‘ท่าอากาศยาน’เลื่อนเปิดอาคารใหม่ภูเก็ต แจงระบบทดสอบยังไม่สมบูรณ์ เร่งย้าย 53 แอร์ไลน์สิงหานี้

30 พ.ค. 2559 | 09:00 น.
ทอท. ดีเลย์เปิดใช้อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ สนามบินภูเก็ต เต็มรูปแบบออกไปเป็นเดือนกันยายนนี้ โดยเตรียมแผนทดสอบทั้งระบบสร้างความมั่นใจ ดึง 53 แอร์ไลน์ย้ายมาปฏิบัติการบินในเทอร์มินัลใหม่ กลางเดือนสิงหาคมนี้ หลังก่อนหน้านี้ทำเทสต์ไฟลต์เฉพาะขาเข้าเท่านั้น ทั้งบอร์ดไฟเขียวแผนแม่บทสนามบินเชียงใหม่ มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท รองรับผู้โดยสาร 20 ล้านคน

[caption id="attachment_57109" align="aligncenter" width="340"] นิตินัย ศิริสมรรถการ นิตินัย ศิริสมรรถการ[/caption]

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า โครงการพัฒนาสนามบินภูเก็ตระยะที่ 2 ซึ่งยังเหลืองานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ (อาคารหลังใหม่) เพื่อเพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสารจาก 6.5 ล้านคนเป็น 12.5 ล้านคน จำเป็นต้องเลื่อนการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบออกไปจากเดิมที่กำหนดไว้ว่าจะเป็นวันที่ 1 มิถุนายนนี้ เนื่องจากกระบวนการทดสอบระบบต่าง ๆ ยังไม่สมบูรณ์ทั้งระบบเพราะต้องมีกระบวนการทดสอบเที่ยวบินขาออกด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเพิ่งทำการทดสอบระบบเฉพาะเที่ยวบินขาเข้า หรือ First Technical Flight เท่านั้น และหลังการทดสอบระบบต้องมีการปรับระบบต่างๆ ยังพบว่ามีข้อบกพร่องอยู่ต้องปรับแก้ไขให้เป็นไปตามมาตรฐานสูงสุด

" เนื่องจากการเปิดอาคารผู้โดยสารดังกล่าว ถือเป็นการสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ การดำเนินการทุกอย่างต้องเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยที่ครบถ้วน จึงเปิดให้บริการ แตกต่างจากเปิดอาคารผู้โดยสาร อาคาร2 ของสนามบินดอนเมือง เพราะเป็นเพียงการปรับปรุงสำหรับการรองรับผู้โดยสารเที่ยวบินภายในประเทศ"

นอกจากนี้ทอท.ยังอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการขยายการลงทุนในการพัฒนาระยะที่ 3 เพื่อขยายการรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 18 ล้านคนต่อปี(พัฒนาได้สูงสุด) โดยในขณะนี้ได้ดำเนินการซื้อที่ดินของการเคหะแห่งชาติ ราว 50 ไร่ด้านนอกของสนามบิน เพื่อก่อสร้างบ้านพักให้พนักงาน และย้ายออกจากสนามบิน เพื่อนำพื้นที่ดังกล่าวมาสร้างลานจอดอากาศยานเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นการพัฒนาตามแผนแม่บทสนามบินภูเก็ต ที่อยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียด เพื่อเตรียมนำเสนอบอร์ดทอท.พิจารณาในระยะต่อไป และขณะเดียวกันก็ต้องดูปัญหาในเรื่องขอขวดในการเข้าเมืองด้วย ซึ่งทราบว่าภาครัฐก็มองเรื่องของโมโนเรลอยู่ เพื่อเชื่อมการเดินทางระหว่างสนามบินภูเก็ตเข้าเมือง นายนิตินัยกล่าว

ด้าน นางมนฤดี เกตุพันธุ์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าจากกรอบเวลาล่าสุดคาดว่าการเปิดอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ สนามบินภูเก็ต น่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ (แกรนด์โอเพนนิ่ง) ได้ภายในเดือนกันยายนนี้ โดยได้มีการหารือกับสายการบินต่าง ๆ ทั้งปัจจุบันสนามบินภูเก็ต มีสายการบินระหว่างประเทศเปิดให้บริการทั้งหมด 53 สายการบิน เป็นเที่ยวบินประจำ 37 สายการบิน เที่ยวบินเช่าเหมาลำ 16 สายการบิน ซึ่งสายการบินเหล่านี้จะต้องทยอยย้ายไปให้บริการในอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ภายในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อให้สามารถปฏิบัติการบินได้อย่างไม่เป็นทางการภายในอาคารผู้โดยสารนี้ได้ในราวกลางเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนการเปิดให้บริการพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสนามบินภูเก็ต ซึ่งคิงเพาเวอร์ เป็นผู้ชนะการประมูล ก็คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนเช่นกัน

"การเร่งรัดการเปิดใช้บริการอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ซึ่งมีพื้นที่ถึง 7.2 หมื่นตารางเมตร เป็นสิ่งที่จำเป็น ควบคู่ไปกับการทดสอบระบบอย่างมั่นใจก่อนเปิดให้บริการ ซึ่งในปีงบประมาณ 2558 จำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินภูเก็ตอยู่ที่ 12.54 ล้านคน และในปีงบประมาณ2559 ก็น่าจะเกิน 13 ล้านคน การเติบโตของเที่ยวบินอยู่ที่ 11-12% มีเที่ยวบินเข้า-ออกรวมกันกว่า 270 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งก็ถือว่าทะลุไปจนเกินการขยายศักยภาพของสนามบินในขณะนี้ ที่เมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มเป็น 12.5 ล้านคน"นางมนฤดี กล่าว

ขณะที่ นายประสงค์ พูนธเนศ ประธานกรรมการ ทอท.เผยถึงผลสรุปการประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า มีมติเห็นชอบแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ใช้งบประมาณในราว 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศในอนาคต โดยแผนแม่บทการพัฒนา แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 การพัฒนาปี 2559 - 2568 มีเป้าหมายให้สามารถรองรับปริมาณจราจรทางอากาศได้ถึงปี 2573 ระบบทางวิ่งและทางขับรองรับเที่ยวบินได้ 34 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ลานจอดอากาศยาน 31 หลุมจอด รองรับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคนต่อปี

ช่วงที่ 2 การพัฒนาปี 2569 - 2573 เป็นแผนการพัฒนาระยะยาว รองรับปริมาณจราจรทางอากาศได้ถึงปี 2578 ระบบทางวิ่งและทางขับรองรับเที่ยวบินได้ 34 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ลานจอดอากาศยาน 38 หลุมจอด รองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี มีงานก่อสร้างหลุมจอดอากาศยานเพิ่มอีก 7 หลุมจอด ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศเพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 8 ล้านคน ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายใน เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารภายในประเทศได้ 12 ล้านคนต่อปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,161
วันที่ 29 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559