ประมง..เตรียม “ปิดอ่าวตัว ก” ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.- 31 ก.ค. 59  เป็นปีสุดท้าย

26 พ.ค. 2559 | 06:11 น.
กรมประมง เตรียมประกาศปิดอ่าวไทยตอนใน หรือ อ่าวไทยรูปตัว ก ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี  รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 4,940.55 ตารางกิโลเมตร มีระยะเวลาปิดอ่าวตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 31 กรกฎาคม ของทุกปี โดยประกาศดังกล่าว มีผลบังคับใช้ปีนี้เป็นปีสุดท้าย ซึ่งต่อจากนี้จะนำผลศึกษาทางวิชาการทั้งข้อดีข้อเสียทั้งในเรื่องของทรัพยากร เศรษฐกิจ และสังคม มาวิเคราะห์เพื่อวางแนวทางในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำอ่าวตัว ก. โดยเมื่อปีที่ผ่านมาชาวประมงสามารถจับปลาทูได้มากขึ้นและใหญ่กว่าเดิม

นายอดิศร  พร้อมเทพ  อธิบดีกรมประมง  เปิดเผยว่า ในอดีตอ่าวไทยตอนใน หรือ อ่าวไทยรูปตัว ก เป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรประมงอุดมสมบูรณ์มาก เนื่องจากมีแม่น้ำ 5 สาย ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และเพชรบุรี ไหลลงสู่อ่าวไทยรูปตัว ก โดยแม่น้ำเหล่านี้จะพัดพาสารอาหารลงสู่อ่าวไทย อีกทั้งบริเวณอ่าวไทยรูปตัวก ยังมีป่าชายเลนที่เป็นแหล่งวางไข่ และแหล่งเลี้ยงตัวในวัยอ่อนของสัตว์น้ำหลายชนิด โดยเฉพาะปลาทู   ซึ่งเป็นทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีคุณค่าและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ปัจจุบันนี้ กลับพบว่าในบริเวณดังกล่าว มีการทำประมงกันอย่างหนาแน่น เครื่องมือประมงที่ใช้มีหลายประเภท ทั้งเครื่องมือประมงขนาดใหญ่และเครื่องมือประมงพื้นบ้าน อีกทั้ง มีการพัฒนาและดัดแปลงเครื่องมือทำการประมงบางประเภทให้มีประสิทธิภาพในการจับพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำ และสัตว์น้ำวัยอ่อนจำนวนมาก จนธรรมชาติไม่สามารถทดแทนได้ทัน(overfishing)  ส่งผลให้ประชากรสัตว์น้ำลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ทำให้กลุ่มชาวประมงในพื้นที่มีความห่วงใย  ในสภาวะความเสื่อมโทรมของทรัพยากรจึงได้นำเสนอแนวคิดการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงในพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว กเสนอต่อกรมประมง เพื่อให้รวบรวมข้อมูลข้อสรุปทางวิชาการทั้งด้านชีววิทยาของสัตว์น้ำ แนวทางการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืนและการออกมาตรการปิดอ่าวตัว ก เพื่อแก้ไขปัญหา และป้องกันมิให้พ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำ และสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกจับมากเกินควร และเพื่อให้สัตว์น้ำมีความอุดมสมบูรณ์ สามารถใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนถาวรตลอดไป  ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาวิจัยของกรมประมง พบว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน  พบปลาทูมีความยาวเฉลี่ย 12.8 เซนติเมตร  ซึ่งเป็นปลาทูขนาดเล็ก ไม่สามารถวางไข่ได้ หากปล่อยปลาทูเจริญเติบโตต่อไปอีก 2 เดือน จะมีความยาว เฉลี่ย 15.8 เซนติเมตร หรือเรียกว่าปลาทูสาว สามารถวางไข่ได้ และจากการประมาณมูลค่าปลาทูในพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก ก่อนที่จะมีการปิดอ่าว พบมีมูลค่า 93.6 ล้านบาท หากมีการปิดอ่าว 2 เดือน มูลค่าปลาทูจะเพิ่มขึ้นเป็น 391.9 ล้านบาท สัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน จะมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นหลังจากเปิดอ่าว

ดังนั้น เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2556 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32(1) (2) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 ออกประกาศกระทรวงฯ เรื่อง    ห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิด ในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ในระยะเวลาที่กำหนด ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน - 31 กรกฎาคมของทุกปี โดยมีผลบังคับใช้ 3 ปี  (พ.ศ.2557 – 2559) รวมทั้ง รายละเอียดการบังคับใช้ตาม  พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ดังนี้

