ตลาดฮาลาลโลก8ล้านล้านสดใส จี้ไทยชิงส่วนแบ่ง/เผย 2 สินค้ามาแรงสุดๆ

01 มิ.ย. 2559 | 11:00 น.
ตลาดฮาลาลโลกโตต่อเนื่อง โอกาสไทย เจาะตลาดเพิ่ม ชูจีน-ญี่ปุ่น 2 ตลาดใหญ่สนใจนำเข้าเพิ่มจี้รัฐหนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน จัดแฟร์ช่วยดันยอด เผย 2 สินค้า ซีอิ๊วทำจากช่อดอกมะพร้าว-น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นมาแรงสุด ๆ ต่างประเทศนิยม สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปชี้ตลาดอาหารฮาลาลโลกแข่งเดือด ชิงตลาด 6-8 ล้านล้านบาท/ปี ไทยส่วนแบ่งแค่ 6 พันล้านดอลล์

นายณรงค์ ขันทนิตย์ คณะอนุกรรมการฝ่ายกิจการฮาลาล คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ตลาดฮาลาล(สินค้าและบริการที่อนุมัติตามหลักการของศาสนาอิสลาม)ของไทยยังมีทิศทางที่ดีและมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ชะลอตัวนี้ได้ ขณะที่ 2 ตลาดใหญ่ได้แก่ จีน และญี่ปุ่นสนใจที่จะนำเข้าอาหารฮาลาลจากไทยมากขึ้น ทำให้โอกาสยังเปิดกว้าง

อย่างไรก็ดีสิ่งที่รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาดูแลและให้การสนับสนุนคือช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินของผู้ประกอบการรายเล็กๆที่ต้องการเข้ามาในตลาดฮาลาล มาตรการช่วยเหลือทางด้านภาษีต่างๆ รวมถึง การจัดอีเวนต์หรืองานแสดงสินค้าเพื่อช่วยเพิ่มยอดขายที่ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับการจัดของภาคเอกชน เป็นต้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดผู้ประกอบการต้องใส่ใจเรื่องคุณภาพสินค้ามากกว่ามุ่งแต่ให้ได้ใบรับรองหรือเครื่องหมายฮาลาลเท่านั้น

"นอกจากเรื่องอาหารแล้ว ระบบขนส่งโลจิสติกส์และการบริการก็เป็นธุรกิจฮาลาลก็น่าจะเติบโตได้ดี เช่น การขนส่งสินค้าโดยตู้คอนเทนเนอร์ที่ติดสัญลักษณ์ฮาลาล ซึ่งพอไปถึงที่หมายก็ไม่ต้องมาตรวจทีละชิ้นอีกว่าเป็นสินค้าฮาลาลหรือไม่ ส่วนภาคบริการนั้นขณะนี้ได้มีการลงนามร่วมกับซีพีในการจะจัดพื้นที่จำหน่ายสำหรับสินค้าฮาลาลใน เซเว่นอีเลฟเว่น ทั่วประเทศตามถนนเส้นหลักเพื่อให้ผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าฮาลาลได้ใช้บริการ"

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า อาหารไทยเป็นที่นิยมของกลุ่มประเทศมุสลิม ได้แก่ ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลและแช่แข็ง อาหารทะเลแปรรูป ผักและผลไม้สดและกระป๋อง ซอสปรุงรสต่างๆ และอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน เป็นต้น โดยตลาดอาหารฮาลาลแบ่งเป็น 5 กลุ่มประเทศ ประกอบด้วย กลุ่มแอฟริกา เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง อาเซียน และยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง สินค้าที่น่าจับตามองมากที่สุดในขณะนี้คือซีอิ๊วที่ทำจากช่อดอกมะพร้าว ซึ่งไม่มีส่วนผสมจากเนื้อสัตว์ กำลังได้รับความนิยมจากกลุ่มลูกค้าในฟิลิปปินส์เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีน้ำมะพร้าวสกัดเย็นที่สามารถนำมาปรุงอาหารได้กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มคนที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก

สำหรับสถานการณ์และแนวโน้มอาหารฮาลาลนั้นศูนย์วิจัยในสหรัฐอเมริกา ได้มีการคำนวณตัวเลขชาวมุสลิม(ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม)ทั่วโลกเมื่อปี 2553 มีประมาณ 1.57 พันล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 25% ของประชากรโลก และในอีก 20 ปีข้างหน้าคาดจะเพิ่มเป็น 2.7 พันล้านคน หรือสัดส่วน 35% ขณะที่ปัจจุบันมูลค่าตลาดฮาลาลของโลกมีมูลค่าประมาณ 6-8 ล้านล้านบาท/ปี โดยมีผู้ค้าหรือผู้ส่งออกรายใหญ่ ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล อาร์เจนตินา แคนาดา อินเดีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ส่วนในเอเชียมีผู้ส่งออกที่ต้องจับตาคือมาเลเซีย และจีน เพราะมีประชากรที่เป็นชาวมุสลิมเพิ่มขึ้น ในขณะที่ไทยเองมีการส่งออกอาหารฮาลาลยังน้อยโดยคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.1% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมดของประเทศ ดังนั้นรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาทางพัฒนาตลาดฮาลาล โดยหาพันธมิตรทางการค้า การร่วมมือในด้านการเกษตร วัตถุดิบฮาลาล อย่างอาหารทะเล ไก่ โคเนื้อ ที่ไทยมีความเชี่ยวชาญในการผลิต และต้องนำนวัตกรรมใหม่ๆ ทางด้านการผลิตมาใช้ เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทยสู่ระดับสากล

ขณะที่นายมาตยวงศ์ อมาตยกุล นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตลาดสินค้าและบริการฮาลาลของโลกมีแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็ว ตามจำนวนประชากรชาวมุสลิมทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2568 คาดประชากรชาวมุสลิมจะมีสัดส่วน 30% ของประชากรโลก จะส่งผลให้ตลาดผลิตภัณฑ์ฮาลาลมีแนวโน้มเติบโตตามไปด้วย

ทั้งนี้จากข้อมูลในปี 2557 ไทยมีการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไปยังกลุ่มประเทศมุสลิม 57 ประเทศครอบคลุมหลายภูมิภาค ได้แก่ ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ อาเซียน แอฟริกา เอเชียกลาง ยุโรป และอเมริกาใต้ โดยมีการส่งออกมูลค่าประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวถึง 12.5% เมื่อเทียบกับปี2556 สินค้าหลักที่ส่งออกได้แก่ ข้าว น้ำตาล อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,161
วันที่ 29 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559