พาณิชย์เล็งผุดกรมการค้าและบริการ

26 พ.ค. 2559 | 09:44 น.
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีแผนอาจจะมีการจัดตั้งกรมการค้าและบริการมาดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (SMEs)และในอนาคตSMEs จะไม่ได้เป็นแค่ Small & Medium Enterprise แต่จะเป็น Smart Enterprise ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเป็นฐานของการสร้างขีดความสามารถการแข่งขัน นอกจากนี้กรมต่างๆ ในกระทรวงพาณิชย์อาจต้องปรับเปลี่ยนบทบาทใหม่ เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา อาจต้องเพิ่มบทบาทด้านการส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และการทำให้เกิดการค้าในเชิงพาณิชย์ ให้มากขึ้น ส่วนของกรมการค้าภายในจะกลายเป็นกลไกสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจฐานราก ที่จะปลดล็อกกับดักความเหลื่อมล้ำ ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ และเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับโลกภายนอก ทั้งในระดับท้องถิ่น  ระดับภูมิภาค  และระดับโลก

“ในอดีตที่ผ่านมา ปัญหาหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะกรมการค้าภายใน ที่พบเห็นบ่อยๆ ก็คือ การแก้ปัญหาของสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มที่ล้นตลาด หรือมีราคาตกต่ำในบางช่วงเวลา แม้กรมการค้าภายในจะใช้กลไกทางกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ มาดำเนินการแก้ไข เช่น การควบคุมราคาสินค้า แต่ก็ไม่สามารถบรรลุผลได้อย่าง 100% เพราะสิ่งที่ทำได้นั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ดังนั้นกรมการค้าภายในยุคใหม่จะต้องเพิ่มบทบาทของการเป็นผู้อำนวยความสะดวกทางการค้าให้มากขึ้นกว่าการเป็นผู้คุมกฎระเบียบทางการค้า” ดร.สุวิทย์ กล่าวและว่า

การปรับเปลี่ยนบทบาทดังกล่าวจะสอดคล้องกับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์ในอีก 20 ปี โดยในส่วนกรมการค้าภายในต้องมีการเปลี่ยนบทบาทการทำงานใน 4 เรื่องหลักๆ ได้แก่ เปลี่ยนจากการกำกับดูแลการผลิตสินค้าที่ไม่สนใจความต้องการของตลาดไปสู่การผลิตตามความต้องการของตลาด ,เปลี่ยนจาก ผู้คุมกฎระเบียบทางการค้าเป็น ผู้อำนวยความสะดวกทางการค้า ,ดูแลการรับจ้างผลิตสินค้าเป็นการสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและเปลี่ยนจาก การค้าที่เน้นตัวสินค้าเป็น การค้าที่เน้นการบริการ

ทั้งนี้กรมการค้าภายในจะกลายเป็นกลไกสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่จะปลดล็อกความเหลื่อมล้ำ ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับโลกภายนอกทั้งในระดับท้องถิ่นระดับภูมิภาคและระดับโลกซึ่งทั้งหมดนี้ยังสามารถตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 ได้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกันจะบูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพราะนอกจากการควบคุมราคาสินค้า กลไกของราคา และปริมาณของสินค้าแล้ว ยังมีหน้าที่ให้ความรู้แก่ผู้บริโภค โดยการสร้างความตระหนักรับรู้ให้แก่ผู้บริโภคในเรื่อง ฉลาดซื้อประหยัดใช้  เพื่อให้เกิดเป็นอำนาจของผู้บริโภค