เคล็ด(ไม่)ลับ:ธุรกิจอาหารเครื่องดื่ม ในนครหนานหนิง ‘รวย’ ได้ไง?

31 พ.ค. 2559 | 23:00 น.
'อาหาร' เป็นปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เรา ตราบใดที่เราต้องกินต้องอยู่การสร้างกิจกรรมการค้าที่เกี่ยวข้องก็ต้องมีการพัฒนาตามรสนิยมความชอบของคนในสังคมที่เปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัย

ในยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)การลงทุนทำธุรกิจอาหารเครื่องดื่มต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างโอกาสและความได้เปรียบทางการแข่งขัน การติดตามแนวโน้มตลาดและเข้าใจวิธีคิด วิธีใช้จ่ายเงินของผู้บริโภค เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้การวางแผนงานธุรกิจเป็นไปด้วยความราบรื่น

[caption id="attachment_57718" align="aligncenter" width="500"] ธุรกิจอาหารเครื่องดื่ม ธุรกิจอาหารเครื่องดื่ม[/caption]

บทความฉบับนี้ บีไอซี (BIC) ขอนำท่านผู้อ่านไปเรียนรู้....เคล็ด(ไม่)ลับที่ทำให้ธุรกิจอาหารเครื่องดื่มในนครหนานหนิง แห่งเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ว่าธุรกิจเหล่านี้เขาใช้กลยุทธ์อะไร'โกยเงิน' จากกระเป๋าผู้บริโภค

การเลือก 'ทำเลที่ตั้ง' ให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ชี้วัด 'ความอยู่รอด' ของธุรกิจ สำหรับธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม การแย่งจับจองพื้นที่ในย่านธุรกิจที่ลูกค้ามีกำลังซื้อระดับกลางขึ้นไปเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะในห้างสรรพสินค้าหรือคอมมูนิตี้มอลล์

ห้าง Wanda Mall และห้าง MixC เป็น 'เหมืองทอง' ของธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่มในนครหนานหนิง และเป็นแหล่งรวมความบันเทิงสำหรับคนมีสตางค์ที่นิยมไปเดินเล่นชิลๆ หรือนัดทานข้าวดูหนังกันที่นี่ จากข้อมูลพบว่า 1/3 ของรายได้ผลประกอบการห้างมาจากยอดการใช้จ่ายในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

เทรนด์การพัฒนาธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่มที่กำลังมาแรงในยุคนี้สมัยนี้ คือ การปรับกลยุทธ์สู่ 'ธุรกิจ O2O' (Offline to Online)โมเดลธุรกิจที่กำลังมาแรงในยุค Internet plus ด้วยการอาศัยแพลตฟอร์มผ่านทางเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นบนมือถือที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส ซึ่งนับเป็นการสร้างช่องทางการตลาดและเพิ่มยอดขายของธุรกิจ

แอพพลิเคชั่นสุดฮิตของผู้บริโภค อาทิ meituan และ nuomi ที่มีฟังก์ชั่น group buying ให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อเมนูอาหารโปรดในราคาสุดประหยัด หรือจะเป็นแอพพลิเคชั่นที่มีฟังก์ชั่นdelivery ถึงหน้าบ้านอย่าง meituanwaimai , ele.me , taodiandian และ baiduwaimai เป็นต้น

ร้านเหล่านี้ยังมีการทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดียยอดนิยมอย่าง Weibo เว็บบล็อกที่มีผู้ใช้ทั่วจีนกว่าสองร้อยล้านคน และ WeChat แอพพลิเคชั่นสุดฮิตในปัจจุบัน ทั้งแบบบัญชีชื่อผู้ใช้ส่วนตัวหรือจะเพิ่มความน่าเชื่อถือด้วยการเปิดเป็น public account ก็ทำได้ไม่ยาก

