งวด3ทีวีดิจิตอลยังอลหม่าน ลุ้นศาลนัดไต่สวนใหม่มิ.ย.นี้

30 พ.ค. 2559 | 12:30 น.
ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลยันไม่จ่ายค่างวดที่ 3 ลั่นขอรอคำสั่งศาล หลังยื่นฟ้องบอร์ดกสทช.แล้วยังไม่คืบ ขณะที่ศาลนัดไต่สวนกสทช.อีกรอบ ด้าน"พีพีทีวี เอชดี" ย้ำการดำเนินกิจการทีวีดิจิตอลต้องเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างเอกชนและภาครัฐ หากคิดเห็นไม่ตรงกันโอกาสประสบความสำเร็จยาก สุดท้ายต้องส่งกลับให้ภาครัฐดูแล ส่วน "ไทยรัฐทีวี" วอนผ่อนกฎ คำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก

[caption id="attachment_57559" align="aligncenter" width="700"] จำนวนเงินที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล 5 ช่องที่เหลือ จะต้องจ่าย จำนวนเงินที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล 5 ช่องที่เหลือ จะต้องจ่าย[/caption]

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 ศาลปกครองกลาง นัดไต่สวนในคดีสถานีโทรทัศน์ 7 ช่อง ได้แก่ ช่องวัน , พีพีทีวี เอชดี ,ไทยรัฐทีวี , จีเอ็มเอ็ม แชนแนล , ไบร์ททีวี ,นาว และเนชั่นทีวี ยื่นฟ้อง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยทีวีดิจิตอลทั้ง 7 ช่อง ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ให้ กสทช.เลื่อนชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่3 ออกไปก่อน เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกสู่ทีวีดิจิตอลเกิดความล่าช้าส่งผลกระทบกับการประกอบธุรกิจทีวีดิจิตอลโดยมีตัวแทนของแต่ละช่องเข้ามาร่วมชี้แจง

ทั้งนี้เนื่องจากการไต่สวนครั้งนี้มีผู้ประกอบการเอกชนเข้าร่วมเพียงฝ่ายเดียว ศาลฯจึงไม่สามารถพิจารณคำร้องดังกล่าวได้ดังนั้นจึงต้องรอคำชี้แจงจากทางฝั่งกสทช.เพิ่มเติมด้วย ซึ่งคาดว่าภายในเดือนมิถุนายนนี้จะมีการนัดไต่สวนระหว่างผู้ประกอบการเอกชน และกสทช.ใหม่อีกครั้ง

โดยนายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ผู้บริหารช่อง "พีพีทีวี เอชดี" เปิดเผยว่า วันนี้ศาลเรียกนัดไต่สวนทางฝั่งผู้ประกอบการเอกชนเพื่อเข้ามาชี้แจงถึงผลกระทบการลงทุนของช่องรวมถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการทำงานของกสทช.เป็นเหตุ โดยแบ่งเป็น 2 เรื่อง คือ 1.วงจรธุรกิจบรอดคาสท์เป็นอย่างไร 2.ความแตกต่างระหว่างธุรกิจทั่วไปและธุรกิจบรอดคาสท์ เป็นต้น อีกทั้งรวมถึงการชี้แจงด้านความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วง 2ปีที่ผ่านมา เช่น การประชาสัมพันธ์ที่ไม่ครอบคลุม โครงข่ายที่ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

