กฟผ.-สกว.ชี้ช่องว่างวิจัยพลังงานไฟฟ้า โซลาร์-พลังงานชีวมวล-ภาษีคาร์บอน

26 พ.ค. 2559 | 08:43 น.
นิทรรศการ กฟผ.ร่วมกับ สกว. เปิดเวทีเผยแพร่ผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าสู่การใช้งานจริงอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม หลายภาคส่วนชี้ยังมีช่องว่างการวิจัย มองอนาคตโซลาร์-พลังงานชีวมวลจะเป็นพระเอกตัวจริง รวมถึงการศึกษาภาษีคาร์บอน พร้อมกระตุ้นการเตรียมพร้อมรับมือปัญหาน้ำทะเลขึ้นสูงกระทบการปลูกข้าวและเมืองชายทะเล

รศ. ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “วิจัยพลังงานสู่การใช้งานจริงอย่างยั่งยืน” ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กฟผ. และ สกว. เพื่อนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานไฟฟ้า และเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการพัฒนางานวิจัยที่นำไปสู่ความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ เพื่อลดการทำซ้ำซ้อนแต่เพิ่มการต่อยอดและเชื่อมโยงจนเกิดผลสู่การใช้งานจริง

พลังงานและความมั่นคงด้านพลังงานเป็นประเด็นสำคัญต่อทั้งระดับชาติและสากล การสนับสนุนงานวิจัยเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาของประเทศในทุกมิติจึงเป็นเป้าหมายสำคัญ ซึ่งโครงการที่ได้รับคัดเลือกล้วนสอดคล้องกับแผนพัฒนาด้านพลังงานของประเทศทั้งในแง่องค์ความรู้และการรองรับเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังจะเข้ามาในประเทศไทย เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วนของสังคม ขณะที่นายภัทรพงศ์ เทพา ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานวิจัยและพัฒนา กฟผ. ระบุว่าจะผลักดันให้เกิดการนำงานวิจัยไปสู่การใช้งานจริงและทันต่อสถานการณ์ โดยเน้นเรื่องการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ซึ่ง กฟผ.ยินดีนำความคิดเห็นไปปรับปรุงและพัฒนากิจการด้านไฟฟ้าของประเทศต่อไป

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวถึงแผนความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย ว่าการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจไทย แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ขนส่ง และการเตรียมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ล้วนส่งผลต่อการใช้ไฟฟ้าของไทยโดยรวม ซึ่ง กพช.มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของไทย พ.ศ. 2558-2579 โดยให้มีระยะเวลาของแผนสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สศช. พร้อมทั้งจัดทำแผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน ซึ่งการจัดทำแผน PDP2015 ให้ความสำคัญต่อเป้าหมาย 3 ประการ คือ ความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ ต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีหลักการในการจัดทำแผน ได้แก่ 1. ส่งเสริมการกระจายเชื้อเพลิง ลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักจากปัจจุบันที่ร้อยละ 65 เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด จัดหาไฟฟ้าจากต่างประเทศให้มากขึ้น เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ร้อยละ 20 และกำหนดให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ปลายแผน (ร้อยละ 5) 2. มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ของความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด ทั้งนี้ขอฝากว่างานวิจัยจะต้องเริ่มจากปัญหาที่เกิดขึ้นและใช้ได้จริง ไม่ขึ้นหิ้ง มีนวัตกรรมใหม่และสร้างความมั่นคงได้ ตอบโจทย์ได้อย่างแท้จริง

ด้านผู้บริหาร กฟผ. กล่าวว่า ความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก จึงต้องมีการสำรองไฟฟ้าในกรณีไฟดับเช่นเดียวกับภาคธุรกิจ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของประเทศไม่ให้มีการลงทุนซ้ำซ้อน ขณะที่ภาคอยู่อาศัยที่ประชาชนแต่ละครัวเรือนมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ดังนั้นกำลังการผลิตต้องเพียงพอต่อการความต้องการ ไม่พึ่งพาแหล่งพลังงานใดมากเกินไป งานวิจัยที่มุ่งเน้นมีทั้งสิ้น 6 กรอบ คือ 1. การทดแทนการนำเข้าเทคโนโลยี วัสดุ และอุปกรณ์จากต่างประเทศเพื่อใช้ในกิจการไฟฟ้า 2. ลดความต้องการใช้พลังไฟฟ้าสูงสุด และหรือการพัฒนาเพื่อส่งเสริมให้ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ 3. การสนับสนุนการวิจัยเชิงสังคมเพื่อพัฒนาชุมชนรอบพื้นที่โรงไฟฟ้า 4. การป้องกันและลดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการไฟฟ้า 5. การเพิ่มประสิทธิภาพและหรือลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับกิจการไฟฟ้า 6. การพัฒนาพลังงานใหม่เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า

