อ้วยอันฯวาดแผนโกยพันล้านทุ่ม200ล.ขยายโรงงานรับตลาดโต

30 พ.ค. 2559 | 11:00 น.
จับตาตลาดยาจากสมุนไพรหมื่นล้านคึกคัก เติบโต 20% "อ้วยอันโอสถ" เล็งขยายไลน์สินค้าพร้อมเพิ่มแพ็กเกจจิ้งทันสมัย รับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน มั่นใจโกยรายได้ทะลุพันล้านในอีก 3 ปี พร้อมเทงบ 200 ล้านบาทขยายโรงงานใหม่

นางนิชา สมบูรณ์เวชชการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อ้วยอันโอสถ จำกัด ดูแลด้านการตลาดและฝ่ายบุคคล เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมีรายได้รวม 1 พันล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า จากในปีนี้ที่คาดว่าจะมีรายได้ราว 500 ล้านบาท เติบโต 30% จากปี 2558 ที่มีรายได้ 384 ล้านบาทเติบโต 42% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดสมุนไพรมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยพบว่าตลาดรวมมีการเติบโตเฉลี่ย 20% โดยบริษัทมีแผนใช้เงินลงทุนราว 200 ล้านบาทในการขยายโรงงานแห่งใหม่บนพื้นที่ 7 ไร่บริเวณนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร โดยคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ในปี 2563

สำหรับแผนการทำตลาดของบริษัทในปีนี้ เน้นการขยายช่องทางการจำหน่ายให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มยาสามัญประจำบ้าน อาทิ ยาแคปซูลขมิ้นชัน ยาแคปซูลฟ้าทะลายโจร ยาอมสมุนไพรตรามังกรทอง ดังนั้นการวางจำหน่ายจึงไม่ได้จำกัดเฉพาะร้านขายยา สามารถวางจำหน่ายได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อต่างๆ ในห้างสรรพสินค้า หรือไฮเปอร์มาร์เกต นอกจากนี้ยังได้แตกไลน์บรรจุภัณฑ์ขนาดใหม่ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคมากขึ้นขณะเดียวกันบริษัทมีแผนขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ คือผู้ที่ไม่เคยลองใช้สมุนไพรให้หันมาลองใช้สมุนไพร โดยการให้ความรู้และประโยชน์เกี่ยวกับสมุนไพร ผ่านสื่อต่างๆ โดยปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนยอดจากร้านขายยาทั่วประเทศราว 60% กับและร้านขายยาสมัยใหม่ 40%

นอกจากนี้บริษัทมีแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ ยาคอส COZZ , ยาอมตรามิสเตอร์เฮิร์บ ในแพ็กเกจและรูปแบบที่ทันสมัย พร้อม 2 รสชาติใหม่ รสทับทิมและ จินเจอร์ไลม์ , ยาน้ำแก้ไอเด็กตรามิสเตอร์เฮิร์บ โดยบริษัทมีนโยบายในการพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรมทั้งทางด้านเทคโนโลยี และองค์ความรู้

ด้านการทำตลาดบริษัทเน้นกลยุทธ์แบบครบวงจรทั้งการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ และการทำดิจิตอล มาร์เก็ตติ้งควบคู่กันไป เพื่อนำเสนอคอนเทนต์เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้าง เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและความรู้ต่างๆ ทั้งนี้จากข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กลุ่มสมุนไพร) ระบุว่า ตลาดยาจากสมุนไพรในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาทและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจตนเองมากขึ้น รวมทั้งการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,161
วันที่ 29 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559