ญี่ปุ่นปลื้มยอดส่งออกอาหาร เดินหน้าลุยขยายช่องทางทำตลาด

01 มิ.ย. 2559 | 14:00 น.
ความนิยมในอาหารญี่ปุ่นของคนไทย ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกสินค้าประเภทอาหาร เกษตร และประมงที่สำคัญของญี่ปุ่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งทางญี่ปุ่นยังคงเล็งเห็นศักยภาพของตลาดไทย ทั้งในฐานะตลาดการบริโภคที่สำคัญ และศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนตอนเหนือ จึงเดินหน้าผลักดันส่งเสริมการส่งออกอย่างต่อเนื่อง

[caption id="attachment_57807" align="aligncenter" width="700"] มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหาร เกษตร ป่าไม้ และประมง จากญี่ปุ่นเข้าประเทศไทยช่วงปี 2552-2558 มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหาร เกษตร ป่าไม้ และประมง จากญี่ปุ่นเข้าประเทศไทยช่วงปี 2552-2558[/caption]

นายสะชิโอะ ทาคิยะมะ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการค้า ขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า การส่งออกสินค้าประเภทอาหาร เกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน โดยในปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นจากปี 2557 อย่างมากถึง 21.8% เป็น 2.384 แสนล้านบาท สูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บสถิติการส่งออกในปี 2498

นอกจากนี้มูลค่าการส่งออก 2.384 แสนล้านบาทนั้น ยังสูงกว่าเป้าหมายการส่งออกระยะกลางที่ญี่ปุ่นตั้งไว้ที่ 2.24 แสนล้านบาทภายในปี 2559 ซึ่งหมายความว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร อาหาร ป่าไม้ และประมง ทำได้ตามเป้าหมายเร็วกว่าแผน 1 ปี โดยสินค้าประเภทผักผลไม้และธัญพืชเป็นสินค้าที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในช่วงปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเป็นตลาดส่งออกสินค้าประเภทดังกล่าวเป็นอันดับ 6 ของญี่ปุ่น และอันดับ 5 ของเอเชีย รองจากฮ่องกง ไต้หวัน จีน และเกาหลีใต้ ส่วนในอาเซียนไทยเป็นตลาดอันดับ 1 โดยในปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกคิดเป็น 1.15 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 3% จากปี 2557 ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นและเจโทรมองประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการเข้ามาทำตลาดในภูมิภาคอาเซียนทางตอนเหนือ ควบคู่ไปกับสิงคโปร์ที่เป็นยุทธศาสตร์ของอาเซียนตอนใต้

[caption id="attachment_57806" align="aligncenter" width="500"] jfood jfood[/caption]

สินค้าประมงเป็นสินค้าที่มีการส่งออกจากญี่ปุ่นมายังไทยเป็นมูลค่าสูงที่สุดในปี 2558 ด้วยมูลค่าการส่งออก 5.952 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 52% ของการส่งออกในกลุ่มสินค้าอาหารและเกษตรทั้งหมด โดยส่วนใหญ่หรือประมาณครึ่งหนึ่งเป็นปลาประเภทปลาโอ/ปลาทูน่า ซึ่งนำมาใช้ในการแปรรูปเป็นหลัก ขณะที่ความนิยมในการรับประทานซูชิและซาซิมิก็ส่งผลให้การส่งออกปลาทูน่าสดและแช่แข็งมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

เนื้อวัวเป็นสินค้าอีกประเภทหนึ่งที่มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากมีการยกเลิกการห้ามนำเข้าในปี 2554 อีกทั้งยังได้รับอานิสงส์จากการยกเว้นภาษีภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA เจ้าหน้าที่ทางการของญี่ปุ่นกล่าวว่า เนื้อวัวและผลไม้นับเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในตลาดไทย และต้องการที่จะส่งเสริมการส่งออกให้ได้เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นยังคงต้องการเดินหน้าผลักดันการส่งออกสินค้าอาหาร เกษตร และประมง ให้ได้ตามเป้าหมายระยะยาว 3.2 แสนล้านบาทภายในปี 2563 โดยจะอาศัยกลยุทธ์การส่งเสริมการส่งออกต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีมาแล้วในช่วงที่ผ่านมา อาทิเช่น การจัดบูธแสดงสินค้าในงานส่งเสริมการค้าต่างๆ การเข้าหาผู้ค้าในเชิงรุก ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารญี่ปุ่น ซูเปอร์มาร์เก็ตระดับไฮเอนด์ และโรงงานอาหารแปรรูป ตลอดจนการจัดทำการจับคู่ทางธุรกิจ (business matching) ให้มากขึ้น