ขณะที่นายพิชัย ถิ่นสันติสุข กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยถึงภาคอุตสาหกรรมกับความมั่นคงของระบบไฟฟ้า: ความสำคัญและการวิจัยและพัฒนา ว่าปัจจุบันยังมีช่องว่างอีกมากสำหรับนักวิจัย แนวโน้มในอนาคตโซลาร์จะเป็นพลังงานที่มั่นคง ซึ่งหลายหน่วยงานได้เริ่มทำแล้ว แม้ขณะนี้จะนำเข้าเป็นส่วนใหญ่แต่เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้นเชื่อว่าโซลาร์จะเป็นพระเอกตัวจริง ส่วนพลังงานลมเป็นธุรกิจที่เข้าหายากที่สุด ใช้เวลาทำวิจัยอย่างน้อย 2 ปี และต้องให้ความสำคัญกับชุมชนด้วย ขณะที่พลังงานชีวมวลจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรยังมีช่องทางที่ยังทำวิจัยได้อีกมาก และสามารถสร้างการส่งออกได้ ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียก็ยังไม่เพียงพอต่อการลงทุน ควรจะมาจากโรงงานขยะจะค่อนข้างมั่นคงและไปได้ไกลกว่า โดยเฉพาะขยะอุตสาหกรรม ตั้งเป้าไว้ที่ 50 เมกะวัตต์ และสามารถกำจัดขยะอันตรายได้ด้วย จึงเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยมาก ทั้งนี้ พ.ร.บ.พลังงานทดแทนจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญว่าจะผ่านมติ ครม. หรือไม่ ส่วนสถานการณ์รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขณะนี้ได้เข้าระบบแล้ว 5,265 ราย (6,009 เมกะวัตต์) และมีข้อผูกพันแล้ว ณ เดือนเมษายน 2559 จำนวน 5,241 ราย (3,032 เมกะวัตต์)

ศ. ดร.สมชาติ โสภณรณฤทธิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในโครงการร่วมฯ กฟผ.-สกว. แสดงความเป็นห่วงภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ของไทยที่จะได้รับผลกระทบระยะยาวจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น 1.4 ซม.ต่อปี โดยเฉพาะการปลูกข้าวในภาคกลางตอนล่าง ขณะที่ฝั่งอันดามันจะกระทบกับรีสอร์ทและเมือง จึงต้องพิจารณาว่าเรามีการเตรียมพร้อมและวางแผนป้องกันปัญหาหรือยัง ซึ่งต้องใช้งบประมาณมหาศาล ส่วนสถานการณ์การใช้พลังงานของไทยพบว่าความมั่นคงด้านพลังงานสูงขึ้นจากอุปทานเชื้อเพลิงฟอสซิลมีมากกว่าอุปสงค์ และสูงกว่าอัตราการเพิ่มของจีดีพี เพราะมีการผลิตพลังงานฟอสซิลจากน้ำมันและก๊าซเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น การอุดหนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีปัญหาเรื่องระดับ FIT ที่ส่งผลเสียต่อผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องจ่ายค่าไฟแพงโดยไม่เป็นธรรม ทั้งนี้แนวทางการใช้เครื่องมือนโยบายทางเศรษฐกิจด้านพลังงานที่สำคัญ คือ ลดการอุดหนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและสร้างความเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้า โดยสิ่งที่คาดหวังคือ ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลดลง ได้ไฟฟ้าที่ไม่แพงและเป็นธรรม และได้กองทุนภาษีคาร์บอนซึ่งจำเป็นมาก ปัจจุบันมี 15 ประเทศที่ใช้หรือผ่านเป็นกฎหมายภาษีคาร์บอนแล้ว ดังนั้นประเด็นกฎหมายภาษีคาร์บอนจึงเป็นโจทย์วิจัยที่ควรศึกษา

นายมณฑล วสุวานิช จากมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนในการลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ แม้วันนี้ราคาปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติเหลวจะถูกลง แต่สุดท้ายประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียก็ยังต้องนำเข้า จึงเป็นโอกาสของพลังงานทดแทนและเชื้อเพลิงพาณิชย์ที่จะมาสู้ได้ ทั้งนี้การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนชะลอตัวเนื่องจากมีปัญหาอุปสรรคสำคัญ ทั้งกระแสการต่อต้านของชุมชน ต้นทุนค่าดำเนินการที่เพิ่มสูงขึ้นของทางการเรียกผลประโยชน์จากนักการเมืองและข้าราชการ ข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่ซ้ำซ้อนเพิ่มขั้นตอนและความยุ่งยากในการพิจารณาออกใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการไฟฟ้า รวมถึงความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนและสถาบันการเงินต่อการดำเนินนโยบายของภาครัฐ