สำหรับเครื่องมือทำการประมงที่ห้ามตามประกาศฉบับนี้ ได้แก่  1.เครื่องมืออวนล้อมจับที่ใช้ประกอบกับเรือกล 2.เครื่องมืออวนลากที่ใช้ประกอบกับเรือกล 3.เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อนหรืออวนยก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทำการประมงปลากะตัก  4.เครื่องมืออวนติดตาที่ใช้ประกอบเรือกล ล้อมติดปลาทู  5.เครื่องมืออวนติดตาปลาทูที่ใช้ประกอบกับเรือกล

ส่วนเครื่องมือทำการประมงที่ยกเว้นตามประกาศฉบับนี้ ได้แก่ 1.เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ ที่ใช้ประกอบกับเรือกลลำเดียวความยาวเรือไม่เกิน 14 เมตร ทำการประมงได้เฉพาะในเวลากลางคืน (เวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น) 2.เครื่องมืออวนติดตาปลาทู ที่มีขนาดช่องตาไม่ต่ำกว่า 3.8 เซนติเมตร ความยาวอวนไม่เกิน 2,000 เมตร ที่ใช้กับเรือกลความยาวเรือไม่เกิน 10 เมตร 3.เครื่องมืออื่นๆ ที่ไม่ระบุห้ามตามประกาศนี้และประกาศอื่นๆ รวมทั้งการทำประมงเพื่อการศึกษา วิจัย หรือทดลองทางวิชาการซึ่งกระทำโดยทางราชการและได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมง

ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืนมาตรการปิดอ่าว ตัว ก. จะมีความผิดทั้งทางอาญาและตามมาตรการทางปกครอง ตาม พ.ร.ก.ประมง พ.ศ. 2558

อธิบดีกรมประมง กล่าวต่อไปว่า กรมประมงหวังว่าการประกาศใช้มาตรการปิดอ่าวตัว ก จะส่งผลให้สัตว์น้ำขนาดเล็กสามารถเจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์ ส่งผลให้มีมูลค่ากลับคืนสู่ชาวประมงเพิ่มขึ้น ดังยืนยันได้จากข้อมูลการสำรวจการจับปลาทูในช่วงก่อนและหลังมาตรการปิดอ่าวไทยรูปตัว ก เมื่อปีที่แล้ว ว่าขนาดปลาทูก่อนปิดอ่าว ตัว ก. เป็นปลาทูไซส์เล็กถึงร้อยละ 16 และหลังมาตรการ พบจำนวนปลาทูไซส์เล็กลดลงเหลือเพียงร้อยละ 2.7 ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการประกาศใช้มาตรการปิดอ่าวตัว ก ในการปกป้องสัตว์น้ำขนาดเล็กและสัตว์น้ำวัยอ่อนที่อพยพเข้ามาอาศัยในพื้นที่ให้เติบโตจนมีขนาดใหญ่ขึ้น  ประกอบกับพบว่าชาวประมงพื้นบ้านสามารถจับปลาทูได้เพิ่มจากก่อนมาตรการ 130 กิโลกรัม/วัน และหลังมาตรการจับได้ 205.5 กิโลกรัม/วัน อีกทั้ง ขนาดที่จับได้ก็ใหญ่กว่าขนาดแรกเริ่มสืบพันธุ์มากกว่า 80 %  อีกทั้ง ยังพบว่าสัตว์น้ำอื่นๆ อาทิ ปลาเห็ดโคน ปูม้า ที่ชาวประมงจับได้ในรอบ 2 เดือนหลังจากมาตรการปิดอ่าวตัว ก มีขนาดใหญ่และมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาก และที่น่าสนใจ คือ จากการสำรวจด้วยเรือสำรวจประมง 2.. ก่อนมาตรการ ในพื้นที่อ่าวไทยตอนใน ไม่พบ กุ้งแชบ๊วย และ กุ้งโอคัก แต่พอหลังจากปิดอ่าวตัว ก ไปแล้ว พบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นสูงถึง 2 – 4 เท่า

จึงแสดงให้เห็นว่ามาตรการปิดอ่าวตัว ก สามารถช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างมากและก่อให้เกิดความยั่งยืน และในปีนี้ กรมประมง ได้กำหนดจัดพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อคุ้มครองสัตว์น้ำวัยอ่อนพื้นที่อ่าวไทยตอนใน (อ่าวรูปตัว ก) ประจำปี 2559 ในวันอังคารที่ 31 พฤษภาคม 2559 ณ ท่าเทียบเรือองค์การสะพานปลา ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ  ดังนั้น จึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวประมง ร่วมกิจกรรมงานในครั้งนี้ และขอความร่วมมือจากพี่น้องชาวประมงทุกท่านโปรดปฏิบัติตามกฎระเบียบ และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ด้วย ทั้งนี้ มิใช่เพื่อประโยชน์ของคนหนึ่งคนใด แต่เป็นประโยชน์ของพวกเราและลูกหลานของเราทุกคนที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืนตลอดไป