‘ก.ล.ต.’กุมขมับคุมปั่นหุ้นผ่านไลน์สุดหิน

01 มิ.ย. 2559 | 04:00 น.
ก.ล.ต.รับคุมการปั่นหุ้นผ่านไลน์ทำได้ยาก เหตุเข้าไม่ถึงตัวการแท้จริงในการส่งข้อมูล พร้อมชี้การดำเนินคดีแบบหมู่เกิดขึ้นยากเพราะไม่มีผู้ยอมจ่ายค่าทนาย เผยทนายสามารถสำรองจ่ายก่อนได้และเมื่อชนะคดีจะได้เปอร์เซ็นต์เพิ่มพร้อมเตรียมเพิ่มบทลงโทษทางแพ่งเพื่อเพิ่มความรวดเร็วทางคดี

นายอเนก อยู่ยืน ผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยถึงการสร้างราคาหรือปั่นหุ้นผ่านแอพพลิเคชันไลน์(Line) โดยยอมรับว่าเป็นการยากที่จะกระทำการจับกุมผู้ที่กระทำความผิดอย่างไรก็ตามก.ล.ต.มีเครื่องมือที่จะตรวจสอบ และวิธีการที่จะหาตัวผู้กระทำความผิด โดยในส่วนของข้อกฎหมายเองมองว่ามีความทันสมัยพอที่จะก้าวตามเทคโนโลยีเพียงแต่กระบวนการที่จะจับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทษไม่ใช่เรื่องง่าย

“การใช้ไลน์ปั่นหุ้นไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะเข้าถึงได้ อันดับแรกจะต้องทำอย่างไรเราถึงจะไปอยู่ในกลุ่มดังกล่าวได้หรือหากเรารับทราบข้อมูลมาก็จะต้องนำมาตรวจสอบอีกว่าเป็นจริงหรือไม่ หลังจากนั้นก็ต้องมาตรวจสอบอีกว่าผู้ใช้งานนั้น ตัวตนที่แท้จริงเป็นใคร ซึ่งเรื่องดังกล่าวพวกนี้ต้องใช้ความรู้ด้านไอทีเยอะต้องค่อยๆสืบแต่ก็ต้องใช้เวลา เพราะข้อมูลทางคอมพิวเตอร์พวกนี้จะมีร่องรอยทางอิเล็กทรอนิกส์ให้สามารถตามได้ ก.ล.ต.เองก็พยายามปรับตัวเรื่องดังกล่าวอยู่และมีการร่วมมือกับหน่วยงานอื่นอย่างต่อเนื่อง”

นายสมชาย พงษ์พัฒนาศิลป์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายบังคับใช้กฎหมายก.ล.ต. กล่าวเพิ่มเติมถึงประเด็นเรื่องของการดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือการฟ้องหมู่(Class Action) กรณีการได้รับความเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยระบุว่า น่าจะเกิดขึ้นได้ยากแม้กฎหมายจะออกมาแล้วเนื่องจากจะต้องมีผู้เสียหาย 1 รายยอมเสียค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินคดีฟ้องร้อง แต่ผู้เสียหายได้รับความเสียหายไปแล้วก็จะไม่ยอมเสียเงินเพิ่มที่จะจ่ายเพื่อฟ้องคดี

ทั้งนี้บทบาทสำคัญจริงๆ ของเรื่องดังกล่าวคือ น่าจะเป็นเรื่องของทนายความที่เห็นการกระทำที่มีผู้เสียหายจำนวนมากและบังเอิญรู้จักกับผู้เสียหายบางคน และนำผู้เสียหายบางคนมาแล้วดำเนินคดีโดยที่ทนายความอาจจะเป็นผู้ที่สำรองจ่ายค่าใช้จ่ายบางส่วนไปก่อน หากชนะคดีทนาย ความก็จะได้ค่าตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่าปกติ นี่คือหลักการของการฟ้องหมู่ แต่ในไทยเพิ่งจะมีซึ่งเท่าที่ถามข้อมูลไปยังศาล การจะดำเนินการฟ้องหมู่ยังไม่มีเกิดขึ้นในเรื่องของการปั่นหุ้น แต่เห็นว่าจะมีเรื่องของกรณีทางด่วน

อย่างไรก็ตามในกรณีของการฟ้องหมู่นั้นทนายความสามารถที่จะสำรองจ่ายก่อนได้ เพราะสามารถได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าจากการชนะคดี ซึ่งตามปกติทนายความจะเรียกเปอร์เซ็นต์จากการชนะคดีไม่ได้ เพราะจะเหมือนกับเป็นการค้าความ แต่เรื่องการฟ้องหมู่อาจจะมองว่าเป็นข้อยกเว้น เนื่องจากเป็นเรื่องของการให้โอกาสทนายความไปสำรองค่าใช้จ่ายเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเมื่อคนกลุ่มนั้นได้รับความเป็นธรรมกลับมาทนายความก็ควรจะได้ค่าตอบแทน เพื่อเป็นการจูงใจให้เข้ามาทำคดี แต่เรื่องดังกล่าวนี้คงต้องรอสักระยะหนึ่งว่าจะมีใครหรือไม่

นายสมชายกล่าวอีกว่า เรื่องของการฟ้องหมู่นั้น บทบาทจะอยู่ที่ทนายความกับผู้ที่จะเป็นผู้เริ่มต้น หรือผู้เสียหายที่เป็นผู้เริ่มตั้งต้นคดีกับทนายความเป็นสำคัญ ส่วนเปอร์เซ็นต์ที่ทนายความจะได้จากการชนะคดีนั้น ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่ได้มีการกำหนดอัตราที่แน่นอน โดยในความคิดเห็นส่วนตัวการฟ้องร้องในรูปแบบดังกล่าว น่าจะได้เห็นจากการฟ้องร้องของบริษัทใหญ่ เช่น เรื่องของมลพิษหรือกรณีการฟ้องผู้บริหารที่ใช้ข้อมูลภายใน เพราะหากชนะคดีผู้บริหารก็มีเงินในการชำระค่าเสียหายให้นักลงทุน เป็นต้น

“กรณีกฎหมายของก.ล.ต. อาจจะเห็นลำบาก เพราะผู้ที่มาปั่นหุ้นเมื่อมาถึงจุดหนึ่งก็จะหลบหนีไป ขณะที่เงินก็ถูกใช้หมดไป ดังนั้นผู้ที่จะต้องมาดำเนินการอย่างแท้จริงในกรณีปั่นหุ้น หรือการกระทำที่ไม่เป็นธรรมในตลาดหลักทรัพย์ฯอาจจะต้องเป็นผู้เสียหายที่มีความรู้สึกคับแค้น และยอมที่จะเสียต่อ”

ในส่วนของแนวทางการดำเนินการในอนาคตสำหรับการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายนั้น ก็จะดำเนินการในการเพิ่มมาตรการป้องปราม รวมถึงเพิ่มมาตรการลงโทษทางแพ่ง (Civill sanctionโดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการนำเสนอขอแก้กฎหมาย ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และมีการส่งต่อไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนของการรอเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณา โดยที่มาตรการทางแพ่งดังกล่าวนี้ในส่วนของบทลงโทษหลายอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปเยอะมากซึ่งระหว่างที่รอให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ก็อาจจะต้องมีการหารือกันอีกรอบหนึ่งเนื่องจากจะเป็นการพลิกโฉมการดำเนินคดีเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่เป็นธรรมไปอย่างมาก

สำหรับกรณีที่จะดำเนินการทางแพ่งนั้น จะเป็นกรณีที่เห็นว่าการกระทำความผิดไม่รุนแรงมากนัก เช่น การซื้อขายโดยใช้ข้อมูลภายใน (อินไซเดอร์ เทรดดิง) แต่หากเป็นกรณีที่กรรมการทุจริตหรือโกงบริษัทจะไม่ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง จะใช้วิธีฟ้องอาญาอย่างเดียวหรือจะเรียกว่าการฟ้องทางแพ่งจะเป็นลักษณะที่คล้ายกับคดีที่เปรียบเทียบปรับได้ ส่วนบทลงโทษนั้น เดิมทีค่าปรับทางแพ่งในปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณ 2 เท่าส่วนคดีอาญาหากรับสารภาพศาลจะลดโทษให้กึ่งหนึ่งก็จะเหลือแค่ 1 เท่า แต่ในอนาคตหากมีการฟ้องทางแพ่งก็ไม่ทราบได้ว่าศาลแพ่งจะลดค่าปรับให้หรือไม่ โดยค่าปรับคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับสามารถเรียกได้ 2 เท่า และเรียกคืนผลประโยชน์จากการปั่นหุ้นหรือการใช้ข้อมูลภายในอีก 1 เท่า รวมทั้งหมดจะเป็นการปรับ 3 เท่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องรอดูว่าศาลแพ่งจะพิจารณาอย่างไร

“เหตุที่ต้องใช้โทษปรับทางแพ่งนั้น เพราะเมื่อเวลาก.ล.ต.ดำเนินคดีอาญาศาลจะลงโทษศาลต้องฟังพยานหลักฐานจนปราศจากข้อสงสัย ซึ่งคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจแม้จะมีร่องรอยก็จริงแต่จะฟังโดยปราศจากข้อสงสัยของศาลบางครั้งทำยาก ขณะที่บางครั้งศาลอาจจะใช้มาตรฐานเดียวกับคดีอาญาทั่วๆไป หากเป็นแบบนั้นก็คงไปบังคับศาลไม่ได้ เมื่อมาตรฐานคดีอาญามันสูง แต่คดีแพ่งใช้หลักแต่ใครน่าเชื่อถือกว่าคนนั้นชนะ ส่วนคดีอาญาเป็นหลักที่ว่าผู้กระทำผิดได้เปรียบด้านคดีแพ่งใช้ความสมเหตุสมผล ทำให้ดำเนินคดีได้รวดเร็วมากขึ้น”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,161
วันที่ 29 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559