่  โครงการส่งน้ำและบํารุงรักษาแม่แตง จ.เชียงใหม่ โครงการชลประทานอุบลราชธานี และโครงการส่งน้ำและบํารุงรักษาโดมน้อย  จ.อุบลราชธานี

ทั้งนี้ การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง จะช่วยให้เกษตรกรลดปริมาณการใช้น้ำลง ดังที่กรมชลประทานได้ทดลองปลูกข้าวเหนียวอายุ 5 เดือน ในพื้นที่ชลประทานของอ่างเก็บน้ำแม่โก๋น อ.พร้าว จ.เชียงใหม่  ซึ่งปกติจะใช้น้ำประมาณ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ แต่เมื่อทำนาแบบเปียกสลับแห้ง มีการใช้น้ำไปเพียงประมาณ 1,170 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ ลดลงประมาณร้อยละ 28  อีกทั้ง มีผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจาก 712 กก./ไร่ เป็น 845 กก./ไร่ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18  ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น ทำให้ในปัจจุบันเยาวชน    รุ่นหลัง ๆ หันมาสนใจการทํานา  เป็นการรักษาพื้นที่ชลประทานให้คงอยู่ รวมทั้งยังเกิดความสามัคคีในชุมชนที่ไม่ต้องแย่งน้ำกันต่อไปอีกด้วย

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่ออีกว่า  เพื่อเป็นการขยายผลการทํานาแบบเปียกสลับแห้งไปสู่เกษตรกรในพื้นที่ชลประทานได้อย่างเป็นรูปธรรม กรมชลประทานจึงได้กำหนดนโยบาย “1โครงการ 1 พื้นที่ตัวอย่าง” ขึ้นมาโดยให้โครงการชลประทานและโครงการส่งน้ำและบํารุงรักษาทั่วประเทศ  จัดหาพื้นที่ตัวอย่างในเขตชลประทานที่รับผิดชอบ ทํานารอบ 2แบบเปียกสลับแห้ง  ตั้งแต่ฤดูทำนารอบที่ 2 ปี 2559/2560  โดยตั้งเป้าขยายผลเกษตรกรหันมาทำนาด้วยวิธีนี้เพิ่มขึ้นให้มากที่สุด

“ในปัจจุบันการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำใหม่ๆ ทำได้ยากขึ้น และต้องใช้ระยะยาวนานประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปปัญหาการขาดแคลนน้ำเกิดบ่อยขึ้น  แต่ความต้องการใช้น้ำในภาคส่วนต่าง ๆ เพิ่มขึ้นตลอดเวลา  ดังนั้น หากภาคการเกษตรโดยเฉพาะการทำนารอบ 2  ลดปริมาณการใช้น้ำลง จะทำให้ในอนาคตจะมีปริมาณน้ำเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งเพิ่มขึ้น ปัญหาการขาดแคลนน้ำจะลดลง” นายสุเทพกล่าว

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม และรับทราบนโยบายการขับเคลื่อนโครงการขยายผลการทํานาแบบเปียกสลับแห้ง  ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจ เทคนิค การทํานาแบบเปียกสลับแห้งสู่การปฏิบัติในเขตพื้นที่ชลประทานให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายกรมชลประทาน จึงจัดให้มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการเตรียมความพร้อมโครงการขยายผลการทํานาแบบเปียกสลับแห้งในเขตพื้นที่ชลประทานขึ้น ในวันที่ 30พฤษภาคม 2559 ให้กับผู้บริหารกรมทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

ด้านนายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่  กรมชลประทาน เปิดเผยว่า หลังจากประสบความสำเร็จในการนำร่องทำนารอบ 2แบบเปียกสลับแห้ง ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน 2558 บริเวณอ่างเก็บน้ำแม่โก๋น อ.พร้าว  จ.เชียงใหม่ ปรากฎว่าขณะนี้มีเกษตรกรขอสมัครเข้าร่วมศึกษาวิธีการทำนาแบบนี้มากกว่า 2,000 ไร่แล้ว