แพลตฟอร์มเหล่านี้มีจุดเด่นหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการใช้งานง่าย เป็นที่รู้จัก ผู้บริโภคเข้าถึงได้รวดเร็ว มีคนช่วยทำการตลาดประชาสัมพันธ์ กระตุ้นยอดขายได้ดี ราคาประหยัด และช่วยดึงดูดใจผู้บริโภคด้วยราคาสุดแสนประหยัด
การสร้าง 'ธีม' (Theme) สู่ร้านอาหารแนวใหม่ในคอนเซ็ปต์ต่างๆ ผ่านบรรยากาศและดีไซน์การตกแต่งร้านสุดชิกที่สร้างความต่างฉีกกฎความจำเจแบบเดิมๆ นับเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ยกตัวอย่างเช่น ร้านสตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (Starbucks) ใช้ธีมการตกแต่งร้านที่ผสมผสานเอกลักษณ์ท้องถิ่น ภายใต้คอนเซปต์ความเป็น 'จ้วง' (ชนพื้นเมืองในกว่างซี) หรือจะเป็นร้านสเต็กที่ใช้ธีม 'โรงหนัง' ชนิดที่ฉายหนังใหม่ชนโรง หรือจะเป็นร้านอาหารไทยฟิวชั่นที่ตกแต่งสไตล์ 'ไทย 4 ภาค' หรือจะเป็นร้านอาหารจีนโบราณที่ตกแต่งสไตล์ 'โรงเตี๊ยม' ที่มาพร้อมกับเมนูชื่อสร้างสรรค์ให้น่าค้นหาน่าลิ้มลอง

ที่สำคัญ!! ที่ร้านต้องมี 'อินเตอร์เน็ต' แรงๆ ไว้ให้บริการลูกค้าที่เพลิดเพลินกับการ 'ถ่าย+แชร์' หรือ แชะก่อนแชร์ ลงโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น โดยมุ่งเจาะตลาดกลุ่มวัยรุ่นและคนทำงานยุคใหม่ที่นิยมเข้ามาแชร์เรื่องราวถึงกัน รวมถึงบล็อกเกอร์นักรีวิวร้านอาหาร เรียกได้ว่าเป็นกลยุทธ์ Social Network Marketing ที่ช่วยสร้างยอดขายและผลกำไรที่มากยิ่งขึ้นเลยทีเดียว

การพัฒนา 'แบรนด์' (Branding) เป็นภารกิจสำคัญที่ธุรกิจต้องแสวงหากลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์ของตนเพื่อทำให้แบรนด์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค แบรนด์ร้านอาหาร-เครื่องดื่มที่มักเป็นกระแสและ'ติดตลาด' ได้รวดเร็วมักเป็นแบรนด์จากต่างมณฑลและอินเตอร์แบรนด์ และเมื่อธุรกิจเริ่มลงตัว ก้าวต่อไปเห็นจะเป็นการ 'แตกแบรนด์ใหม่' เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าในทุกเซ็กเมนต์ ทำให้ลูกค้ามีตัวเลือกการใช้จ่ายที่เหมาะสมกับระดับรายได้ของตน

การต่อยอดสู่ 'ธุรกิจแฟรนไชส์' (Franchise) การขายกิจการแฟรนไชส์เพื่อเปิดหาพันธมิตรที่มองเห็นโอกาสธุรกิจร่วมกัน โดยการควักกระเป๋าจ่ายค่าแฟรนไชส์เพื่อแลกกับระบบบริหารจัดการแบบครบวงจร ตั้งแต่การฝึกอบรม ค่าวัสดุอุปกรณ์ การตกแต่งร้าน และการตลาดเป็นโมเดลธุรกิจที่อยู่ในกระแสความสนใจไม่น้อย

สิ่งที่กิจการแฟรนไชส์ไม่ควรมองข้าม คือ'เราจะรักษาคุณภาพมาตรฐานของธุรกิจไว้ได้อย่างไร?' เพราะการที่ยิ่งมากคนก็ยิ่งมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกันมาก ทุกคนต้องเรียนรู้และเข้าใจการบริหารคุณภาพไปด้วยพร้อมๆ กันนั่นเอง

สุดท้ายนี้ บีไอซี เห็นว่า โอกาสทางธุรกิจมีอยู่รอบตัว ขึ้นอยู่กับว่าเรามองเห็นและใช้โอกาสนั้นให้เกิดประโยชน์ได้เต็มที่มากน้อยแค่ไหน การสวมบท 'ผู้เล่น' (มือใหม่) ในธุรกิจที่มีการแข่งขันกันสูงอย่างธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม ผู้ประกอบการควรเลือกตลาดที่ตนเองได้เปรียบ และรู้จักดัดแปลงสร้างสรรค์กลยุทธ์ที่แปลกใหม่ เมื่อมีองค์ประกอบที่ลงตัวดังกล่าวนี้ คิดว่าโอกาสทางธุรกิจก็คงเกิดขึ้นได้ไม่ยาก

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับช่องทางการค้า-การลงทุน และอัพเดตความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) http://www.thaibizchina.com/ หรือช่องทางใหม่ www.facebook.com/thaibizchina

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,161
วันที่ 29 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559