นักวิชาการชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศตอบโจทย์ลดเหลื่อมล้ำ-แก้เศรษฐกิจ

30 พ.ค. 2559 | 14:00 น.
ถูกแช่แข็งมา 3 ปีเต็ม หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ คำถามวนกลับมาอีกครั้งว่า ระดับค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าว เพียงพอต่อการดำรงชีพของแรงงาน หรือเพียงพอต่อการเข้าถึงชีวิตที่ดีในระดับพื้นฐานได้หรือไม่ ในงานเสวนา"ทำไมค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั่วประเทศ" ซึ่งจัดโดย เครือข่ายวิชาการเพื่อสังคมเป็นธรรม ร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมหาคำตอบในเรื่องนี้

โดย รศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ในอดีตค่าแรงขั้นต่ำส่งผลต่อการกระจายโรงงานจากส่วนกลางไปยังต่างจังหวัด และเชื่อว่าความเป็นอยู่ในต่างจังหวัดมีค่าครองชีพต่ำ ค่าจ้างขั้นต่ำก็ควรจะต่ำตามไปด้วย แนวคิดนี้วันนี้ใช้ไม่ได้แล้ว เนื่องจากวิถีชีวิตของแรงงานวันนี้จะอยู่จังหวัดใดก็ทำงานวันละ 8-12 ชั่วโมงเท่ากัน ไม่มีเวลาไปเข้าป่าหาผักหักฟืนดังเช่นที่ผ่านมา การกล่าวอ้างเช่นนั้นใช้ไม่ได้อีกต่อไป รายรับของแรงงานจึงต้องเท่ากันทั้งประเทศ

ส่วนการกดค่าจ้างแรงงานไว้ โดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อล่อนักลงทุนให้เข้าไปลงทุนในต่างจังหวัดนั้น ต้องไม่ลืมว่า ผู้ประกอบการมีค่าใช้จ่าย มีต้นทุนด้านอื่นๆ อาทิ ค่าขนส่งสินค้า เห็นได้ว่า รัฐบาลต้องใช้มาตรการ หรือมีนโยบายอื่นเพื่อกระตุ้นนักลงทุน อาทิ การลดภาษี เป็นต้น

"ค่าจ้างขั้นต่ำถือเป็น 1 ใน 100 ของต้นทุนการผลิตเท่านั้น การกล่าวอ้างที่ว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และการปิดกิจการของผู้ประกอบการ เป็นเพียงการใช้วาทกรรมเท่านั้น ขณะที่คณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งกำหนดให้มีองค์ประกอบจากลูกจ้างในแต่ละจังหวัดนั้น ถูกแทรกแซง มีอำนาจต่อรองไม่เท่ากัน จึงส่งผลต่ออัตราค่าจ้างแรงงานที่ไม่สะท้อนกับวิถีชีวิตประจำวัน

ค่าจ้างขั้นต่ำ จะใช้ฐานะของนายจ้างที่แตกต่างกันมาเป็นตัวกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำของลูกจ้างไม่ได้ หากจำเป็นรัฐบาลต้องเข้าไปช่วย เห็นว่า หากผู้ประกอบการไม่มีความสามารถที่จะเลี้ยงลูกจ้างให้เป็นคนอยู่ได้ก็ไม่ควรทำกิจการ เสนอแนะให้ผู้ประกอบการไปลดรายจ่าย ลดต้นทุนส่วนอื่นๆลง

ด้าน ดร.ศยามล เจริญรัตน์ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ที่ผ่านมาการปรับอัตราค่าจ้างมักจะถูกแทรกแซงอยู่เสมอ ซึ่งไม่ปฏิเสธว่า เมื่อมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละครั้งนายจ้างอาจจะเดือดร้อนจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ แต่ก็น้อยมากเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตสินค้าที่เกิดขึ้นจริง

"กลุ่มแรงงานเป็นกลุ่มใหญ่ในสังคมไทย หากรัฐบาลจะลดความเหลื่อมล้ำ ต้องเริ่มต้นจากคนกลุ่มนี้ก่อน ขอเสนอทางออกว่า ภาครัฐควรสร้างแรงจูงใจ สร้างนวัตกรรมใหม่ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ ควรมีหน่วยงานติดตามค่าใช้จ่ายที่หลายภาคส่วนเห็นร่วมกัน เพื่อคำนวณค่าครองชีพที่เหมาะสม ขณะที่ภาคการศึกษาต้องเร่งผลิตแรงงานให้สอดคล้องกับภาคการผลิตของไทย"

ส่วน ผศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า นโยบายค่าแรงขั้นต่ำถือเป็นจุดยืนทางนโยบายที่รัฐบาลต้องดำเนินการ แม้ว่าระบบไตรภาคีจะเป็นผู้พิจารณากลั่นกรอง แต่สุดท้ายรัฐบาล คือ ผู้ตัดสินใจว่า จะเลือกอยู่ฝั่งลูกจ้างหรือฝั่งนายจ้าง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำน้อยมาก

"การกระตุ้นเศรษฐกิจดีที่สุด คือ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อให้นำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ถือเป็นการช่วยที่ส่งตรงไปถึงคน กรณีที่รัฐจัดสวัสดิการให้ทั้งการศึกษาของบุตร และการรักษาพยาบาล แต่ไม่ตรงเท่ากับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ควบคู่ไปกับการมีนโยบายอื่นเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจปรับสมดุลที่เหมาะสม" ผศ.อนุสรณ์ ระบุ พร้อมยืนยันว่า การปรับเพิ่มค่าจ้างเพียงแค่ไม่มีกี่สิบบาท ไม่ส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการต้องปิดตัวลงแต่อย่างใด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,161
วันที่ 29 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559