"ผู้ประกอบการจะยังไม่ชำระเงินค่างวดที่ 3 โดยจะรอคำสั่งศาลที่จะมีขึ้นในอนาคต และอยากให้ภาครัฐมองว่า การประกอบกิจการทีวีดิจิตอลเป็นการทำธุรกิจร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาระหว่างภาครัฐหรือกสทช.มีความคิดเห็นไม่สอดคล้องกับภาคเอกชนหลายประการ เช่น ผู้ประกอบการมีความต้องการเลื่อนการชำระงวดที่ 3 ออกไปก่อนเพื่อจะได้นำเงินดังกล่าวไปบริหารสถานีโทรทัศน์ด้านต่างๆเพื่อให้สาธารณชนได้ผลประโยชน์สูงสุด ขณะที่ภาครัฐกลับยึดแต่กฎระเบียบข้อบังคับ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วหากกสทช.ยังยึดเฉพาะเรื่องข้อบังคับเพียงอย่างเดียวอาจจะทำให้ผู้ประกอบการบางรายเดินหน้าธุรกิจต่อไม่ไหว และถอดใจยกเลิกประกอบกิจการได้ และสุดท้ายจะนำไปสู่ระบบเดิมที่ภาครัฐจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบดูแลบริหารคลื่นเองทั้งหมด"

ด้านนายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ เจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด ผู้บริหารช่อง "ไทยรัฐทีวี" กล่าวว่า ที่ผ่านมากสทช.ควรมุ่งเน้นเรื่องของประชาชนมากกว่า อีกทั้งควรสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอกชนมุ่งทำคอนเทนท์ที่มีคุณภาพ ไม่ใช่ยึดเรื่องของกฎระเบียบเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันสภาพแวดล้อมในหลายๆด้านค่อนข้างเปลี่ยน ดังนั้นจะยึดกฎระเบียบเดิมไม่ได้ "เราไม่ได้เบี้ยว หรือไม่จ่าย แต่ปัจจุบันเงื่อนไขเปลี่ยน สภาพแวดล้อมเปลี่ยนทุกอย่างกระทบผู้ประกอบการทั้งหมด ซึ่งการจ่ายเงินของเราที่ผ่านมาจ่ายตรงทุกงวด แต่การทำงานของกสทช.กลับล่าช้าไม่เป็นตามที่กำหนดและล่าช้ากว่าที่คาด เช่น โครงข่าย กล่องทีวีดิจิตอล การประชาสัมพันธ์ เป็นต้น ขณะเดียวกันการทำธุรกิจทีวีดิจิตอลเป็นการทำธุรกรรมร่วมกับรัฐหากรัฐไม่ยอมรับฟัง และเดินสวนทางกับเอกชนสุดท้ายเอกชนคงจะยุติประกอบกิจการและยกอำนาจให้รัฐทำเองแต่เพียงผู้เดียว"

สำหรับค่าใช้จ่ายใบอนุญาตงวดที่ 3 ที่ผู้ประกอบการทั้ง 5 ช่องต้องจ่าย คือ บริษัท บางกอก แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด หรือช่องพีพีทีวี เอชดี 578.87 ล้านบาท บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด หรือช่องไทยรัฐทีวี 557.47 ล้านบาท บริษัท จีเอ็มเอ็ม วัน ทีวี จำกัด หรือช่อง วัน 548.91 ล้านบาท บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด 449.4 ล้านบาท หรือ ช่องจีเอ็มเอ็ม แชนแนล 449.4 ล้านบาท และบริษัท ไบร์ท ทีวี จำกัด หรือช่อง ไบร์ททีวี 253.54 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2.38 พันล้านบาท

อนึ่ง ปลายปี 2558 กลุ่มทีวีดิจิตอล จำนวน 7 ช่อง ได้แก่ ช่อง วัน , จีเอ็มเอ็ม แชนแนล , พีพีทีวี เอชดี , ไทยรัฐทีวี , นาว , เนชั่นทีวี และไบร์ททีวี ได้ยื่นฟ้องกสทช. เพื่อรายงานต่อศาลปกครองถึงการละเลยการทำหน้าที่ของกสทช. กรณีดำเนินงานล่าช้าในการเปลี่ยนผ่านระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์อนาล็อกเป็นระบบดิจิตอล และขอเลื่อนชำระการจ่ายเงินงวดที่ 3 ออกไปก่อน

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,161
วันที่ 29 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559