นอกจากนี้ อีกหนึ่งในกลยุทธ์ประสบความสำเร็จอย่างดีมาแล้ว คือการจัด test marketing เพื่อนำสินค้าใหม่ๆ จากญี่ปุ่นให้ผู้ค้าและประชาชนทั่วไปได้ทดลอง โดยในปีที่ผ่านมามีการจัดงานในลักษณะดังกล่าวในประเทศไทยเป็นเวลา 8 เดือน ด้วยสินค้าใหม่ที่เข้ามาทดลองตลาดประมาณ 200 รายการ ทางเจโทรจึงต้องการส่งเสริมการส่งออกในลักษณะนี้เพิ่มเติมด้วยเช่นกัน

โดยหนึ่งในงานแสดงสินค้าที่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นให้ความสนใจเป็นอย่างมาก คือ งานไทยเฟกซ์ ที่ในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-29 พฤษภาคม ที่ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี สำหรับพื้นที่ของ Japan Pavilion ในปีนี้มีผู้ประกอบการจากญี่ปุ่นเข้าร่วม 72 ราย เป็นรายใหม่ 42 รายที่ต้องการเข้ามาสำรวจแนวโน้มตลาด ส่วนอีก 30 รายเป็นผู้ประกอบการที่เคยมาร่วมงานแล้วและคาดหวังว่าจะสามารถมองหาคู่ค้าและช่องทางการขยายตลาดในไทยได้เพิ่มขึ้น

นางคาโกะ ซาไซ รองผู้อำนวยการแผนกส่งเสริมธุรกิจเกษตร ป่าไม้ ประมง และอาหาร ของเจโทร ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ให้ความคาดหวังที่จะเข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในการพบปะกับคู่ค้าจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เพื่อรุกเข้าสู่ตลาดอาเซียนให้ได้มากยิ่งขึ้น สำหรับการออกบูธของผู้ประกอบการในปีนี้สะท้อนถึงแนวโน้มการส่งออกได้เป็นอย่างดี ด้วยจำนวนบูธของผู้ส่งออกเนื้อวัวเพิ่มขึ้นจาก 2 เป็น 8 บูธ และชาญี่ปุ่นจาก 1 เป็น 3 บูธ

ด้านผู้ประกอบการจากญี่ปุ่นก็กล่าวแสดงความคาดหวังที่จะเข้ามารุกตลาดไทยเพิ่มมากขึ้น นายทาเคฮิสะ นากาทานิ ผู้อำนวยการบริษัท ไดกิชิ ชูเต็ง จำกัด ผู้ผลิตเนื้อวัวโอมิ จากเขตจังหวัดชิกะ กล่าวว่า เนื้อวัวโอมิยังไม่เป็นที่รู้จักของชาวไทยมากเท่ากับเนื้อวัวประเภทอื่นๆ เช่น วากิว หรือโกเบ การมาออกบูธในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาคู่ค้าในประเทศไทย หลังจากเคยมาร่วมงานไทยเฟกซ์มาแล้วหนึ่งครั้งเมื่อ 5 ปีก่อน โดยจุดมุ่งหมายคือต้องการรุกเข้าสู่ตลาดใจกลางเมือง เช่น ร้านอาหารระดับพรีเมียม และโรงแรมต่างๆ

นายจุนอิจิ ฮัตโตริ รองผู้จัดการโรงงานของบริษัท ชิมิสึ โชเต็ง จำกัด ผู้ส่งออกอาหารทะเล กล่าวว่า ตลาดไทยนับเป็นตลาดที่น่าสนใจอย่างยิ่ง มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและมีความต้องการสูง เชื่อว่ายอดการส่งออกจะเติบโตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยทางบริษัทเข้ามาทำตลาดผ่านทางผู้จัดจำหน่ายในประเทศไทยเป็นเวลา 3 ปีแล้ว มีช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหาร ทั้งนี้มีความคิดที่จะขยายออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านของไทยด้วยเช่นเดียวกัน แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะใช้ประเทศไทยเป็นฐานหรือไม่

ขณะที่นายยูจิ ฮาชิโมโตะ ผู้จัดการทั่วไปบริษัท ทากาโมริ โกซัง จำกัด จากจังหวัดคุมาโมโตะ ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ผู้ส่งออกสินค้าประเภทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กล่าวว่าตลาดไทยมีศักยภาพเนื่องจากคนไทยชอบรับประทานอาหารประเภทเส้นและชอบอาหารญี่ปุ่น ขณะที่ค่าครองชีพเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นแล้วไม่แตกต่างมากเท่ากับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ จึงมีแนวโน้มในการเข้ามาทำตลาดได้สูงกว่า ปัจจุบันยอดขายที่ส่งออกมายังอาเซียนประมาณ 50% เป็นการส่งออกมาไทย ผ่านทางบริษัทจัดจำหน่ายในประเทศไทยที่ทำตลาดมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว โดยสินค้าของบริษัทมีวางจำหน่ายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตตั้งแต่ระดับบนจนถึงระดับกลาง

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของเจโทรกล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าที่จะทำให้ได้ตามเป้าหมายการส่งออกภายในปี 2563 พร้อมเดินหน้าส่งเสริมการส่งออกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหวังว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,161
วันที่ 29 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559